วว. กับงานพัฒนาเห็ดโคนญี่ปุ่น

เห็ดโคนญี่ปุ่น หรือ เห็ดยานางิ (Yanagi Matsutake) มีชื่อสากลว่า Agrocybe cylindracea Maire ดอกมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เห็ดออกดอก ถ้าอุณหภูมิยิ่งเย็นสีจะยิ่งเข้ม ก้านดอกสีขาว เนื้อแน่น และมีเนื้อเยื่อยาว ทำให้ไม่เปราะหรือหักง่าย รสชาติคล้ายกับเห็ดโคนไทย

เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดที่เริ่มนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายและมีราคาแพง โดยราคาขายส่งเฉลี่ยอยู่ที่ 160 บาท ต่อกิโลกรัม (ตลาดกลางผักและผลไม้จังหวัดราชบุรี, 2558) เนื่องจากรสชาติที่อร่อย เมื่อนำมาประกอบอาหาร หมวกดอกจะเหนียวนุ่มเหมือนเห็ดหอม ก้านดอกจะกรอบเหมือนเห็ดโคนป่า นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 สัปดาห์ โดยยังมีความสด รูปร่าง ขนาด และน้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลง การเพาะเลี้ยงสามารถกระทำได้ง่ายเหมือนการเพาะเห็ดถุงทั่วไป และยังเพาะเลี้ยงได้ตลอดปี จึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจที่มีอนาคต

ในปัจจุบันเห็ดโคนญี่ปุ่นและเห็ดเขตร้อนต่างๆ มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เนื่องจากในบางสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด เห็ดจะเจริญเติบโตทางด้านเส้นใยมากกว่าเกิดดอก ผลผลิตที่ได้จึงลดลง ส่วนคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการนั้นจะดีหรือด้อย ปัจจัยหลักสำคัญอย่างหนึ่งคือการขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต เช่น เชื้อสายพันธุ์เห็ดที่ดี วัสดุเพาะเห็ด และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น แสง บรรยากาศ และแร่ธาตุที่จำเป็น เป็นต้น (Garraway, 1984) รวมถึงปัญหาการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ต้นทุนการผลิตเห็ดสูงขึ้น ดังนั้น หากมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการจัดการที่ดีจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

ยานางิ 2 C1 (125K)

จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น กอปรกับความจำเป็นที่จะต้องศึกษา พัฒนา เทคโนโลยีการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น และเห็ดเขตร้อนอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาวิธีการเพาะและการดูแลรักษาเห็ดอย่างเหมาะสม ตลอดจนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดอย่างมีระบบเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดแนวคิดในการศึกษาการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบขึ้น โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสนองนโยบายการวิจัยของชาติ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชน

วว. ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นด้วยรังสีแกมมาเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบ โดยได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อใช้สำหรับทดสอบจำนวน 10 สายพันธุ์  ในจำนวนนี้ได้คัดเลือกสายพันธุ์เห็ดที่มีศักยภาพซึ่งให้ผลผลิตสูงได้ 5 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ ย1, ย2, ยอ, ยผ และ ยข) เห็ดโคนญี่ปุ่นทั้ง 5 สายพันธุ์ดังกล่าวได้นำไปปรับปรุงพันธุ์โดยกระบวนการฉายรังสี ด้วยเครื่องฉายรังสี Gammacell 220 ที่ระดับปริมาณรังสีต่างๆ (0, 10, 25 และ 50 กิโลแรด) เชื้อเห็ดที่ผ่านการฉายรังสีและเจริญเป็นเส้นใยใหม่และมีชีวิตรอดหลังจากบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส คาดว่าจะกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมาและทนความร้อนได้ และได้ทำการแยกเชื้อเห็ดดังกล่าวให้บริสุทธิ์ได้ 186 ตัวอย่าง (isolate) สำหรับใช้ทดสอบ อัตราการเจริญเติบโตในก้อนเชื้อเห็ด ผลผลิต คุณค่าทางโภชนาการและแร่ธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบของเห็ด และลักษณะทางสัณฐานวิทยาเบื้องต้นต่อไป ผลการศึกษาพบว่า เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 12 วัน พบว่ามีอัตราการเจริญของเส้นใยที่เร็วกว่าสายพันธุ์แม่

ดร.ธนภัก์ อินยอด นักวิจัย วว.

และเมื่อศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดสูตรที่ใช้เพาะทั่วไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน พบว่า สายพันธุ์เห็ดในกลุ่มที่ผ่านการฉายรังสี 10 และ 25 กิโลแรด มีอัตราการเจริญของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดเฉลี่ยเท่ากับ 2.48 และ 2.32 เซนติเมตร ต่อสัปดาห์ ตามลำดับ ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตของเส้นใยในก้อนเชื้อเห็ดสูตรทั่วไปเร็วกว่าสายพันธุ์เห็ดในกลุ่มควบคุม (2.06 เซนติเมตร ต่อสัปดาห์) สำหรับการเปรียบเทียบผลผลิตและคุณค่าทางโภชนาการบางชนิด และแร่ธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบของเห็ดโคนญี่ปุ่น พบว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์กลายที่ได้จากการฉายรังสีส่วนใหญ่ให้ผลผลิตและปริมาณโปรตีนมากกว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์แม่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมถึงคุณภาพของดอกเห็ด ได้แก่ ขนาดของดอกเห็ด ความยาว และความกว้างของก้านดอกเห็ดที่ดีกว่าสายพันธุ์แม่

ยานางิ 2 C3 (25K)

และยังพบว่าในกลุ่มสายพันธุ์กลาย สีของหมวกดอกและสีของก้านดอกเห็ดยังมีการเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อนำมาตรวจสอบความแตกต่างทางพันธุกรรมด้วยเทคนิคชีวโมเลกุล พบว่าลำดับนิวคลีโอไทด์ของเห็ดโคนญี่ปุ่น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ ยานางิเข้ม C3 และ C12 ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมาปริมาณ 10 กิโลแรด และ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ ยานางิ 2/1 C1, ยานางิ 2/2 C3 และ ยานางิเข้ม C12 ที่ผ่านการฉายรังสีปริมาณ 25 กิโลแรด แตกต่างจากลำดับนิวคลีโอไทด์ของ Yanagi Matsutake mushroom จากฐานข้อมูลใน GenBank มาก

ดังนั้น ในงานวิจัยครั้งนี้ วว. ได้เห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 5 สายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาในการปรับปรุงพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่นให้ทนร้อน สามารถเพาะได้ในเขตพื้นที่ราบ และให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดอกดี โดยมีปริมาณโปรตีนที่สูง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดรูปร่างลักษณะใหม่ของดอกเห็ดด้วย

นอกจากนี้ วว. ยังได้มีการศึกษาชนิดของวัสดุเพาะและอาหารเสริมที่เหมาะสมสำหรับการผลิตหัวเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น และพบว่า วัสดุสูตรที่ประกอบด้วยข้าวโพด 1 กิโลกรัม รำข้าว 20 กรัม CaCO3 20 กรัม MgSO4 0.2 กรัม เป็นวัสดุเพาะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตหัวเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น โดยพบว่าเห็ดโคนญี่ปุ่น มีการเจริญของเส้นใยที่เร็วและหนา ซึ่งเป็นลักษณะของหัวเชื้อที่ดีและจะทำให้ได้ผลผลิตสูง

ยานางิเข้ม C3 (10K)

วว. เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ด โดยการศึกษาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่เหมาะสมและอาหารเสริมอินทรีย์สำเร็จรูปเพื่อใช้ในการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น ตลอดจนการศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของดอกเห็ด รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ได้ปริมาณสารสำคัญในดอกเห็ดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดแนวคิดในการวิจัยและพัฒนาการผลิตก้อนเชื้อเห็ดและอาหารเสริมอินทรีย์สำเร็จรูปสำหรับการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นระบบอินทรีย์ขึ้น

จากโครงการวิจัยเห็ดโคนญี่ปุ่นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ วว. ได้นำมาต่อยอดดำเนินงานวิจัยต่อในเรื่องการใช้วัสดุเพาะหรือก้อนเชื้ออินทรีย์ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ได้ผลิตดอกเห็ดเร็วขึ้น มีปริมาณ และคุณภาพดี ที่มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้เพาะเห็ดและผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเห็ดอินทรีย์ ทำให้ได้ผลตอบแทนในราคาที่สูงขึ้น โดยพบว่าสูตรที่เหมาะสมสำหรับการผลิตก้อนเห็ดโคนญี่ปุ่นอินทรีย์คือ สูตรที่ใช้ขี้เลื่อยที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างน้อย 1 ปี โดยเส้นใยเห็ดมีอัตราการเจริญเติบโตดีที่สุดคือ 0.303 เซนติเมตร ต่อวัน และน้ำหนักดอกเห็ดต่อก้อนสูงที่สุดคือ 152.90 กรัม ต่อ 4 เดือน หมวกดอกเห็ดมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.73 เซนติเมตร ก้านดอกเห็ดมีความยาว และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.6 และ 0.71 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งโดยทั่วไปการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น จะใช้สูตรสำหรับการผลิตก้อนเชื้อเห็ดดังนี้คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำข้าว 6 กิโลกรัม ปูนขาว 1 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยต่อก้อน ประมาณ 200 กรัม

ยานางิเข้ม C12 (10K)

สำหรับการวิจัยและพัฒนาสารเสริมอินทรีย์ที่ส่งเสริมการเจริญของเส้นใยและดอกเห็ด โดยได้ทำการทดสอบสูตรสารอินทรีย์ที่ส่งเสริมการเจริญและการกระตุ้นการเกิดดอกจากการผลิตสารเสริมอินทรีย์ทั้ง 7 สูตร และสารชีวภาพ (ชุดควบคุม) แล้วทำการผสมลงในก้อนเพาะเห็ด และฉีดพ่นที่บริเวณหน้าก้อนเห็ดหลังจากเชื้อเห็ดเจริญเต็มถุงก้อนเห็ดแล้วพบว่า เห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ทนร้อนทั้ง 5 สายพันธุ์ มีอัตราการเจริญของเส้นใยที่ดี โดยเฉลี่ยเท่ากับ 0.30 เซนติเมตร ต่อวัน

สูตรขี้เลื่อยหมัก 1 ปี

เมื่อเพาะด้วยขี้เลื่อยหมักนาน 1 ปี ที่ผสมสารเสริมอินทรีย์ เส้นใยมีอัตราการเจริญได้ดีกว่าการทดลองชุดควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดโคนญี่ปุ่นสายพันธุ์ ยข C12 (25K) เส้นใยจะมีอัตราการเจริญดีที่สุด คือ 0.35 เซนติเมตร ต่อวัน ปริมาณผลผลิตดอกเห็ดจากชุดการทดลองที่มีการผสมสารเสริมอินทรีย์ลงในก้อนเห็ด ให้ผลผลิตดอกเห็ดต่อกรัมต่อก้อนมากกว่าการวิธีการฉีดพ่นสารเสริมอินทรีย์ไปที่หน้าก้อนเห็ด โดยพบว่าสายพันธุ์ ย 2/1 C1 (25K) เมื่อเพาะด้วยก้อนเห็ดที่ผสมสารเสริมอินทรีย์สูตรที่ 6 ซึ่งมีส่วนประกอบดังนี้คือ ไข่ไก่ 1.25 กิโลกรัม (รวมเปลือก) นมเปรี้ยว 40 มิลลิลิตร ลูกแป้งบดละเอียด 1/2 ลูก น้ำตาล 250 กรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร ให้ผลผลิตดอกเห็ดต่อก้อนมากที่สุดคือ 19.66 กรัม ต่อรุ่น นอกจากนี้ ยังมีผลทำให้คุณภาพของดอก เช่น ขนาดของดอก ก้านดอกเห็ดมีขนาดใหญ่อีกด้วย

สูตรต้นกล้วยอินทรีย์

ผลงานวิจัยเห็ดโคนญี่ปุ่น โดย วว. ดังกล่าว เป็นความสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปตอบโจทย์ให้กับภาคการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนของคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (02) 579-9000 ต่อศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)