เคล็ดลับการผลิต “มะม่วง” นอกฤดู ให้ออกดอกติดผลดก (ตอนที่ 2)

“มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้” เป็นมะม่วงที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการส่งออก เพราะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก ในอดีตเรามีญี่ปุ่นเป็นตลาดหลัก แต่ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง สามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดยุโรป, นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และ จีน เป็นต้น

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

โดยเฉพาะประเทศจีน มีตัวเลขการสั่งซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี ในการสร้างตลาดส่งออกให้เข้มแข็งนั้น เกษตรกรชาวสวนจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพของผลผลิตเป็นหลัก และต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง สารเคมีตัวไหนห้ามฉีดก็ต้องไม่ฉีด หรือถ้าผลมะม่วงยังมีความแก่ไม่ตรงตามมาตรฐานก็ต้องห้ามเก็บ เป็นต้น

ในการเปิดตาดอก เกษตรกรส่วนมากจะใช้ ไทโอยูเรีย ผสมกับ โพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) จะใช้สูตรเปิดตาดอก สารไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม บวก สาหร่าย-สกัด 300 ซีซี (ต่อน้ำ 200 ลิตร) ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน แล้วรอดูการเปลี่ยนแปลงของตายอด โดยปกติแล้วตาดอกจะเริ่มแทงหลังเปิดตาดอกครั้งแรก ประมาณ 10-15 วัน แต่ถ้าเริ่มแทงในวันที่ 3-4 โอกาสเป็นใบอ่อนจะสูงมาก

ระยะเดือยไก่ ต่อมาก็จะแทงเป็นช่อดอก

ช่อดอกมะม่วง “ระยะเดือยไก่” ต้องฉีดพ่นล้างโรคและแมลงก่อนดอกจะบาน พร้อมเพิ่มความสมบูรณ์ หลังจากที่เราเปิดตาดอกจนดอกเป็นระยะเดือยไก่ หรือมีความยาวประมาณครึ่งนิ้วแล้ว เกษตรกรจะต้องเร่งสร้างความสมบูรณ์ของดอกให้เต็มที่ เพราะช่อดอกที่มีความสมบูรณ์ ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศจะสูง การติดผลจะง่าย ในช่วงนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 10-52-17 อัตรา 50 กรัม ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี (ต่อน้ำ 20 ลิตร) ปุ๋ย 10-52-17 และฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” จะช่วยเร่งความสมบูรณ์ของช่อดอก ทำให้ก้านดอกอวบใหญ่ มีสีแดงเข้ม ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศสูงมาก ระยะเดือยไก่ นอกจากจะฉีดปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อสร้างความสมบูรณ์แล้ว เกษตรกรจะต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลงไปในคราวเดียวกัน

ระยะช่อดอกเป็นระยะที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

สารป้องกันกำจัดแมลงที่เน้นในระยะนี้ ศัตรูที่เกษตรกรจะพบมากที่สุด ก็คือหนอนต่างๆ อัตราที่ใช้ให้ดูตามคำแนะนำของฉลาก ส่วนด้านโรคระยะนี้จะต้องล้างโรคให้หมด แนะนำให้ใช้สารในกลุ่มเบนโนมิล เช่น โกลคาเบน อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี ข้อแนะนำในการพ่นสารเคมีในระยะนี้สามารถผสมปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดโรคและแมลง ได้ในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและประหยัดต้นทุนการพ่นสารเคมี

เคล็ดลับในการผสมสารเคมี ที่เกษตรกรต้องรู้ลำดับในการผสมสารเคมีในการฉีดพ่นมะม่วง ใส่น้ำลงในถังพ่นยาในปริมาณครึ่งหนึ่งของถัง ละลายปุ๋ยเกล็ดใส่ลงในถังเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยยาที่เป็นผง แต่ต้องจำไว้ว่าการผสมยาผงทุกครั้ง ต้องละลายยาผงในภาชนะอื่นก่อน แล้วค่อยเทลงในถังฉีดพ่น เพื่อป้องกันยาจับก้อน หรือการตกตะกอน (ต้องใช้ไม้กวนยาทุกครั้ง) ใส่กลุ่มฮอร์โมนและยากำจัดแมลงที่เป็นน้ำตามไป แล้วเติมน้ำให้เต็มถังฉีดพ่น หรือเต็มปริมาณที่กำหนด เติมสารจับใบเป็นอันดับสุดท้าย แล้วกวนส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันอีกครั้ง ในระยะนี้ถ้าพื้นที่ปลูกมะม่วงของท่านมีน้ำรด สามารถให้น้ำได้ การให้น้ำจะช่วยให้ดอกมะม่วงมีความสมบูรณ์ การติดผลดี และช่อดอกโรยช้า

เตรียมใบมาดี การดึงดอกย่อมออกมาพร้อมกันทั่วทั้งต้น

ช่อดอกมะม่วง “ระยะก้างปลา” ก่อนดอกบาน ตามปกติแล้ว มะม่วงจะมีระยะเวลาตั้งแต่แทงช่อดอก จนถึงดอกเริ่มบาน ประมาณ 20 วัน (ระยะเวลาอาจเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพอากาศ) การดูแลในช่วงก่อนดอกบาน หรือดอกเริ่มบาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อแนะนำ ในระยะนี้ยังสามารถฉีดพ่นสารเคมีได้ตามปกติ เกษตรกรจะใช้ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี ผสมกับสารกลุ่มแคลเซียมโบรอน เช่น โกรแคล หรือโฟแมกซ์ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” และ สารในกลุ่มแคลเซียมโบรอน จะช่วยเรื่องความสมบูรณ์ของดอก ทำให้ดอกติดผลง่าย ลดการหลุดร่วงของผล และมีผลติดดก

ศัตรูที่ต้องระวังในระยะนี้ คือ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น ซึ่งศัตรูทั้ง 2 ชนิดนี้ จะเข้าทำลายระยะดอกเริ่มบาน จนถึงระยะติดผลอ่อน สร้างความเสียหายให้แก่ช่อมะม่วงอย่างมาก แนะนำให้ใช้สารโปรวาโด อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าวได้ดี หากว่าพบปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟที่รุนแรง แนะนำให้ใช้สารเดซิส อัตรา 10 กรัม ผสมกับ โปรวาโด 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยไฟทำลายผลอ่อน

โรคที่สำคัญในช่วงนี้จะต้องป้องกันโรคแอนแทรกโนสให้ดี เพราะจะทำให้ช่อมะม่วงเกิดความเสียหายได้สูงมาก แนะนำให้ใช้สาร “ฟลิ้นท์+แอนทราโคลโกลด์” ของ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด จากประสบการณ์ชาวสวน พบว่า สารดังกล่าวสามารถป้องกันโรคแอนแทรกโนสได้ค่อนข้างดีมาก โดยใช้ ฟลิ้นท์ อัตรา 5 กรัม ผสมกับ แอนทราโคล อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง

ระยะช่อ “ดอกบาน” ต้องดูแลเป็นพิเศษ ตามปกติถ้าดอกมะม่วงบานจะต้องห้ามฉีดพ่นสารเคมีโดยเด็ดขาด เพราะการฉีดพ่นสารเคมีจะทำให้ดอกมะม่วงได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น พิษของสารเคมียังไปทำลายแมลงที่มาช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ ทำให้การติดผลต่ำ หรือไม่ติดผลเลย แต่จากประสบการณ์จริงของชาวสวน พบว่า ในช่วงดอกบานจะมีศัตรูเข้าทำลายจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งศัตรูต่างๆ ที่เข้าทำลายระยะนี้ ได้แก่

เพลี้ยจักจั่นทำลายช่อมะม่วง

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กที่ทำลายโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงของช่อดอก ทำให้ดอกแห้ง ดอกร่วงไม่ติดผล จะระบาดหนักในช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง เกษตรกรมักพบว่า เมื่อเพลี้ยไฟเข้าทำลาย ดอกมะม่วงจะแห้งอย่างรวดเร็ว ชาวสวนมักเรียก “ดอกวูบ” เมื่อเคาะดูจะพบตัวเพลี้ยไฟเป็นจำนวนมาก การป้องกัน ต้องหมั่นสังเกตช่อดอกมะม่วงบ่อยๆ โดยการเดินเคาะช่อดอกลงบนกระดาษสีขาว ถ้าพบเพลี้ยไฟปริมาณมากกว่า 5-10 ตัว ต่อช่อดอก ต้องฉีดพ่นสารเคมีทันที สารเคมีที่แนะนำในช่วงดอกบานจะต้องเป็นกลุ่มยาเย็นที่ไม่เป็นพิษกับดอก เช่น สารโปรวาโด ใช้อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารไซฮาโลทริน เช่น เคเต้ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นก็ได้ เคล็ดลับการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ แนะนำให้ฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นที่ลมสงบ เพราะเพลี้ยไฟจะออกหาอาหารทำให้ถูกสารเคมีได้ง่าย และช่วงเย็นอากาศไม่ร้อน ดอกมะม่วงจะไม่ค่อยเสียหาย

โรคราแป้ง ภัยเงียบ เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว เกษตรกรต้องฉีดป้องกันไว้ล่วงหน้า

เพลี้ยจักจั่นมะม่วง เป็นแมลงที่ทำความเสียหายแก่ดอกมะม่วงมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยจะเข้าทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้ง และร่วงหล่น ดอกมะม่วงที่โดนเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายอาจไม่ติดผลเลย ที่สำคัญในระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยง จะถ่ายมูลที่เป็นของเหลวคล้ายน้ำหวาน เหนียว เยิ้ม ติดตามใบและดอก ต่อมาราดำจะเข้ามาปกคลุม เป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง การป้องกัน เมื่อสังเกตเห็นเพลี้ยจักจั่น (ตัวแก่) ปริมาณ 2-3 ตัว ต่อช่อ หรือเห็นของเหลวคล้ายน้ำหวานติดอยู่ตามใบ ให้ฉีดพ่นสารโปรวาโด อัตรา 1 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เพียง 1 สัปดาห์ ปริมาณเพลี้ยจักจั่นจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดอกมะม่วงจะถูกทำลาย ไม่ติดผลเลย

โรคแอนแทรกโนส หรือชาวสวนมะม่วงเรียก โรค “ช่อดำ” มักระบาดในช่วงที่มีฝนตกสลับกับอากาศร้อน โดยจะทำให้ช่อดอกเน่าดำ และหลุดร่วง หากสังเกตจะพบจุดดำเล็กๆ บริเวณก้านช่อดอก ช่อดอกจะเน่าดำ ลุกลามจากยอดไปยังโคนช่อดอก ทำให้ดอกมะม่วงไม่ติดผล

มะม่วงน้ำดอกไม้ระยะที่พร้อมจะห่อผล

เคล็ดลับการเอาชนะโรคแอนแทรกโนส กรณีฝนไม่ตกหนัก อาจใช้สารเบนโนมิล (โกลคาเบน) อัตรา 6-12 กรัม ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 7-10 วัน โดยอาจฉีดสลับกับสารแคปแทน (เมอร์แพน) อัตรา 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และให้เกษตรกรเจ้าของสวนหมั่นสังเกตช่อดอกบ่อยๆ หากพบว่า สารกำจัดโรคที่ฉีดพ่นไปเอาชนะโรคไม่ได้ (โรคลุกลามต่อเนื่อง) ให้เปลี่ยนสารเคมีทันที สารเคมีที่พิชิตแอนแทรกโนสได้ผลดีในปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้สารฟลิ้นท์ + แอนทราโคล เพราะสามารถป้องกันโรคแอนแทรกโนสได้แน่นอน แม้ขณะฝนตกติดต่อกันหลายวัน ที่สำคัญเป็นสารที่ฉีดพ่นแล้วไม่เป็นอันตรายต่อดอก

ดอกมะม่วงที่ฉีดพ่นด้วยสารฟลิ้นท์ + แอนทราโคล จะสด และใสกว่าฉีดพ่นด้วยสารกลุ่มอื่น ที่สำคัญ ไม่พบปัญหาดอกแห้ง หรือดอกไหม้ เมื่อฉีดพ่นในสภาพอากาศร้อน อัตราที่แนะนำ คือ ใช้ ฟลิ้นท์ 5 กรัม และแอนทราโคล 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 7-10 วัน ต่อครั้ง แต่หากช่วงนั้นมีฝนตกติดต่อกันทุกวัน ให้ลดระยะเวลาฉีดเหลือ 2-3 วัน ต่อครั้ง จะได้ผลดีที่สุด

ราแป้ง ภัยเงียบฤดูหนาว โรคราแป้งเป็นโรคที่พบระบาดหนักในช่วงที่มีอากาศแห้ง และเย็น (ปลายฝนต้นหนาว) เป็นโรคที่สร้างความเสียหายกับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงอย่างมาก เพราะเป็นเหมือนภัยเงียบที่มองไม่เห็น โดยเชื้อราแป้งจะพักตัวอยู่ตามตาใบและตาดอกของมะม่วง เมื่อดอกมะม่วงบาน และสภาพอากาศเหมาะสม ราแป้งจะเข้าทำลายทันที ดอกมะม่วงที่โดนราแป้งทำลาย จะสังเกตเห็นผงสีขาวคล้ายแป้งปกคลุมบริเวณก้านดอกทำให้ดอกร่วง

ถ้าลงทำลายระยะผลอ่อนจะทำให้ผลอ่อนหักและหลุดร่วง การป้องกันราแป้ง ทำได้โดยฉีดพ่น
สารกำมะถันชนิดผง (กำมะถันทอง) อัตรา 40-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในระยะดอกเป็นเดือยไก่

แต่หากช่วงนั้นเกษตรกรไม่มีเวลา หรือลืมฉีด ให้ใช้สารซิสเทน-อี อัตรา 8-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตั้งแต่ก่อนดอกบาน 1 ครั้ง และดอกบานครึ่งช่อ 1 ครั้ง จะสามารถป้องกันการทำลายของเชื้อราแป้งเป็นอย่างดี จำไว้เสมอว่า เมื่อเข้าสู่หน้าหนาวต้องระวังโรคราแป้ง

ระยะมะม่วง “ติดผลอ่อน” ต้องฉีดพ่นเพื่อล้างโรคและแมลง ทำผิวมะม่วงให้สวย เมื่อดอกมะม่วงเริ่มโรย เราจะสังเกตเห็นผลอ่อนของมะม่วงติดผลเล็กขนาดไข่ปลาถึงหัวไม้ขีด ช่วงนี้ต้องระวังเพลี้ยไฟกับโรคแอนแทรกโนสให้มาก ระยะนี้เกษตรกรจะใช้สารเคมีที่ค่อนข้างแรง (แรงต่อแมลง แต่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค) เช่น สารไซฮาโลทริล (เช่น เคเต้) อัตรา 10 ซีซี หรือใช้สารคาร์โบซัลแฟน (เช่น เสือไฟท์) อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดโรคแอนแทรกโนส เช่น โพรคลอราช (เช่น เอ็นทรัส) หรือ เบโนมิล (เช่น โกลคาเบน) ซึ่งในระยะช่อดอกเริ่มโรยและติดผลอ่อนเกษตรกรต้องหมั่นดูแล เพราะหากเพลี้ยไฟ หรือโรคแอนแทรกโนสเข้าทำลายผลอ่อน ผิวจะไม่สวย ขายไม่ได้ราคา มีเคล็ดลับอีกข้อสำหรับป้องกันผลอ่อนร่วง และเร่งการเจริญเติบโตของผลอ่อน เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-12 อัตรา 30-140 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับสารจิบเบอเรลริล (GA3) ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง จะทำให้ผลโตเร็ว ลดการหลุดร่วงของผลได้มาก

ผลมะม่วงอ่อนมีขนาดเท่าไข่ไก่ ต้องห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อให้ผิวสวย และป้องกันโรคแมลง การซื้อ-ขายมะม่วงน้ำดอกไม้ในปัจจุบัน มะม่วงที่ขายในประเทศ พ่อค้า-แม่ค้าจะนิยมซื้อผลมะม่วงที่ห่อก่อน เพราะมะม่วงที่ห่อผล ผิวจะสวย ขายได้ราคาดีกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ห่อ พ่อค้าบางคนเวลาไปติดต่อซื้อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะถามก่อนว่า “ห่อผลหรือเปล่า?”

มะม่วงแปลงไหน หรือสวนไหนห่อผล จะขายง่าย แปลงที่ไม่ห่อบางครั้งไม่มีคนซื้อเลยก็มี

แต่ถ้าผลิตเพื่อส่งออกจะต้องห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอนเท่านั้น เมื่อผลมะม่วงมีขนาดโตกว่าไข่ไก่ (ขนาดประมาณ 3 นิ้วมือ) เกษตรกรจะตัดแต่งผลกะเทยออก ช่อไหนติดผลดกเกิน หรือรูปทรงไม่สวยงาม จะต้องตัดทิ้ง คัดผลดีๆ ที่ผิวสวยไว้ เพียง 1-3 ผล ต่อก้าน เพื่อควบคุมคุณภาพให้ผลมะม่วงออกมาสม่ำเสมอ ไม่เล็กนัก (เกษตรกรบางรายดูแลดีมาก สามารถไว้ผล 3-5 ผล ต่อก้าน)

ก่อนห่อทุกครั้ง ต้องล้างโรคแมลงด้วยการพ่นสารโพรคลอราช หรือสารฟลิ้นท์+แอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนส และต้องพ่นสารมาลาไธออน อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เพราะหากไม่ฉีดพ่นสารกำจัดโรคแมลงตอนนี้ เมื่อเราห่อถุงไป โรคแมลงจะติดเข้าไปอยู่ในถุงห่อ และทำลายผลผลิตโดยที่เราไม่รู้ เพราะมองไม่เห็น