เผยแพร่ |
---|
“แตงร้าน” เป็นหนึ่งในพืชตระกูลแตงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และได้รับความนิยมบริโภคทั่วโลก โดยในประเทศไทยนั้นมีแหล่งผลิตกระจายอยู่ทั่วทุกภาค แต่ละปีนั้นมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 10,000 ไร่ และบางปีอาจสูงถึง 20,000 ไร่ ตามราคาผลผลิตที่สูงขึ้น (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระหว่างปี 2557-2562) นอกจากนี้ อีกจุดเด่นหนึ่งคือเป็นพืชใช้น้ำน้อย อายุสั้น ให้ผลผลิตเร็ว เกษตรกรจึงนิยมปลูกเป็นพืชเสริมในช่วงฤดูแล้ง หรือระหว่างฤดูการผลิตพืชชนิดอื่น สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ทุกวัน
คุณสุพัฒน์ พรมประสิทธิ์ วัย 30 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านวังหัวแหวน ต.วังหามแห อ.ขาณุวรลักษณบุรี จ.กำแพงเพชร เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกแตงร้านเสริมกับพืชไร่อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ โดยเมื่อปลูกมาได้สักระยะ รายได้จากพืชเสริมชนิดนี้เริ่มแซงพืชหลัก ทั้งยังสามารถทำเงินได้ไว สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะสั้นเพียง 35-38 วัน ใน 1 ปีสามารถปลูกได้ 3-4 รอบ ต่างจากพืชไร่ที่ปลูกได้เพียงปีละรอบ คุณสุพัฒน์ จึงหันมายึดการปลูกแตงร้านเป็นอาชีพเต็มตัวกว่า 10 ปี บนพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 15 ไร่
กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณสุพัฒน์ ผ่านการลองผิดลองถูกมาไม่น้อย ลองมาแกะรอยความสำเร็จของเกษตรกรหนุ่มคนนี้กัน
เลือกสายพันธุ์เหมาะสม
ปัจจัยช่วยให้มีตลาดรองรับ-คุ้มค่าต้นทุน
คุณสุพัฒน์ เล่าว่าตนเองนั้นเคยทดลองปลูกแตงร้านมาแล้วหลายสายพันธุ์ด้วยกัน จนมาลงตัวที่พันธุ์ “เขียวอมตะ 2” เนื่องจากมีลักษณะตรงตามที่ตลาดต้องการคือ ผลทรงกระบอก ความยาวผลประมาณ 18-22 เซนติเมตร ผิวสีเขียวนวลสม่ำเสมอ เนื้อหนา ก้นไม่เหลือง และทนทานต่อการขนส่ง
แต่นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว คุณสุพัฒน์ บอกว่าอีกปัจจัยที่ควรคำนึงถึงคือเรื่อง “คุณภาพของเมล็ดพันธุ์” ต้องมีความทนทานต่อโรค-สภาพอากาศ และอัตราการงอกสูง เพราะหากต้นอ่อนแอเป็นโรคก็ต้องถอนทิ้ง หรือถ้าเมล็ดไม่งอก ก็ต้องปลูกซ่อม ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลต่อต้นทุนโดยตรง เกษตรกรจึงต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งแตงร้านพันธุ์ “เขียวอมตะ 2” นั้นตอบโจทย์ทั้งในแง่ของการตลาดและในมุมของเกษตรกร
“เตรียมแปลง-ตากดิน” จุดเริ่มต้นสำคัญ
ช่วยลดโรค-เติมธาตุอาหารเตรียมความพร้อมให้พืช
การเตรียมดินให้ถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้พืชผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการลดปัญหาจากศัตรูพืช และโรคทางดิน อย่าง “โรคเหี่ยว” ซึ่งเป็นโรคสำคัญของพืชตระกูลแตง ลักษณะอาการของโรคนี้คือ ใบจะเริ่มเหี่ยวจากแขนงใดแขนงหนึ่งก่อน แล้วจะแห้งตายหมดทั้งเถาในเวลาต่อมา มีสาเหตุเกิดได้ทั้งจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในดิน
ก่อนปลูกแตงร้าน คุณสุพัฒน์ จึงต้องตรียมแปลงด้วยการ “ไถดะ” พร้อมตากดินไว้อย่างน้อย
7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช โรค-แมลงที่อาศัยอยู่ในดิน จากนั้นตามด้วยการ “ไถแปร” อีกประมาณ 2 รอบ เพื่อเตรียมดินให้มีเนื้อละเอียดร่วนซุยเหมาะแก่การปลูกพืช
โดยระหว่างไถแปรรอบแรก คุณสุพัฒน์ จะใช้ปุ๋ยชีวภาพ และร่วมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 ในอัตราส่วน 1:1 คือ 25 กก./ไร่ โรยรองพื้นไปตามแนวรอยไถ จากนั้นเมื่อไถแปรรอบต่อมา ใบผานของรถไถก็จะช่วยคลุกเคล้าปุ๋ยไปกับเนื้อดิน ช่วยให้ได้ดินที่มีคุณภาพ เตรียมพร้อมสำหรับการลงเมล็ด
คุณสุพัฒน์ เผยว่า ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 นั้น จะช่วยกระตุ้นให้เมล็ดแตงร้านงอกได้เร็ว และเจริญเติบโตได้ดีในระยะแรก เมื่อใช้ควบคู่กับปุ๋ยชีวภาพที่ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย จะยิ่งช่วยให้รากดูดซึมธาตุอาหารได้ดีขึ้น
วางระบบน้ำหยด ได้ผลตรงจุด
ช่วยประหยัดทั้งน้ำและเวลา
หลังจากการปรับปรุงดินและการเตรียมดินอย่างถูกวิธีแล้ว จะเริ่มคราดและยกร่องแปลงปลูก โดยความสูงของแปลงนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะดินของแต่ละพื้นที่ กรณีพื้นที่ของคุณสุพัฒน์ นั้นเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องยกร่องสูงมาก เพราะหากสูงเกินเวลาให้น้ำๆ จะไหลทิ้งโดยที่พืชยังไม่ทันได้ดูดซึม
เมื่อยกร่องเสร็จ ต่อมาจะวางสายน้ำหยด (ท่อ PE) ไปตามแนวร่อง แล้วคลุมพลาสติกเพื่อป้องกันวัชพืช โดยใช้ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม ประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งคุณสุพัฒน์บอกว่าเป็นระยะห่างที่กำลังดี แขนงไม่แน่นจนเกินไป หากแน่นเกินจะทำให้แสงส่องไม่ถึง ทำให้ผลเล็ก และเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากเชื้อรา
คุณสุพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า การใช้ระบบน้ำหยดนั้นเหมาะกับแตงร้านซึ่งเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง โดยน้ำจะค่อยๆ หยดซึมลงมาที่บริเวณรากของต้นพืชอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ ช่วยให้ดินมีความชื้นคงที่ ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน
อย่างไรก็ตาม การให้น้ำในระบบน้ำหยดมีข้อควรระวังคือ ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำช่วงสาย หรือช่วงที่แดดเริ่มแรง เนื่องจากน้ำที่ค้างอยู่ในท่ออาจร้อน ทำให้แตงร้านเฉาได้
ทำค้างแบบ “กระโจม”
รับน้ำหนักได้ดี เก็บเกี่ยวสะดวก
สำหรับพืชเถาเลื้อยอย่างแตงร้าน “ค้าง” เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คุณสุพัฒน์ แนะนำว่า หลังจากหยอดเมล็ดเรียบร้อยแล้ว ควรปักค้างตามทันที เพื่อให้ทันกับเวลาที่แตงร้านเริ่มมีหนวดเลื้อยและหาที่เกาะ (ระยะเวลาประมาณ 7 วัน หลังหยอดเมล็ด) เพราะหากเกษตรกรปักค้างไม่ทัน แล้วจับเครือมาเกาะภายหลัง จะทำให้โคนต้นหลวมได้
ส่วนรูปแบบของค้าง คุณสุพัฒน์ เลือกใช้เป็นแบบ “กระโจม” หรือแบบ “ตัวเอ” เนื่องจากมีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักแตงร้านได้ดี นอกจากนี้ ยังช่วยให้เก็บเกี่ยวได้สะดวก เพราะผลแตงร้านส่วนใหญ่จะทิ้งตัวอยู่ด้านในกระโจม เมื่อเกษตรกรลอดใต้ซุ้มกระโจมเพื่อเก็บผลผลิต เครือของแตงร้านจะช่วยพรางแดดได้
“ช่างสังเกต-หมั่นเติมธาตุอาหาร”
หลักสำคัญช่วยแตงร้านผลดก-ได้เบอร์เอ
วงจรของแตงร้านตั้งแต่หยอดเมล็ดจนถึง “ระยะติดดอก-เริ่มเห็นผลเล็ก” จะอยู่ที่ประมาณ 20-25 วัน ต่อมาผลจะค่อยๆ โตจนสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 35-38 วัน และสามารถเก็บผลผลิตต่อเนื่องได้อีกราว 20-25 มีด (ครั้ง) จากนั้นต้นจะเริ่มแก่ เกษตรกรจะถอนทิ้งเพื่อเตรียมแปลงปลูกรอบใหม่
เห็นช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้ แต่คุณสุพัฒน์ บอกว่า กว่าจะได้แตงร้านคุณภาพ ผลทรงกระบอก ผิวสีเขียวนวล หรือที่ตลาดเรียกว่า “เบอร์เอ” นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจอย่างมาก โดยปัจจัยสำคัญนั้นอยู่ที่ “น้ำ” และ “การบำรุงเพิ่มธาตุอาหาร” ที่เพียงพอ
สำหรับวิธีการบำรุงเพิ่มธาตุอาหารนั้น คุณสุพัฒน์ ใช้วิธีประยุกต์ให้ปุ๋ยผ่านระบบสายน้ำหยด สามารถให้ทั้งปุ๋ยและน้ำไปพร้อมกัน ได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ ช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารโดยตรงและประหยัดเวลา ดังนั้น ข้อสำคัญของการให้ปุ๋ยวิธีนี้คือ “ต้องเลือกใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ สามารถละลายน้ำได้ดี” เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารครบถ้วน และไม่ให้เกิดกากปุ๋ยอุดตันในระบบท่อน้ำ
ด้านระยะการให้ปุ๋ยทางระบบน้ำหยด จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลักคือ ระยะหลังย้ายปลูก, ระยะติดดอก-เริ่มเห็นผลเล็ก และระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต
– ระยะหลังย้ายปลูก หรือ อายุประมาณ 7 วัน (เริ่มแตกใบอ่อน 2-3 ใบ) จะเริ่มให้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0 (ยูเรีย) ร่วมกับปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 15-15-15 ในอัตราผสม 1:3 คือ สูตร 46-0-0 จำนวน 1 กก. ต่อ สูตร 15-15-15 จำนวน 3 กก. เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นและใบให้เขียว ความถี่ทุก 2 วัน/ครั้ง จำนวน 2 รอบ
– ระยะติดดอก-เริ่มเห็นผลเล็ก หรืออายุประมาณ 20 วัน จะเริ่มเพิ่มปริมาณปุ๋ยและน้ำขึ้น โดยให้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร16-16-16 บลู ปริมาณ 3 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร/ไร่ ความถี่วันเว้นวัน วันละ 2 ครั้ง ผ่านระบบน้ำหยดในช่วงเช้าและช่วงบ่ายที่แดดไม่แรงมาก ช่วยเพิ่มอัตราการติดผล ทำให้ผลดก และเพิ่มขนาดของผล
– ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือตั้งแต่แตงร้านอายุ 35 วันเป็นต้นไป ถือว่าเป็นอีกช่วงที่สำคัญ เกษตรกรต้องคอยดูแลให้แตงร้านได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอตลอดอายุการเก็บเกี่ยว จนเมื่อแตงร้านเริ่มแก่ หรือประมาณมีดที่ 20 จึงจะหยุดการบำรุง
โดยในระยะนี้ คุณสุพัฒน์ จะปรับปริมาณการให้ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-16-16 บลู ตามความสมบูรณ์ของต้นและผลเป็นหลัก โดยยึดปริมาณคร่าวๆ ที่จำนวน 3 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร/ไร่ ความถี่วันเว้นวัน วันละ 2 ครั้ง แต่หากช่วงไหนผลแตงร้านเริ่มคด หรือมีผิวกร้าน จะต้องเร่งบำรุงเป็นพิเศษ สิ่งเหล่านี้เกษตรกรต้องมีความละเอียดและใส่ใจอยู่เสมอ
“เราต้องหมั่นสังเกต…เพราะแตงร้านเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว ในทุกๆ วันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผลที่โตขึ้น หากพบว่าผลที่ได้เหี่ยว งอ หรือมีผิวกร้าน แสดงว่าปุ๋ยและน้ำที่ให้ไปไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ของแตงร้าน ดังนั้นในช่วงติดดอกและติดผลผลิตแล้ว ควรค่อยๆ เพิ่มอัตราการให้ปุ๋ยผสมน้ำอย่างเหมาะสม”
“สมมติว่าเราเห็นแตงร้านลูกเล็ก แล้วใส่ปุ๋ยลงไป ขนาดของแตงร้านจะใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยอดเครือก็จะเดินดีกว่ากันมาก แต่หากเราใส่ปุ๋ยในปริมาณไม่เพียงพอ หรือเว้นช่วงการใส่ปุ๋ยไป จะส่งผลให้แตงร้านฝ่อ เป็นลูกข้องอ ถือเป็นความแตกต่างระหว่างแตงร้านที่ผ่านการบำรุงและไม่บำรุงอย่างชัดเจน” คุณสุพัฒน์ เผยประสบการณ์ให้ฟัง
เก็บผลผลิตได้ทุกวัน
สร้างรายได้หมุนเวียน
ภาพรวมของราคารับซื้อแตงร้านนั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ และมีความผันผวนเช่นเดียวกับพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ แต่คุณสุพัฒน์ มองว่าจุดแข็งของแตงร้านคือ เป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกสั้น “สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน” ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน และเปรียบเสมือนการกระจายความเสี่ยง เพราะเกษตรกรไม่ต้องรอลุ้นกับรายได้รายปีรอบเดียวเหมือนการปลูกพืชอีกหลายชนิด
คุณสุพัฒน์ เผยว่า ช่วงราคาแตงร้านจะอยู่ที่ราว 5 -14 บาท/กิโลกรัม ซึ่งในมุมของตนเองนั้น หากขายได้ราคา 6-7 บาท/กิโลกรัม ก็สามารถอยู่ได้สบายแล้ว โดยเฉพาะถ้าทำแตงร้านได้ “เบอร์เอ” เป็นสัดส่วนที่มาก ก็จะมีผู้รับซื้อเจ้าประจำ หมดปัญหาเรื่องไม่มีตลาดรองรับ
การปลูกพืชระยะสั้นอย่าง “แตงร้าน” ถือเป็นทางเลือกให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างรายได้เสริม สามารถทดลองทำตามได้บนพื้นที่ไม่มากนัก และหากเลือกปลูกสายพันธุ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด และได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจเปลี่ยนจากพืชปลูกเสริม กลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้แบบคาดไม่ถึง
คุณสุพัฒน์ ถือเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่หมั่นปรับตัวและมองหาทางเลือกใหม่อยู่เสมอ จนสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างน่าชื่นชม