การปฏิบัติบำรุงสวนมะม่วง

ต้นมะม่วงที่เก็บเกี่ยวผลไปแล้วต้นมะม่วงจะสูญเสียสภาพความแข็งแรงและอาหารสะสมไปเช่นเดียวกับคนที่คลอดบุตรหรือเลี้ยงดูลูกอ่อน จึงต้องมีการปฏิบัติบำรุงให้ต้นมะม่วงมีความแข็งแรงกลับคืนมาเพื่อพร้อมที่จะให้ดอกให้ผลในฤดูกาลถัดไป ซึ่งมีหลักการและวิธีปฏิบัติต่อต้นมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว ดังต่อไปนี้

การตัดแต่งกิ่ง

ต้นไม้ผลถ้าเราปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ จะพบว่ามีกิ่งก้านเกะกะรุงรังอาจมีกาฝาก ฝอยทองจับทำให้เกิดกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรคหรือเป็นที่อาศัยแมลง ต้นไม้นั้นย่อมไม่เจริญเติบโตแข็งแรง นอกจากนี้ ในการเก็บเกี่ยวผลอาจมีกิ่งที่ฉีกหักเสียหายหรือเป็นแผล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าทางแผลได้ เราจึงต้องมีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ที่ปลูกด้วย

การตัดแต่งกิ่งแบ่งออกเป็นสองคำคือ การตัด (pruning) คำหนึ่ง และแต่ง (training) อีกคำหนึ่ง ตัดคือตัดกิ่งให้ขาดออก แต่งคือการทำให้ได้รูปทรงที่ต้องการ ในทางปฏิบัติเราทำอย่างไปพร้อมกัน การตัดแต่งต้องทำตั้งแต่ต้นยังเล็กๆ และต้องทำติดต่อกันทุกปี จนกว่าต้นไม้นั้นจะถึงอายุขัยของมัน

 จุดประสงค์ของการตัดแต่งกิ่ง

  1. เพื่อมีรูปทรงและลักษณะต้นตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการออกดอกผลและการปฏิบัติดูแลรักษาอย่างอื่นๆ เช่น การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการเก็บเกี่ยว เป็นต้น
  2. เพื่อลดอัตราการคายน้ำและรักษาสมดุลของปริมาณน้ำที่พืชได้รับการระเหยให้พอดีกัน
  3. เพื่อรักษาความแข็งแรงไว้ได้ยาวนาน ทำให้ต้นไม้ผลมีกิ่งที่สมบูรณ์ อาหารที่ปรุงจากใบไม่ถูกนำไปเลี้ยงกิ่งที่เป็นประโยชน์ ทำให้อาหารในกิ่งที่เราเลือกเอาไว้นำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ช่วยให้การออกดอกติดผลได้มากขึ้น
  4. ลดการเป็นโรคและแมลง เพราะกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งที่มีแมลงทำลาย ถูกตัดออกไป ทำให้แสงส่องได้ทั่วถึงเข้ามาในพุ่มต้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่เป็นที่สะสมโรคแมลง
  5. ลดความเสียหายจากลมพายุ พุ่มต้นที่แน่นทึบย่อมรับแรงปะทะได้มากกว่า การโค่นล้มฉีกหักเสียหายเนื่องจากลมย่อมมีมากกว่าต้นที่ได้รับการตัดแต่ง
  6. ช่วยให้ออกดอกติดผลไม่เว้นปี ต้นที่ตัดแต่งกิ่งทุกปีจะออกดอกติดผลไม่เว้นปี
  7. เพื่อให้ผลกระจายสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น ไม่ทำให้ผลไม้แออัดอยู่ในกิ่งใดกิ่งหนึ่ง ทำให้ได้ผลที่มีความสม่ำเสมอ มีความสมบูรณ์ใกล้เคียงกันและมีคุณภาพของผลดีขายง่าย

ที่มา : ฉลองชัย แบบประเสริฐ