เที่ยวหนองคาย-บึงกาฬ ชมหินสามวาฬ-สำราญวิถีชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ ร่วมกับทางคณะของกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำโดย คุณทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประธานการประชุมคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และการรับคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของจังหวัดบึงกาฬและหนองคาย ทำให้ได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของทั้งสองจังหวัด 

ความสวยงามของวิวแม่น้ำโขง ณ บ้านสะง้อ

เริ่มจากท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย หมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากจังหวัดหนองคาย 20 กว่ากิโลเมตร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมี คุณสมจิต        จันทำมา ประธานท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อและคณะกรรมการได้ต้อนรับคณะ และให้ข้อมูลหมู่บ้านว่า สมัยก่อนชาวบ้านเดื่อมีอาชีพทำการประมงและปลูกพืชผักแบบขั้นบันไดตามริมฝั่งโขง เกษตรกรรม  ปลูกผักริมโขง ต่อมาชุมชนได้รับการสนับสนุนจากโครงการประชารัฐและสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย เข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทำให้คนในชุมชนได้รวมตัวกันขึ้น จนกลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านเดื่อ” ใน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา

จุดเหนือสุดในอีสานบ้านสะง้อ

สำหรับกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเมื่อไปเยือนที่นี่คือ การสักการบูชาหลวงพ่อทันใจ, ทำกระทงดอกไม้ พับนกใบตาล เยี่ยมชมและให้อาหารปลานิลกระชังน้ำโขง, ทำอาหารเมนู “เมี่ยงมะเดื่อปลานิลทอด”, รับประทานอาหาร “เมี่ยงมะเดื่อปลานิลทอด” และช็อปปิ้งผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ซึ่งทุกกิจกรรมนั้นมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแบบดั้งเดิม เช่น เมนูเมี่ยงปลานิล ก็เกิดจากการที่ในหมู่บ้านมีการเลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง ซึ่งเลี้ยงในน้ำไหล ทำให้ปลามีเนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นโคลน ไขมันน้อย รสชาติดี ซึ่งในอนาคตหน่วยงานในพื้นที่จะศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

รถนำเที่ยวหมู่บ้าน หมู่บ้านโอท็อปวิลเลจสะง้อ

ในพื้นที่บ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย มีกระชังปลานิล 215 กระชัง เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล 25 ราย  ปริมาณ 38 ตัน ต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวมกว่าปีละ 2 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปขายในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุดรธานี สกลนคร หนองบัวลำภู เหลือไว้บริโภคในจังหวัดแค่ 10% เท่านั้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายปลากระชัง นอกจากเกษตรกรจะทำตลาดเองแล้วทางพาณิชย์จังหวัดก็ได้เพิ่มช่องทางการตลาดผ่านเพจ “ของดีมีให้ช้อป@หนองคาย by พาณิชย์” ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้ซื้อและผู้ขายในพื้นที่จังหวัดหนองคายได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการได้มากขึ้น

วิวจากหินสามวาฬตัวแม่

อย่างไรก็ตาม หากนักท่องเที่ยวต้องการจะไปเยือนชุมชนบ้านเดื่อแห่งนี้ เพื่อความสะดวกของผู้มาเยือน โดยเฉพาะหากมาเป็นคณะใหญ่ทางชุมชนอยากให้โทรศัพท์มานัดวันเวลา เพื่อทางชุมชนจะได้เตรียมการต้อนรับคณะอย่างทั่วถึง โดยสามารถติดต่อ คุณขนิษฐา จันทำมา ประชาสัมพันธ์ ท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ หมายเลขโทรศัพท์ 086-953-9997 หรือติดต่อ เฟซบุ๊ก ท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย, ไอดีไลน์ แอด 086-953-9997 และ www.ชุมชนบ้านเดื่อจังหวัดหนองคาย.com

รวมทั้งยังได้เยือนหมู่บ้านโอท็อป วิลเลจ บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มตามแนวแม่น้ำโขง ถ้ามองจากภาพถ่ายทางอากาศจะมีลักษณะคล้ายเกาะขนาดเล็กติดกับแม่น้ำโขง เนื่องจากมี “หนองปลาดุก” เป็นอีกแหล่งน้ำทางธรรมชาติ อยู่ระหว่างบ้านสะง้อ กับบ้านไทยเจริญ และมีลำห้วยสองสายคือ “ห้วยตาบอด” อยู่ระหว่างบ้านสะง้อกับบ้านหอคำเหนือ อีกสายคือ “ห้วยเหนือ” อยู่ระหว่างบ้านสะง้อกับบ้านโนนยาง

ส้างร้อยบ่อบนภูสิงห์

มีประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษตามฮีตสิบสองคลองสิบสี่และที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่โดดเด่นหลายที่ มีทั้งศาสนสถานและจุดชมวิว “เหนือที่สุดแดนอีสาน” เป็นจุดที่อยู่เหนือที่สุดของภาคอีสาน โดยการจับพิกัดละติจูด ลองจิจูด และตามแผนที่ประเทศไทย เป็นจุดชมวิวที่มีความแตกต่างในแต่ละวัน รวมทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกพร้อมกันกับพระจันทร์ขึ้น ที่นี่มีโฮมสเตย์ให้พักในหมู่บ้านและบริการนำเที่ยวโดยไกด์ของหมู่บ้าน ติดต่อสอบถามได้ที่ เที่ยวม๊ะสะง้อ จังหวัดบึงกาฬ

โชว์กรรมวิธีหมักโคลน

นอกจากจะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ที่นี่ยังมีสินค้าเด่นรอให้นักท่องเที่ยวไปช้อปปิ้งก็คือ ผ้าหมักโคลนดารานาคี ของ คุณสมพร แสงกองมี บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งผ้าหมักโคลนบึงกาฬถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำดินโคลนจากธรรมชาติมาสร้างมูลค่า โดยการนำโคลนจากริมแม่น้ำโขงมาหมักกับผ้าฝ้ายด้วยกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม ทำให้ผ้ามีสีต่างๆ เช่น เทาเข้ม น้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน น้ำเงิน เป็นต้น สีไม่ตก มีผิวสัมผัสนุ่ม มันวาว และมีกลิ่นหอมละมุนของไอดิน เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชาวบึงกาฬ

ผลิตภัณฑ์ผ้าหมักโคลน

สำหรับพื้นที่ผลิตผ้าฝ้ายหมักโคลนของบึงกาฬครอบคลุม 8 อำเภอ คือ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอศรีวิไล อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบึงโขงโหลง อำเภอบุ่งคล้า อำเภอปากคาด อำเภอเซกา และอำเภอพรเจริญ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ผลิต จำหน่ายเด่นๆ ของบึงกาฬอีก เช่น ผ้าฝ้ายใบทอง ของแม่แถม ศรีวิชัย ตำบลป่าแฝก อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ โดยทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ หากสนใจจะไปเยี่ยมชมและช้อปปิ้งสินค้าของกลุ่ม ก็ติดต่อได้ที่ เพจ ผ้าฝ้ายใบทอง ของแม่แถม ศรีวิชัย และกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าขาวม้าหมักโคลนดารานาคี

เมี่ยงปลานิลบ้านเดื่อ

ขอบอกไว้ก่อนว่า ที่นี่ฝีมือการออกแบบลวดลายไม่ธรรมดา เพราะผู้นำกลุ่มผลิตผ้าหมักโคลนแม้จะวัยล่วงเลยไปกว่า 70 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังติดตามข่าวสาร เทรนด์ของแฟชั่นโลก ทำให้สีสัน ลวดลาย และการออกแบบชุดต่างๆ ออกมาดูทันสมัย ใส่แล้วไม่มีเชยแต่อย่างใด เพราะลูกค้าส่วนหนึ่งก็คือ คนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 30 ปี

นอกจากนี้ ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นผ้าผืนแล้ว ยังผลิตเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ชุดสำเร็จรูป กระโปรง เสื้อ กางเกง กระเป๋า ที่ผลิตแทบไม่ทัน เพราะทำมือแทบทุกขั้นตอน ทั้งการเก็บฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้ายก่อนจะนำมาทอเป็นผ้าผืนและย้อมตามขั้นตอนแบบดั้งเดิม ซึ่งสีที่ได้มาล้วนเป็นสีจากธรรมชาติ ซึ่งผู้ก่อตั้งกลุ่มทั้งสองแห่งต่างเห็นคุณค่าของการนำผ้าหมักโคลนของจังหวัดขึ้นทะเบียนจีไอ เพราะเป็นการสร้างมูลค่าให้กับสินค้านอกเหนือจากการเป็นสินค้าโอท็อป ระดับ 5 ดาว

นอกจากนี้ จากการระบาดของโควิด-19 ทางกลุ่มผู้ผลิตผ้าหมักโคลนก็ได้นำผ้าหมักโคลนมาตัดเย็บเป็นหน้ากากจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย เรียกได้ว่าปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยกันสุดๆ

บรรยากาศกินเมี่ยงปลานิลริมโขงบ้านเดื่อ

ส่วนอีกที่ที่นักท่องเที่ยวสายลุยไม่ควรพลาด ก็คือ “หินสามวาฬ” หินเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 75 ล้านปี เป็นสถานที่สุดอันซีนทางธรรมชาติของจังหวัดบึงกาฬ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ และป่าดงสีชมพู ตำบลนาสิงห์ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ที่นี่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและกลุ่มก้อนหินรูปทรงต่างๆ หน้าผาและถ้ำ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ รวมไปถึง “หินสามวาฬ” ซึ่งสาเหตุที่ได้ชื่อว่าหินสามวาฬนั้นเพราะเป็นหินขนาดใหญ่ แยกตัวเป็น 3 ก้อน ยื่นออกจากหน้าผาสูง เมื่อมองจากมุมสูงจะมีลักษณะเหมือนวาฬสามตัวขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จนมีการตั้งชื่อว่าเป็นวาฬ พ่อ แม่ ลูก ว่ายน้ำเคียงคู่กันไปท่ามกลางความเขียวขจีของป่าไม้ที่อยู่เบื้องล่าง

วิวมุมสูงภูทอก

โดยคณะเรานั้นหลังจากนั่งหัวสั่นหัวคลอนในรถกระบะของอุทยานฯ มาได้สัก 40 นาที ก็มาถึงหินสามวาฬในช่วงเวลาบ่ายสี่โมงเย็น ด้วยรถกระบะของเขตป่าสงวนฯ คันละ 500 บาท (ไป-กลับ) คันหนึ่งจุได้ 10 คน แต่ที่นี่หากใครมีเวลาควรมาชมความสวยงามในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า แต่เนื่องจากคณะเราติดภารกิจหลายอย่าง จึงปรับเวลาเป็นตอนเย็น ซึ่งเมื่อขึ้นมาข้างบน สำหรับจุดท่องเที่ยวนอกจากหินสามวาฬแล้ว ยังมี ลานธรรมภูสิงห์, หินหัวช้าง, ประตูภูสิงห์, ส้างร้อยบ่อ ซึ่งแต่ละจุดนั้นมีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้หมด จึงอยากให้ผู้อ่านได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเองสักครั้ง ส่วนวิธีการขึ้นไปชม เขตพื้นที่อนุรักษ์ฯ นั้น ติดต่อสอบถามโทรศัพท์ 091-060-0231 ที่นี่เปิดให้บริการ ตั้งแต่ 05.30-17.00 น.

โชว์ปลากระชังบ้านเดื่อ

รุ่งเช้าวันต่อมา คณะเราก็ตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไป “ภูทอก” ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) ในภาษาอีสาน แปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว ห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ ประมาณ 40 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านคำแคน หมู่ที่ 6 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ต่อมาได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียรให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม โดยก่อนที่ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ จะละสังขาร ได้รวบรวมแรงศรัทธานำพาเหล่าลูกศิษย์และชาวบ้านช่วยกันสร้างบันไดไม้วนรอบภูเขาแห่งนี้ สูงถึง 7 ชั้น โดยเชื่อกันว่าเป็นบันไดไปสู่สวรรค์ และนิพพาน ดังนั้น นักท่องเที่ยวหากมีเวลาพอ สุขภาพพร้อม บวกกับแรงศรัทธาก็จะเดินขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดของภูทอก เพราะแม้ว่าจะต้องใช้ความอดทนอย่างมากกับการก้าวขึ้นไปแต่ละขั้นของบันได แต่เมื่อเห็นวิวข้างบนแบบ 360 องศา ก็เชื่อว่าจะลืมความเหนื่อยล้าไปได้สนิท

หินสามวาฬทั้งสามตัว

ก่อนกลับคณะเรายังได้ฝากท้องมื้อเที่ยง ที่ร้าน “เฮือนหาดคำ” ร้านอาหารที่นอกจากจะมีอาหารไทยพื้นเมืองอีสานรสชาติอร่อยแล้ว ยังตกแต่งร้านได้สวยงาม ในบรรยากาศริมฝั่งโขงยังมีที่พักในบรรยากาศริมโขงไว้รองรับนักท่องเที่ยว หากใครมองหาที่พักบรรยากาศดี ก็ติดต่อจองที่พักได้ที่ โทร. 096-632-9629, 099-054-5230 และเพจ เฮือนหาดคำ

ถึงบรรทัดนี้แล้ว เชื่อว่าจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวครั้งหน้า คงมีชื่อ “หนองคาย-บึงกาฬ” ผุดขึ้นมากลางใจกันบ้างนะคะ 

เผยแพร่ครั้งแรกบนระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564