กระดูกไก่ดำ

เกลียดใครเข้ากระดูกดำ เป็นไปได้  แต่..ไม่มีใครเกลียด “ไก่กระดูกดำ”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm. f.

ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ชื่อสามัญ Justicia vulgaris Nees

ชื่ออื่นๆ กระดูกดำ กะลาดำ (จันทบุรี) ปองดำ แสนทะแมน (ตราด) เฉียงพร้า (สุราษฎร์ธานี) เกี๋ยงผา เฉียงพร้ามอญ บัวลาดำ (เหนือ) เฉียงพร้าบ้าน ผีมอญ สำมะงาจีน สันพร้ามอญ (กลาง) กรอกระโต๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

เคยได้ยินคำว่า “เจ็บปวดเข้ากระดูกดำ” ถ้าเป็น “เชิงกายภาพ” ก็คงปวดสุดทน เจ็บเกินประมาณ แต่ถ้าเป็นอารมณ์ปวดทางใจ ไม่ทราบว่าจะใช้อะไรชี้วัด เพราะเคยได้ยินบทเพลงชื่อ “เจ็บเข้ากระดูกดำ” ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ที่ถลำหัวใจไม่เคยปราม เจ็บเข้ากระดูกดำ อย่าตอกย้ำ ฉันเองยอมจากไป” แหม.! เจ็บแค่ไหนก็ไม่รู้ และก็เคยฟังเพลงที่ คุณลินจง บุนนากรินทร์ ขับร้องไว้ว่า “เกลียดชายแสนกลคนชั่วเช่นคุณ หลอกให้หญิงอย่างฉันมารักคุณ มาเป็นทาสคุณจนสิ้น…ต้องมีหนี้สินท่วมกาย เกลียดเข้ากระดูก…เกลียดที่ถูกโลกีย์ลวงร้าย ทำลายฉันตายทั้งหายใจ” ถ้าอย่างนี้แล้วใครจะตอบได้ไหม จะเลือกปวดกายหรือเจ็บใจ

“ไก่” ขอแทนตัวเองว่า ไก่นะคะ เพราะมีปัญหาว่าชื่อที่เรียกกันตีความสับสนว่า ไก่ “กระดูกดำ” หรือกระดูกของ “ไก่ดำ” คือมีไก่จากมองโกเลียเป็นต้นกำเนิดไก่ดำ แล้วมีชื่อเสียงในเมืองไทยที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นไก่เนื้อดำ กระดูกดำ ผิวหนังดำ มี ไก่ดำภูพาน  สกลนคร ชนิดขนขาวแต่เนื้อดำ ส่วนที่อำเภอเขาพนม กระบี่ ฮือฮากับ ไก่ดำพันธุ์เขาดิน กล่าวกันว่า ดียิ่งกว่า “ไวอากร้า” อีก โดยเฉพาะ “ไก่ดำตุ๋นยาจีน” หรือไก่ดำทางเหนือ ชาวจีนฮ่อ ก็คงร้องฮ่อๆ

ไก่ นินทา “ไก่ดำ” มากไปแล้ว ขอกลับมาที่ “กระดูกไก่ดำ” ซึ่งมีชื่อเรียกกันแปลกๆ  โดยเฉพาะที่นำหน้าด้วยคำว่า “เฉียงพร้า” ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร เพราะไก่เป็นเพียงพันธุ์ไม้ล้มลุก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก แต่จุดเด่นอยู่ที่ลำต้นสีแดงเข้ม จนเกือบดำ หรือม่วงดำ เกลี้ยงมัน มีกิ่งเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ คงจะเป็นที่มาของชื่อด้วยฉะนี้  ส่วนใบ จัดเป็นใบเดี่ยวเรียงคู่

ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายใบโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ เป็นเงาสีเขียวเข้ม หน้าใบเขียวสด หลังใบเหลืองอมเขียว มีเส้นกลางใบ แต่ก้านสั้น ออกดอกบริเวณส่วนยอด หรือปลายกิ่ง ช่อหนึ่งๆ ยาว 2-3 นิ้ว เป็นหลอดเล็กๆ ปลายดอกแยกเป็นกลีบ สีขาวอมเขียวแกมชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน กลีบดอกโค้งงอนเหมือนช้อน มีเกสรเพศผู้ 2 ก้าน โผล่จากหลอด เมื่อแก่จัดมีผลเป็นฝัก มีเมล็ดใช้เพาะขยายพันธุ์หรือใช้กิ่งปักชำได้

ไก่ภูมิใจตัวเองมากที่มีโอกาสได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำให้มีคนรู้จักสเปรย์กระดูกไก่ดำฉีดกล้ามเนื้อ หรือ “มัสคูล สเปรย์” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนยาตามระบบ อย.แล้ว และมีโอกาสได้โชว์ตัวในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีทั้งเป็นน้ำมันทาและสเปรย์ฉีด เป็นตำรับยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนข้อมูลทางเภสัชวิทยา ได้ระบุสารที่พบในต้นกระดูกไก่ดำ คือสารอัลคาลอยด์ Juaticin และมีน้ำมันระเหย หากสกัดใบด้วยเมทานอลก็มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแกรมบวกและแกรมลบ

ในแถบเอเชียรู้จักไก่ และรู้สรรพคุณกันกว้างขวางนะคะ เช่น มาเลเซีย ใช้ใบต้มเป็นยาบำรุงโลหิต และถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์กันภูติผีป้องกันภัยได้ ส่วนที่อินโดนีเซีย ก็ใช้ใบต้มน้ำดื่ม ที่อินเดีย ใช้ใบรักษาโรคติดเชื้อ พบเอกสารเผยแพร่ยืนยันว่า “that it is a quick-growing, evergreen forest shrub considered to be a native of China and distributed in Sri Lanka, India and Malasia. เห็นไหมละคะรู้จักกันทั่วเอเชีย

เรื่องของสรรพคุณสมุนไพร บรรยายกันไม่หมด นอกเหนือจากรักษาข้อต่อกระดูก แก้ช้ำใน เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แล้ว ยังมีชื่ออยู่ในตำรับยารักษาโรคมะเร็งเต้านม มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับ “มอร์ฟีน” แต่ฤทธิ์อ่อนกว่าเล็กน้อย ส่วนงานวิจัยพบสาร Apigenin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย รวมทั้งลดความปวดสูงมากออกฤทธิ์ผ่านยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) โดยไปยับยั้งเอนไซม์

ที่จริงไก่อยากฟังเพลง “ไก่จ๋า” ของ สายัณห์ สัญญา แต่มีประโยคหนึ่งว่า “เสียงนี้คือเสียง “คนปวดอุรา” จึงร้องครวญหา ไก่จ๋าหลบหน้าไปไหน” ก็เลยเปลี่ยนใจไม่ฟัง เพราะเจ็บปวดอีกแล้ว แต่ขอเป็นตัวประสานกายดีกว่า เช่นถ้า “ไก่ชน” ขาหัก ก็ให้ใช้ใบกระดูกไก่ดำนำมาประคบ หรือห่อมัดหุ้มไว้ที่ขาไก่หัก และทั้งนี้ หมอยาพื้นบ้านก็ใช้ประคบหุ้มคนที่แขนขาหักด้วยวิธีเดียวกัน ดีใจอยู่อย่างที่ไม่เคยหักอกใคร

แต่เสียใจอย่างเดียวที่… “ถ้า…ใครอกหักแล้ว ไก่ดำช่วย “ดาม” ให้ไม่ได้นะ” เจ้าข้าเอ๊ย!