เลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว แมลงเงินล้าน สร้างรายได้ที่ไม่จิ๋ว

“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มจากศูนย์ ลองผิดลองถูกล้มลุกคลุกคลานมาหลายรอบ เริ่มต้นใหม่ก็หลายครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยทิ้งคือ การได้ทำในสิ่งที่ผมรัก อดทนต่อคำดูถูก ผมอาจไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่ดีมาก แต่สิ่งที่ผมมีคือ หนึ่งสมอง สองมือ สองเท้า ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกท้อแท้ ขอให้คุณตั้งสติแล้วมองหาตัวเองให้เจอ เมื่อเจอแล้วจงหาโอกาสให้ตัวเอง เพราะในวิกฤติครั้งใหญ่นี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคุณ ที่จะทำให้คุณได้เริ่มต้นเป็นนายตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่คุณรักและอยู่กับคนที่รักคุณก็ได้” คุณนพเก้า ใจสมุทร กล่าวไว้       

เกษตรกรหนุ่ม คุณนพเก้า ใจสมุทร วัย 33 ปี แห่งบ้านสวนษิริจันทร์ ผู้ที่นำร่องของความสำเร็จไปล่วงหน้าแล้วท่านหนึ่ง กับศรีภรรยา คุณอุไรวิมล วังบุญ ที่ช่วยเป็นฝ่ายการตลาด คุณนพเก้า ผู้ที่สู้ไม่ถอยจากการเลี้ยงผึ้งจิ๋วหรือชันโรง เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากเมื่อก่อนเป็นอาชีพเสริม เดี๋ยวนี้มาทำเป็นอาชีพเต็มตัวและสร้างรายได้ที่มั่นคง จนเป็นศูนย์เรียนรู้ของผู้ที่สนใจมากมาย รวมทั้งการนำชันโรงมาแปรรูปเป็นสินค้าทั้งอาหารและเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ต่างๆ จนมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง

คุณนพเก้า ใจสมุทรและคุณอุไรวิมล วังบุญ เจ้าของผลิตภัณฑ์จากผึ้งจิ๋วหรือชันโรง

ทำไม ถึงมีแนวคิดที่จะเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว

อาชีพเกษตรกรรมถือเป็นอาชีพอิสระ แต่การเลือกอาชีพที่เหมาะกับตนองและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่นั้นจำเป็นมาก นั่นหมายถึงการบ่งชี้ถึงความสำเร็จในอนาคต

การเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว การดึงเอาแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติมาปรับตัวให้อยู่ใกล้บ้านและให้เกิดปริมาณที่สร้างให้เป็นรายได้จากน้ำผึ้งชันโรงที่มีคุณค่าทางยาสูง และยังช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับสวนผลไม้ของชาวสวนอีกด้วย

เลี้ยงในกระบอกไผ่ เต็มไปด้วยความหวานจากการทำงานของแมลงตัวเล็กจิ๋ว

ชันโรง เป็นแมลงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ตามบ้านเรือนไทยก็มี คนสมัยก่อนไม่ชอบชันโรง เพราะมักจะสร้างรังตามบ้าน ยางจากรังของชันโรงทำให้บ้านเลอะเทอะ แต่ปัจจุบันนี้คนเริ่มหันมาเห็นคุณค่า ประโยชน์อันมากมายของชันโรง จึงเป็นที่สนใจและศึกษาเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรง ชันโรงเป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่ไม่มีเหล็กไน หรือเรียกกันอีกอย่างว่า “ผึ้งจิ๋ว” แมลงตัวเล็กๆ เหล่านี้จะกินเฉพาะน้ำหวานจากดอกไม้เท่านั้น โดยไม่กินน้ำเชื่อมที่มักใช้เป็นอาหารในฟาร์มเลี้ยงผึ้งทั่วไป ชันโรงจะกินน้ำหวานจากดอกไม้ทุกชนิด จึงมีการผสมผสานจากดอกไม้นานาชนิด ทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงและมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งธรรมดาหลายเท่า และยังนำส่วนของชันโรงที่เรียกว่า พรอพอริส มาทำเป็นยาและเครื่องสำอาง

จากแมลงตัวเล็กจิ๋วนี้ สู่การทำให้คนมีรายได้นั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่องในความอุตสาหะของพลังงานจิ๋วที่สามารถผลิตสิ่งที่มีคุณค่าสู่มวลมนุษย์ การสร้างรังให้เขาอยู่สุขสบาย อากาศถ่ายเทดี เขาก็มีพลังสร้างงานให้เราฉันใดก็ฉันนั้น เป็นเหตุผลหลักที่ว่าถ้ารังเหมาะกับผึ้งจิ๋วก็จะให้น้ำผึ้งแก่เรามาก ผึ้งจิ๋วไม่เครียดก็จะขยันหาน้ำผึ้งให้ได้มากๆ

อาหารที่ได้จากเกสรและตัวอ่อนนำไปแยกขยายในรังกล่องไม้ได้

เลี้ยงยากมั้ย เป็นคำถามพื้นๆ ที่ทุกคนอยากรู้

“ไม่ยากครับ ต้นทุนแรกๆ คือต้องมีใจรักและมุ่งมั่น และอย่ายอมแพ้ ผมว่าอาชีพเลี้ยงผึ้งชันโรงนี้ทำให้เราได้อยู่กับธรรมชาติและยังอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย ที่ไหนไม่มีต้นไม้ ที่นั่นก็ไม่มีผึ้งจิ๋วชันโรงอยู่ และยังมีความอ่อนไหวต่อสารเคมีด้วย ที่ไหนใช้สารเคมีในการปราบศัตรูพืชมาก ผึ้งจิ๋วชันโรงก็ไม่สามารถอยู่ได้ เป็นการกลั่นกรองเรื่องของการวัดค่าสารเคมีไปในตัวด้วย ส่วนการเลี้ยงนั้น ต้องมีแหล่งพืชที่มียางถึงจะดี เช่น สวนมะม่วง สวนลำไย สวนเงาะ มะปราง มะยงชิด เป็นต้น หรือดอกไม้หลากหลายชนิด เพราะธรรมชาติของชันโรงนั้นจะไม่เลือกเกสรดอกไม้หรือไม่เลือกชนิดดอกไม้นั่นเอง แต่จะชอบไม้ที่มียางทุกชนิด รวมถึงดอกไม้ด้วย” คุณนพเกล้า บอก

ทาฟีโรโมนเพื่อล่อให้ให้ชันโรงเข้ามาอยู่รังเร็ว

เมื่อผึ้งจิ๋วชันโรงสร้างรายได้

ราคาน้ำผึ้งชันโรง 1 ลิตร ได้ราคา 1,500 บาท ราคาค่อนข้างดีและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันนี้มาก ถือว่ายังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก จากการจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรง รังพ่อแม่พันธุ์ อุปกรณ์การเลี้ยง คอร์สอบรม ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ ส่วนรายได้จากการประกอบรังชันโรงขายราคาขั้นต่ำ ชุดละ 1,500-10,000 บาทขึ้นไป พร้อมทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชันโรง การที่มีหลายราคานั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของผึ้งจิ๋วมีหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงสายพันธุ์ที่ใหญ่เท่ากับผึ้งหลวง ชันโรงพันธุ์ใหญ่ก็หาอาหารได้ปริมาณมากกว่าสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก

เลี้ยงได้ทุกที่ที่มีต้นไม้ที่ดูร่มรื่น

ธรรมชาติของชันโรงนั้นต้องการเกสรมากกว่าน้ำหวาน เพื่อไปเตรียมอาหารที่มีความหนาแน่นสูง เมื่อนางพญาวางไข่ลงไปแล้วสามารถฟักอยู่ในผิวอาหารได้ ชันโรงมักจะตอมดอกไม้ที่มีโครงสร้างเป็นดอกเปิดมองเห็นเกสรได้ชัดเจน และมีปริมาณเกสรมาก โดยทั่วไปชันโรงจะเก็บเกสร ร้อยละ 80 และเก็บน้ำหวานเพียง ร้อยละ 20 การเก็บเกสรของชันโรงบนดอกไม้จะลงตอมดอกทุกดอก โดยไม่มีพฤติกรรมการเลือกชอบ และหากินในบริเวณไม่ไกลจากรังมากนัก จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงนั้นมีราคาค่อนข้างสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

“ผมตัดสินใจเลือกอาชีพเลี้ยงชันโรงหรือผึ้งจิ๋วเป็นอาชีพ ตอบได้เลยว่า ผมอยู่ได้เพราะผึ้งจิ๋วชันโรงครับ และภรรยาผมยังได้ศึกษาเรื่องการแปรรูปผลผลิตทั้งหมดของผึ้งจิ๋วหรือชันโรงมาเป็นรูปแบบของสบู่เพื่อสมุนไพรที่มีส่วนผสมของผึ้งจิ๋วเป็นหลักและน้ำผึ้งบริสุทธิ์ ที่ได้จากผึ้งจิ๋วที่คัดเลือกคุณภาพ ที่มีกลิ่นหอมจากดอกไม้ธรรมชาติรอบๆ สวน รวมทั้งยังหอมด้วยสมุนไพรหลากหลายที่ผึ้งจิ๋วไปสรรหามาเก็บในรัง ตอนนี้ที่สวนผมได้พัฒนาตัวล่อผึ้งจิ๋วเข้ารัง หรือเรียกว่า ฟีโรโมน เป็นที่ต้องการของตลาด จากการที่ผมทดลองเป็นเคล็ดลับของผม ขายดีและทำให้เกษตรกรมือใหม่ทำงานได้ง่ายขึ้น บรรจุขวดใช้ทาปากปล่องกล่องรังผึ้งจิ๋ว ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าใจรักและคร่ำหวอดอยู่กับงานที่เรารับผิดชอบก็สร้างเงินได้ครับ” คุณนพเกล้า กล่าว

การวางกล่องชันโรงเป็นชั้นๆแบบนี้ก็ได้

ใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงเยอะมั้ย

มีวิธีเลี้ยงกี่แบบ

พื้นที่เลี้ยง ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงด้วย คุณนพเกล้าเพาะเลี้ยงที่จังหวัดปทุมธานี 11 ไร่ มีทั้งหมดหลายร้อยรัง ขอให้มีแหล่งอาหาร สำหรับมือใหม่สามารถเลี้ยงข้างบ้านได้ ถ้ามีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังมีเลี้ยงอีกที่หนึ่งคือ จังหวัดตรัง

การเพาะเลี้ยงในปัจจุบันนี้มีหลายแบบ แต่ที่ประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาของผมจนถึงปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งนั้น มีสองวิธีคือ เลี้ยงในกระบอกไผ่ และเลี้ยงในกล่องหรือลังไม้ ดังนี้

กล่องรังผึ้งจิ๋วที่มีขนาดเล็กจำนวนหลายกล่องในพ้นื ที่สวนยางพารา

การเลี้ยงในกระบอกไผ่

  1. 1. ใช้กระบอกไม้ไผ่แห้ง ด้านในไม่มีขุย ขนาดกว้างประมาณ 3-4 นิ้ว ยาว 1-2 ฟุต เจาะรูด้านหน้า ถ้าสองข้อให้เจาะทะลุตรงกลางโดยเหล็กเส้นกระทุ้งผ่าน
  2. 2. ใส่หัวเชื้อฟีโรโมนล่อชันโรงรอให้แห้ง 1 คืน
  3. 3. นำไปล่อตามสถานที่ต่างๆ ที่มีชันโรง
  4. 4. เมื่อชันโรงเข้าแล้ว 2-3 เดือน จึงย้ายลงกล่องเลี้ยง เพื่อง่ายต่อการเก็บน้ำผึ้งและขยายพันธุ์

การเลี้ยงในกระบอกไผ่ก็ดี แต่รังไผ่ใช้ได้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง เพราะผ่าออกตอนเก็บน้ำผึ้งก็นำกลับมาใช้ไม่ได้แล้ว จะต้องเปลี่ยนรังกระบอกไผ่ทำให้ยุ่งยากกว่า แต่ผลของการให้น้ำผึ้งเหมือนกันกับรังกล่องไม้

ผึ้งจิ๋วกำลังหาอาหารจากดอกไม้และช่วยผสมเกสร

เลี้ยงในกล่องหรือลังไม้ การเลือกรัง (กล่องเลี้ยงชันโรง)

  1. 1. ต้องหาง่าย ราคาไม่แพง ใช้ประโยชน์ได้ดี สะดวกในการปฏิบัติงาน
  2. 2. รังต้องรักษาอุณหภูมิได้คงที่ และคงทนต่อสภาพแวดล้อมภูมิอากาศได้ดี
  3. 3. ชันโรงแต่ละชนิดมีขนาดการสร้างรังแตกต่างกัน จำเป็นต้องมีรังขนาดความกว้างตามชนิดของชันโรง
  4. 4. รังต้องสามารถแยกขยายได้ง่าย สะดวกในการปฏิบัติงาน
  5. 5. สามารถสังเกตดูพฤติกรรมของชันโรงได้ง่ายและสะดวก

การเลี้ยงทั้งสองแบบโดยวางรังชันโรงให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการหาอาหารและผสมเกสรในอัตราส่วน 4 รัง ต่อไร่ รัศมีการบิน 300 เมตร จากรัง ถ้าให้ง่ายต่อการเลี้ยงผมก็แนะนำทั้งสองแบบได้ โดยเฉพาะในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อชันโรงเข้าอยู่ติดแล้ว  ประมาณ 2-3 เดือน ก็ย้ายลงกล่องเลี้ยง เพื่อง่ายต่อการเก็บน้ำผึ้ง

เลี้ยงผึ้งจิ๋วได้ทุกที่ใกล้บริเวณบ้านที่ปลกู ต้นไม้และสวนครัว

สายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับเลี้ยงได้ทั่วทุกภาคในบ้านเรา

ในบ้านเรามีหลายสายพันธุ์ ในที่นี้จะพูดถึงสายพันธุ์ตระกูลหลังลาย สายพันธุ์ขนเงิน สามารถเลี้ยงได้ทุกภาค สำคัญที่แหล่งอาหาร ต้องมียางไม้ เกสร น้ำหวานดอกไม้ และแหล่งน้ำ เท่าที่ผมได้ทดลองและลองผิดลองถูกมานั้น ก็สองสายพันธุ์นี้แหละครับ จากประสบการณ์ตรงของผมที่อยากจะแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ครับ

ในปัจจุบันนี้ที่สวนของคุณนพเกล้าได้สร้างกล่องที่มีหลายขนาดแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งการใช้ฟีโรโมนหรือน้ำยาที่เลียนแบบกลิ่นเพื่อการดึงดูดชันโรงเข้ามาอยู่รังใหม่และสร้างรังให้เร็วขึ้น

ความเป็นอยู่ของชันโรงภายในรังกล่องไม้

ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว ในแง่ของการเป็นหมอยามาแต่โบราณกาล

ในสมัยโบราณนั้น มนุษย์มักสังเกตพฤติกรรมของชันโรงที่ออกเก็บรวบรวมชันผึ้ง (Propolis) ในทุกๆ วัน ซึ่งชันโรงจะออกหากินในระยะที่ไม่เกิน 300 เมตร ประกอบกับความเชื่อที่ว่ากันว่า ชันโรงมีความสามารถในการเลือกพืชที่มีสารนำมาฆ่าเชื้อโรคภายในรังของพวกมันได้  มนุษย์จึงนิยมปลูกพืชสมุนไพรที่ต้องการทำเป็นยารักษาโรคมาปลูกรอบๆ บริเวณรังของชันโรง เพื่อให้เหล่าชันโรงได้เก็บเกสรและน้ำหวานจากพืชสมุนไพร เมื่อมนุษย์นำผลผลิตจากชันโรงไม่ว่าจะเป็นเกสรผึ้ง หรือน้ำหวานมารับประทานก็จะมีสรรพคุณทางยาตามพืชสมุนไพรที่ปลูกไว้บริเวณรอบๆ รัง หากนำน้ำผึ้งจากชันโรงมาผสมกับยาสมุนไพรปั้นเป็นเม็ดกลมๆ เก็บไว้รับประทาน เรียกว่า ยาลูกกลอน

นอกจากได้น้ำผึ้งจากชันโรงแล้ว ประโยชน์อีกอย่างที่ได้จากชันโรงคือ พรอพอลิส (Propolis) คือสารเหนียวคล้ายยางไม้ มีสีน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ผึ้งสร้างพรอพอลิส โดยที่ผึ้งงานเก็บรวบรวมยางไม้หรือของเหลวที่ได้จากใบ หน่ออ่อน จากตา หรือเปลือกพืชหลากหลายชนิดและนำมาผสมกับเอนไซม์ของผึ้งที่หลั่งออกมาจากต่อมบริเวณหัวและช่องท้องของผึ้งจิ๋ว

ผลผลิตทั้งน้ำผึ้งชันโรงบริสุทธ์ิและแปรรูปเป็นสบู่และเครื่องสำอาง

ประโยชน์ของพรอพอลิส

  1. 1. ใช้ในทางการแพทย์ นำมาสกัดสารที่ต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เป็นส่วนประกอบในการทำยารักษาโรคมนุษย์และสัตว์ ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสใช้ผสมเป็นยารักษาโรคทาง หู คอ จมูก และโรคผิวหนัง
  2. 2. ใช้บรรเทาพิษที่เกิดจากผึ้งต่อย โดยขูดสารออกจากคอนผึ้งมาละลายในแอลกอฮอล์ หรือน้ำมันมะกอก เก็บไว้ใช้ทาเวลาถูกผึ้งต่อย จะบรรเทาอาการเจ็บปวดบวมได้
  3. 3. ใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง

ท่านที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมเชิญติดต่อมาได้ที่ บ้านสวนษิริจันทร์ โดย คุณนพเก้า ใจสมุทร หรือ คุณอุไรวิมล วังบุญ  เลขที่ 74 ตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 92180 เบอร์โทร. 062-394-4982