มทร.ศรีวิชัย เดินหน้าหนุนเกษตรกร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ วิสาหกิจชุมชนจังหวัดปัตตานี ส่งมอบเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและเครื่องอัดแท่งผลไม้กวน

ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วยคณะทำงาน เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตอาชีพผลไม้กวนของชุมชนด้วยนวัตกรรมเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและเครื่องอัดแท่งผลไม้กวน เป็นการสร้างรายได้และลดรายจ่ายค่าครองชีพในภาคครัวเรือน เป็นการขยายกลุ่มอาชีพให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริม ให้ความรู้การกวนผลไม้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรน้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ และวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลกระโดตำบลวัด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในการถนอมอาหารสามารถทำได้หลายวิธี เป็นการช่วยบรรเทาความขาดแคลนอาหารช่วยให้เกิดการกระจายอาหาร ช่วยให้มีอาหารบริโภคนอกฤดูกาลใช้อาหารเหลือให้เกิดประโยชน์ ช่วยยืดเวลาการเก็บรักษาอาหารไว้ให้ได้นาน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดแต่ผลผลิตจะมีคุณภาพที่ดีได้นั้นย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ดีด้วย สำหรับเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและเครื่องอัดแท่งผลไม้กวน สามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้เพราะเมื่อนำผลไม้ที่กวนแล้วมาเข้าเครื่องเพื่ออัดเป็นแท่งก็จะทำให้ยืดระยะเวลาในการเก็บรักษา และยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากยิ่งขึ้น

เครื่องที่ส่งมอบ

ลักษณะของเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ จะแบ่งเป็นชุดควบคุมการหมุนกวนเนื้อผลไม้ และชุดควบคุมอุณหภูมิการกวนเนื้อผลไม้ จะควบคุมด้วยกล่องควบคุมการเปิดปิดแก๊ส การติดตั้งเตาแก๊สเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ จะใช้เป็นเตาแก๊สสำหรับทำขนม ด้วยหัวเตาที่ใหญ่และการให้ไฟสม่ำเสมอ ทำให้ขนมสุกพร้อมกัน เครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติมีขนาด 800x350x1,300 มิลลิเมตร ชุดหมุนกวนใช้มอเตอร์เกียร์สามารถปรับการหมุนให้มีความสามารถหมุนได้ 0-100 รอบ ต่อนาที กวนผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่า 15 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง โดยปรับตั้งอุณหภูมิและเวลาของการกวนได้

ลักษณะของเครื่องอัดแท่งผลไม้กวนมีขนาด 400x850x750 มิลลิเมตร ชุดอัดแท่งเนื้อผลไม้กวน ใช้วัสดุเหล็กกล้าไร้สนิม ระบบการอัดแท่งผลไม้กวนใช้มอเตอร์เกียร์ ด้วยความเร็ว 1,450 รอบ ต่อนาที และสามารถปรับขนาด และรูปทรงที่จะอัดแท่งได้ เครื่องอัดแท่งผลไม้กวน สามารถอัดผลไม้ได้ไม่ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง

ใช้งานง่าย

สำหรับการส่งต่อเครื่องกวนผลไม้ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติและเครื่องอัดแท่งผลไม้กวนในครั้งนี้ ยังมีการฝึกอบรมการใช้งานเครื่องดังกล่าว รวมถึงวิธีการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงเบื้องต้นให้กับเกษตรกรอีกด้วย และทางคณะผู้จัดทำจะมีการติดตามผลการใช้งานผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้การใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โทรศัพท์ (081) 569-7303