ลมหายใจของบ่อโพธิ์ เกลือสินเธาว์ แห่งหุบเขาเมืองนครไทย

ต้นเดือนธันวาคม อุณหภูมิในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มลดต่ำลงเหลือไม่ถึง 20 องศาเซลเซียส ในช่วงเช้า ขณะที่ผมและเพื่อนสิบคน ออกทริปปั่นจักรยานทัวริ่งจากอุตรดิตถ์ เป้าหมายไปยังเมืองหนองคาย

ในวันที่สาม เราเก็บเต๊นท์ ปั่นออกจาก อบต.บ่อโพธิ์ ไต่ระดับอยู่บนถนนข้ามสันเขาลูกแล้วลูกเล่าของอำเภอนครไทย ก่อนจะถึงรอยต่ออำเภอด่านซ้าย เราก็เริ่มเห็นเพิงขายเกลือสีขาวสะอาดเป็นระยะ พร้อมกับป้าย “บ่อเกลือพันปี” ชี้บอกอยู่ข้างทาง

ที่ว่านักปั่นทัวริ่งมักได้รับความเมตตาเป็นกันเองจากผู้คนนั้นคงเป็นเรื่องจริง เพราะคุณยายเจ้าของเพิงเกลือเจ้าหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างยิ้มแย้ม ถึง “เกลือบ่อโพธิ์” ที่ต้มจากน้ำเกลือของบ่อเก่าแก่แห่งเดียวในย่านนี้ ผมซื้อเกลือถุงเล็กของคุณยายมาหนึ่งถุง แล้วก็เริ่มปั่นต่อตามที่คุณยายบอก ว่า “ข้างหน้านี่แหละเดี๋ยวก็ถึงบ่อแล้ว คุณเข้าไปดูได้เลยจ้ะ แต่ต้องลัดเลาะลงไปข้างทางอีกหน่อยนึงนะ”

น่าเสียดายที่ “บ่อโพธิ์” ที่ผมปั่นเข้าไปจนถึงตัวบ่อในวันนั้นยังไม่เริ่มทำเกลือกัน สภาพที่พวกเราเห็นจึงเป็นเพียงบ่อดินตื้นเขินริมลำน้ำเฟี้ย มีศาลไม้หลังเล็กๆ ตั้งอยู่ถัดไป เมื่อสอบถามชาวบ้านก็ได้ความว่า จะมีการลอกบ่อเพื่อเริ่มตักน้ำเกลือมาต้มทำเกลือกันในวันที่ 15 ธันวาคม จากนั้นกระบวนการต้มก็จะดำเนินไปจนกระทั่งถึงฤดูฝนปีหน้า ราวเดือนมิถุนายน จึงปิดบ่อ ยุติการต้มเกลือ

เราจำต้องปั่นออกจากบ่อโพธิ์ ต่อไปด่านซ้าย ผ่านเพิงร้านขายเกลือและเครื่องจักสานริมเส้นทางเล็กๆ นั้นไป ท่ามกลางอากาศที่เริ่มอุ่นขึ้นตามแสงตะวันยามสาย

…………….

อย่างไรก็ดี ผมโชคดีที่ได้ผ่านเส้นทางเล็กๆ นี้อีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนธันวาคม คราวนี้ผมขับรถตู้ ตรงเข้าไปบ่อโพธิ์เลยทีเดียว ภาพที่คิดว่าจะได้เห็นคือชาวบ้านคงมาต่อคิวหาบน้ำเกลือไปต้มที่บ้านของตนบ้าง ตั้งเตาต้มข้างบ่อริมลำน้ำเฟี้ยนั้นเลยบ้าง มีกลุ่มควันลอยโขมงเป็นหย่อมๆ จากตรงนั้นตรงนี้ คงดูครึกครื้นสมกับเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์สำคัญของหุบเขาเมืองนครไทยมายาวนานเลยทีเดียว

แต่ผมคาดผิดไปถนัด

บ่อโพธิ์ มีร่องรอยว่าขุดลอกไปแล้วจริงๆ บริเวณโดยรอบถูกถากถางปรับพื้นที่ ดินในบ่อที่ผมเห็นวันปั่นจักรยานไม่มีแล้ว กลายเป็นน้ำใสๆ เต็มบ่อลึก ที่เห็นว่าสวมไว้ด้วยโพรงไม้ต้นใหญ่ คงช่วยให้ตักน้ำเกลือได้ง่ายขึ้น

แต่ไม่มีใครอยู่ หรือเวียนมาทำกิจกรรมใดๆ ที่บ่อเลย

ป้าคนหนึ่งที่ตรงศาลานั่งพักบอกว่า เขาลอกบ่อกันไปแล้ว แต่ “ตอนนี้เพิ่งมีต้มอยู่เจ้าเดียวเอง เขาอยู่ข้างบนโน้น เดี๋ยวคงมาตักน้ำเกลือแหละ”

ชั่วอึดใจ ผมก็เห็นพี่สาวคนหนึ่งหาบคอนกระป๋องพลาสติกหลายใบออกมาจากดงไม้ที่เชื่อมต่อกับถนนหลวงด้านบน เมื่อตามไปดู จึงได้เห็นว่า ที่พี่เขาต้องทำ คือฉวยไม้ยาวตรงปากบ่อ ที่มีคนผูกกระป๋องน้ำไว้ที่ตรงปลาย กดจ้วงลงไปในบ่อน้ำเกลือจนลึกสุดด้าม (ไม้น่าจะยาวราว 3 เมตร) เพื่อ “ตักเอาน้ำเกลือด้านล่างขึ้นมา มันจะเค็มกว่าน้ำด้านบนจ้ะ” แล้วก็เทใส่กระป๋องที่หาบคอนมาจนเต็มครบ จากนั้นค่อยทยอยหาบกลับขึ้นไปบนลาดเขา ผ่านดงไม้หลังบ่อขึ้นไป ซึ่งเมื่อผมเดินตามไป ก็พบว่าเป็นทางเดินขึ้นไปบนถนนหลวง ซึ่งชันมากๆ แถมยังไม่ได้ถากถางให้เดินสะดวกแต่อย่างใด ระยะทางก็ราว 200 เมตรเศษ ดีที่ว่าพอขึ้นไปก็มีคนมาช่วยอีกสองคน

กระป๋องน้ำเกลือที่ลำเลียงขึ้นมาได้ จะถูกเอาไปเทเติมไว้ในถังใต้เพิงริมถนน ที่ข้างๆ ถังนั้นคือเตาดินก่อใหม่ ประกบขอบสองข้างด้วยไม้ไผ่ตีฟากเป็นกรอบ เตาฟืนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ นี้คงมีรูปแบบเช่นเดิมมานานนับร้อยๆ ปี มันรองรับกระทะเหล็กขนาดค่อนข้างใหญ่สองใบ ที่มีน้ำเกลือเดือดพล่านเต็มทั้งสองกระทะ เมื่อผมเดินเท้าขึ้นไปเห็น

“ต้มไปสักสามชั่วโมงก็แห้งเป็นเม็ดเกลือแล้วจ้ะ เราก็ตักเอาใส่ถัง กรองให้แห้ง ส่วนน้ำเกลือที่หยดลงมานั่นก็เอากลับมาต้มได้อีก” พี่มาลัย มังกุด บอกว่า เธอช่วยที่บ้านต้มเกลือบ่อโพธิ์นี้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และเมื่อออกจากโรงเรียนมาแล้วก็ยึดอาชีพต้มเกลือมาตลอด เธอเล่าพลางเอากระชอนผ้าช้อนคราบสีน้ำตาลที่ลอยเป็นฝาในกระทะออกอยู่ตลอดเวลา

น้ำเกลือสีน้ำตาลอ่อนๆ ที่หาบจากบ่อโพธิ์ขึ้นมานี้ พี่มาลัย บอกว่า เอาลงต้มได้เลย เพราะมีความเค็มเข้มข้นอยู่แล้ว ผมลองจุ่มนิ้วชิมดู คิดว่าใกล้เคียงรสน้ำปลาเลยทีเดียว

“กระทะแรกๆ หลังจากเปิดบ่อ จะยังสีน้ำตาลแบบนี้ พอต้มก็อาจจะได้เกลือสีนวลๆ หน่อย แต่รออีกไม่นาน มันก็ใส เราจะได้เกลือสีขาวกว่าที่เห็นนี่อีกหน่อยน่ะ” พี่มาลัย ว่า “แต่ถ้าเราใส่ฟืนเยอะ ไฟแรงเกินไป จะได้เกลือน้อยกว่าเราต้มไฟอ่อนกว่าหน่อย ฟืนนี่เราไปเอามาจากป่า แล้วเราต้องหาต้น ‘จะแค’ เอามาสับท่อนเล็กๆ ให้ติดเปลือก ผูกเชือกห้อยไว้ตอนเราเริ่มต้มน้ำเกลือด้วยนะ เปลือกจะแคนี่ใส่แล้วเกลือมันจะตกผลึกดี แต่ต้องคอยเอาออก เพราะไม่งั้นผลึกเกลือมันจะใหญ่เกินไป” พี่มาลัย บอกว่า เกลือที่เธอต้มนี้ไม่ใส่ไอโอดีน ไม่ใส่แป้งมัน หรือแป้งข้าวเจ้าผสมเหมือนบางที่ เรียกว่าเป็นเกลือสินเธาว์แท้ๆ เลยทีเดียว

แต่ก่อน คนบ่อโพธิ์ต้มเกลือกันแทบทุกบ้าน ทั้งไว้ใช้เอง หรือไม่ก็เอาแลกข้าวเปลือก ในอัตราส่วน 1 : 1

“ปีนี้ฉันเริ่มต้มคนแรก ตอนนี้ที่ยังมีทำกันอยู่ ก็เหลือแค่บ้านยายหยวก แม่เอ็ม แม่อุ๊ย แม่ดับ เท่านี้แหละจ้ะ เด็กๆ เขาก็คงไม่ทำต่อกันแล้ว”

เกลือต้มของพี่มาลัยมีรสเค็มเนียนเจือหวานอ่อนๆ ด้วยในตอนท้ายของการลิ้มรับรส เรียกว่าอร่อยนัวทีเดียวครับ เกลือสินเธาว์ดีๆ แบบนี้ คนทำมักขายราคาถูกมากๆ จนผมต้องแอบเชียร์ให้ขายแพงขึ้นอีกนิดทุกครั้งทุกแห่งที่ได้ไปพบ อย่างของพี่มาลัยนี้ ขายถุงเล็ก 3 ถุง แค่ 50 บาท ถุงใหญ่ 100 บาท ใครสนใจลองถามไถ่ไปได้ที่ คุณเอ้ย ลูกสาวพี่มาลัย โทรศัพท์ (098) 165-7331 นะครับ

…………….

ถ้าดูจากภูมิประเทศ บ่อโพธิ์ ซึ่งอยู่ริมลำน้ำเฟี้ย ในเขตตำบลบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเกลือสินเธาว์ “ปลอดสาร” เพราะบริเวณโดยรอบไม่ได้มีการทำเกษตรขนานใหญ่ใดๆ การปนเปื้อนสารเคมีจึงไม่มี นับเป็นข้อได้เปรียบกว่าแหล่งอื่นๆ

เขตนครไทย มีแหล่งโบราณคดีและเมืองโบราณสำคัญๆ ที่มีอายุตั้งแต่สมัยสุโขทัยหลายแห่ง เช่น เมืองบางยางในจารึกหลักที่ 1 ก็อยู่ไม่ห่างจากแหล่งนี้ งานศึกษาของนักวิชาการท้องถิ่นพบร่องรอยเครือข่ายการค้าเกลือระหว่างบ่อโพธิ์กับบ้านเมืองอื่นๆ เช่น หล่มเก่า หล่มสัก มาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงและกษัตริย์สุโขทัยล้วนเสวยเกลือบ่อโพธิ์ ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าใดนักหรอกครับ

ผมมานึกสงสัยว่า เพิงขายเกลือข้างทางย่านบ่อโพธิ์ก็มีมาก แล้วทำไมพี่มาลัยถึงบอกว่าเหลือคนต้ม “เกลือโบราณพันปี” อยู่แค่สี่ห้ารายเองล่ะ สอบถามไปมาก็ทราบความจริงอันชวนเจ็บปวด ว่าเกลือที่วางขายจำนวนมากนี้ เกือบทั้งหมดเป็นเกลือจาก “ที่อื่น”

“เขาเอามาจากบ้านดุงน่ะ” ตอนแรกผมแทบไม่เชื่อหูตัวเอง แต่เมื่อลองเดินดูหลายร้าน พบว่ามีเกลือเม็ดใหญ่ขายปนอยู่ด้วย ก็เป็นอันแน่ชัด เพราะคนบ่อโพธิ์ไม่ต้มเกลือเม็ดลักษณะนี้แน่นอน เรื่องก็มีอยู่ว่า หลายปีก่อน เกิดอุทกภัยใหญ่ ทำให้ต้มเกลือไม่ได้ ต้องนำเข้าเกลือสินเธาว์จากอุดรธานีมาขาย แล้วกิจกรรมนั้นก็เป็นที่นิยมสืบมาจนถึงทุกวันนี้ มันทำให้ผมนึกถึงชื่อเสียงของมะนาวท่ายาง เห็ดโคนเมืองกาญจน์ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ฯลฯ ที่วัตถุดิบจากทุกสารทิศถูกขนส่งมุ่งสู่แหล่งอันมีชื่อเสียงเหล่านั้น และจำหน่ายออกไปภายใต้ชื่ออันมิใช่แหล่งกำเนิดที่แท้จริงของตัวมันเอง

เมื่อตระหนักชัดว่า ผมได้ปั่นจักรยานมาซื้อเกลือบ้านดุงที่หุบเขาเมืองนครไทยไปหนึ่งถุง ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม มันก็ทำให้ผู้บริโภคอย่างผมได้ครุ่นคิดไตร่ตรองอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งคงไม่สามารถชวนคุยได้หมดในที่นี้นะครับ แต่อย่างน้อย บทเรียนของการไถ่ถามก็ย่อมย้ำเตือนว่า ข้อมูลรายละเอียดของสิ่งของที่เราจะซื้อนั้นสำคัญเสมอ เนื่องเพราะมันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ตามทัศนะของเราในช่วงเวลานั้นๆ

จริงอยู่ เกลือนั้นเค็มทุกเม็ด ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน แต่รสชาติของตาน้ำ ผืนดิน แร่ธาตุ หยาดเหงื่อ และลมหายใจของผู้คนเป็นของเฉพาะถิ่น มันย่อมประกอบกันขึ้นเป็นรสชาติของแรงงานการผลิตที่ไม่มีใครเหมือน อันควรได้รับการกล่าวถึงอย่างเคารพ ซื่อสัตย์ จริงใจ และมีศักดิ์ศรี

ถ้ามีโอกาส ลองไปชิมเกลือบ่อโพธิ์ จากบ่อเกลือพันปี กลางหุบเขาเมืองนครไทยจริงๆ สักครั้งหนึ่งสินะครับ