รู้จัก เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ในอดีตปัญหาเกี่ยวกับแมลงศัตรูที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทาน และปรับตัวได้ดี แต่ปัจจุบันการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังกลายเป็นปัญหาสำคัญและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีรายงานการระบาด เมื่อต้นปี 2551 และขยายวงออกไปตามแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร ระยอง ชลบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครราชสีมา สาเหตุสำคัญของการระบาดอย่างกว้างขวางคือ การใช้ท่อนพันธุ์ที่มีเพลี้ยแป้งไปปลูกโดยไม่มีการจัดการให้ท่อนพันธุ์สะอาดก่อน ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลัง ในปี 2552 ที่คาดว่าจะมีถึง 27 ล้านตัน ลดลงเหลือประมาณ 19 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งกระทบต่อธุรกิจมันสำปะหลังโดยตรง และกระทบการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

ลักษณะการทำลายของเพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้ง ทำความเสียหายต่อมันสำปะหลัง โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ เช่น ใบ ยอด และตา ในส่วนของต้นที่ยังอ่อนอยู่ ยอดที่ถูกทำลายจะงอหงิกเป็นพุ่ม ลำต้นจะบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่ ทำให้มีผลต่อคุณภาพท่อนพันธุ์ หัวมีขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ หากการระบาดรุนแรงยอดจะแห้งตาย ถ้ามีระบาดในช่วงที่มันสำปะหลังอายุน้อย อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังตายหรือไม่สามารถสร้างหัวได้ เพลี้ยแป้งจะระบาดรุนแรงในฤดูแล้งมากกว่าในฤดูฝน โดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แปลงที่มีการระบาดอย่างรุนแรง ความเสียเกิดขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

เพลี้ยแป้ง ดูดน้ำเลี้ยงจากมันสำปะหลัง โดยใช้ปากที่มีลักษณะเป็นท่อยาวแทงเข้าไปในส่วนของใบ ยอด หรือตา จากนั้นจะขับถ่ายมูลที่มีลักษณะเป็นของเหลวเหนียวๆ ออกมา เรียกว่า มูลหวาน ซึ่งจะเป็นที่อาศัยและอาหารของราดำ เมื่อราดำเจริญเติบโตทำให้การสังเคราะห์แสงของมันสำปะหลังเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่

 

ชนิดของเพลี้ยแป้งสำปะหลัง

เป็นแมลงปากดูด ลำตัวมีขนาดเล็ก อ่อนนุ่ม มีไขแป้ง ปกคลุมลำตัว มีเส้นแป้งอยู่รอบลำตัว ที่พบระบาดในมันสำปะหลัง ปัจจุบันพบแล้วอย่างน้อย 4 ชนิด ได้แก่

  1. เพลี้ยแป้งลาย พบระบาดทั่วไปแต่ยังไม่เคยสร้างปัญหารุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ลักษณะที่สำคัญที่มองเห็นได้ชัดเจนคือ ตัวเต็มวัยเพศเมียค่อนข้างยาวรี มีเส้นแป้งยาว 1 คู่ ทางส่วนท้าย หากแป้งด้านหลังหลุดออกจะมองเห็นจุดสีเข้ม 2 แถบ ทางด้านหลัง
  2. เพลี้ยแป้งสีเทา หรือเพลี้ยแป้งแจ็กเบียดส์เล่ย์ คล้ายกับชนิดแรก ต่างกันที่ด้านข้างมีเส้นแป้งจำนวนมากรอบลำตัว
  3. เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว ตัวเต็มวัยเพศเมียคล้ายรูปไข่ มีสีเขียวอ่อนแตกต่างจาก 2 ชนิดแรก คือ มีเส้นแป้งด้านข้างสั้นและด้านหลังมีแป้งปกคลุมน้อย
  4. เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ตัวเต็มวัยเพศเมียคล้ายรูปไข่ มีสีชมพูรูปร่างคล้ายชนิดที่ 3 แต่แตกต่างกันที่มีสีชมพู และแตกต่างจาก 2 ชนิดแรก คือมีเส้นแป้งด้านข้างสั้นและด้านหลังมีแป้งปกคลุมเล็กน้อย การระบายของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังมีมานานแล้ว แต่ไม่เคยทำความเสียหายรุนแรง สำหรับเพลี้ยที่ทำความเสียหายให้กับมันสำปะหลังอย่างรุนแรงคือ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ขยายพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศคือ เพศเมียไม่ต้องได้รับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ สำหรับเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูวางไข่ลักษณะเป็นฟองเล็กๆ ในถุง ไข่มีสีเหลืองอ่อน ลักษณะยาวรี มีใย คล้ายสำลีหุ้มไว้ เมื่อใกล้ฟักไข่จะมีสีเข้มขึ้น ระยะไข่ประมาณ 8 วัน ตัวอ่อนลอกคราบ 3 ครั้ง ตัวอ่อนวัยแรก มีลำตัวยาวรีสีเหลืองอ่อน เป็นวัยที่เคลื่อนที่ได้ และมองเห็นขา 6 ขา ได้ชัดเจน อายุประมาณ 4 วัน จะลอกคราบเป็นวัยที่ 2 หลังจากลอกคราบจะไม่เห็นส่วนของขา และเริ่มสร้างแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ระยะตัวอ่อนวัยที่ 2 ประมาณ 4 วัน และระยะที่ 3 ประมาณ 5 วัน จะเป็นตัวเต็มวัย ระยะเวลาตั้งแต่ระยะไข่จนเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 21 วัน เท่านั้น และวางไข่ได้มากถึง 500 ฟอง

ความเสียหาย

การระบาดของเพลี้ยแป้งรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ระยะห่างจากพื้นที่ระบาด สภาพภูมิอากาศลักษณะของดินที่ปลูก และอายุมันสำปะหลังขณะถูกทำลายก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ดังนี้

– ต้นทุนสูงขึ้น การระบาดขณะต้นมันสำปะหลังอายุน้อย มีความรุนแรงมากกว่าการระบาดในต้นที่มีอายุมาก ในกรณีที่รุนแรงมากอาจต้องไถทิ้งและปลูกใหม่ แต่มักประสบปัญหาระบาดซ้ำอีก เนื่องจากยังมีเพลี้ยแป้งหลงเหลืออยู่บนซากต้น และมีการระบาดจากแปลงข้างเคียง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์เพิ่มขึ้น และพ่นสารฆ่าแมลง

– ผลผลิตลดลงชัดเจน จากการสุ่มเก็บผลผลิตมันสำปะหลังในแปลงที่มีการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่พบการแพร่ระบาด พบว่า ผลผลิตลดลงประมาณ 20-80 เปอร์เซ็นต์ และในเขตที่ปลูกมันสำปะหลังข้ามปี การปลูกข้ามแล้งอาจทำให้หัวมันเน่าได้

– ใช้สารฆ่าแมลงมากและใช้ไม่ถูกต้อง เช่น เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงไม่เหมาะกับชนิดของแมลงศัตรูพืช บ่อยครั้งที่พบว่าเกษตรกรไม่รู้จักชนิดของศัตรูพืช ทำให้การใช้สารกำจัดศัตรูพืชไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิด “แมลงดื้อยา”

– เขตกรรมต้องเปลี่ยน เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเกิดการระบาด โดยอาศัยปริมาณฝนที่มากพอและมีฝนรวมทั้งการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้ต้นมันสำปะหลังอุดมสมบูรณ์ ต้นมันสำปะหลังที่แข็งแรงสมบูรณ์เพลี้ยแป้งจะไม่ค่อยเข้าทำลาย

ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานข้าราชการ ธุรกิจเอกชน สมาคมที่เกี่ยวกับข้อง รวมทั้งเกษตรกรจะต้องร่วมมือกันหาทางในการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดความเสียหายและลดผลกระทบดังกล่าว

การควบคุมเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังอย่างถูกต้อง

สามารถทำได้โดยวิธีเขตกรรม และวิธีกล ได้แก่ การไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้งและศัตรูพืชอื่นๆ ที่อยู่ในดิน หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังที่อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังงอกและระยะแรกของการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเพลี้ยแป้ง เมื่อตรวจพบเพลี้ยแป้งเริ่มเข้าทำลาย ให้ถอนต้นหรือตัดส่วนที่มีเพลี้ยแป้งนำไปเผาทำลาย และหากจำเป็นต้องปลูกใหม่ให้ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาดและแมลงเบียน โดยกำหนดแนวทางการควบคุมตามพื้นที่ที่พบการระบาด ดังนี้

  1. พื้นที่ที่ยังไม่พบการระบาด

1.1 ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดปราศจากโรคและแมลงทำลาย หรือไม่นำท่อนพันธุ์มาจากแหล่งอื่น

1.2 เก็บซากพืชออกจากแปลง ไถพรวนหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 14 วัน

1.3 แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงที่แนะนำก่อนปลูก เพื่อป้องกันเพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์หรือระบาดมาจากแปลงข้างเคียง เนื่องจากเป็นระยะวิกฤต จำเป็นต้องตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยแป้ง หรือลดจำนวนเพลี้ยแป้งให้น้อยที่สุด

  • ตรวจแปลงสม่ำเสมอทุก 2 สัปดาห์ (หากพบการระบาด ดูรายละเอียดใน ข้อ 2)
  1. พื้นที่การระบาดของเพลี้ยแป้ง

2.1 หลีกเลี่ยงการปลูกในฤดูแล้ง ควรปลูกช่วงต้นฝน ซึ่งฝนที่ตกต่อเนื่องจะทำให้การระบาดลดลง

2.2 ไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง ตากดินอย่างน้อย 14 วัน

2.3 ต้องแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีที่แนะนำเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้ง

2.4 ตรวจแปลงสม่ำเสมอทุก 2 สัปดาห์

2.5 มันสำปะหลังที่มีอายุ 1-4 เดือน หากพบระบาดไม่รุนแรง ให้ตัดยอดที่มีเพลี้ยแป้งเกาะอยู่แล้วพ่นสารฆ่าแมลงบริเวณที่พบ หากรุนแรงให้ถอนทิ้งทั้งหมดแล้วนำไปทำลายนอกแปลง

2.6 หากพบการระบาดในมันสำปะหลัง อายุ 5-8 เดือน ให้ตัดยอดหรือถอนต้นที่พบเพลี้ยแป้งนำไปทำลายนอกแปลง และพ่นสารฆ่าแมลงบริเวณที่พบและบริเวณโดยรอบที่มีการระบาดทันที

2.7 หากพบการระบาดในมันสำปะหลัง อายุมากกว่า 8 เดือน ควรเร่งเก็บผลผลิต ตัดต้นทิ้ง นำไปทำลาย แล้วปลูกพืชอื่นที่ไม่เป็นพืชอาศัยของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังแทน เช่น ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง หรือทานตะวัน

การใช้สารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง

การใช้สารเคมีฆ่าแมลงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันในระยะแรกของการปลูก และลดปริมาณแมลงศัตรูพืชในช่วงที่เพลี้ยแป้งระบาดรุนแรง

1.การแช่ท่อนพันธุ์ สารฆ่าแมลงที่แนะนำ คือ

  1. 1. ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  2. 2. อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  3. 3. ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

วิธีการแช่ท่อนพันธุ์

  1. ตัดท่อนพันธุ์ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ตา หรือขนาดพร้อมปลูก
  2. ผสมสารชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น ตามอัตราที่กำหนด และเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรผสมสารดังกล่าวข้างต้นไม่เกิน 80 ลิตร ต่อการแช่ท่อนพันธุ์ปลูกให้ได้พื้นที่ปลูกไม่เกิน 1 ไร่ เนื่องจากหากผสมมากเกินไป แล้วแช่ไปเรื่อยๆ ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่แช่ตอนท้ายๆ จะได้รับสารในความเข้มข้นที่ต่ำเกินไป ทำให้ระยะเวลาควบคุมเพลี้ยแป้งได้ต่ำกว่า 1 เดือน
  3. แช่เพื่อทำให้เพลี้ยแป้งที่ติดมากับท่อนพันธุ์ตายทั้งหมด และผลพลอยได้คือ สารฆ่าแมลงจะแทรกซึมในท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง หลังงอกสารฆ่าแมลงจะถูกเคลื่อนย้ายมาที่ใบและยอด สามารถป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้ประมาณ 1 เดือน
  4. เมื่อแช่ท่อนพันธุ์ไปสัก 3-4 ครั้ง น้ำในถังแช่จะลดลงให้ผสมสารในอัตราเดิมเทเพิ่มลงไปในถังแช่
  5. เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน ควรมีการตัดท่อนพันธุ์สำปะหลัง และทำการแช่สารฆ่าแมลง ตามคำแนะนำล่วงหน้าก่อนปลูก 1 วัน

2.การใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นทางใบ สารฆ่าแมลงที่แนะนำ คือ

  1. 1. ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  2. 2. ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  3. 3. โปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 ซีซี หรือมิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
  4. 4. พิริมิฟอส เมทิล 50% อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  5. 5. ไทอะมีโทแซม+แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7% ZC อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

วิธีการพ่นสาร

  1. 1. การพ่นสารเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ให้ใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น ลดอัตราลงครึ่งหนึ่ง ผสมกับสารไวท์ออยล์ 67% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
  2. 2. การผสมสาร ให้ผสมไวท์ออยล์และสารฆ่าแมลงในน้ำเพียงเล็กน้อยก่อน ใช้ไม้กวนให้เข้ากัน แล้วค่อยๆ เติมน้ำให้ครบที่กำหนด
  3. 3. ในพื้นที่ 1 ไร่ การพ่นต้องใช้อัตราพ่น 80 ลิตร/ไร่ และควรพ่นหงายหัวฉีดขึ้นและพ่นใต้ทรงพุ่ม
  4. 4. สำหรับมันสำปะหลังอายุไม่เกิน 4 เดือน ในพื้นที่อย่างน้อย 2 ครั้ง เนื่องจากการพ่นสารครั้งเดียวอาจกำจัดได้เฉพาะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แต่ไม่สามารถกำจัดไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยแป้งซึ่งอยู่ในถุงที่มีใยสีขาวได้ การผสมกับสารไวท์ออยล์สามารถลดต้นทุนได้
  5. 5. ควรมีการสลับใช้สารฆ่าแมลงเป็นกลุ่มชนิดอื่นบ้าง เพื่อป้องกันการต้านทานสารฆ่าแมลงของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อาจแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซมก่อนปลูก หลังจากต้นมันสำปะหลังงอกแล้ว ประมาณ 20 วัน ถึง 1 เดือน ให้ตรวจดูการระบาดของเพลี้ยแป้ง ถ้าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้พ่นด้วย สารกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (โปรไทโอฟอส 50% EC หรือพิริฟอสเมทิล 50% EC ชนิดใดชนิดหนึ่ง) อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เนื่ืองจากหลังแช่สารแล้วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ถ้ามีการระบาดของเพลี้ยแป้ง แสดงว่าเพลี้ยแป้งได้รับสารกลุ่มนีโอโคตินอยด์ ในอัตราต่ำอาจกระตุ้นให้สารกลุ่มนี้เช่นเดียวกับเด็กได้รับวัคซีน สำหรับครั้งต่อไปควรสลับหรือเปลี่ยนเป็นสารฆ่าแมลงกลุ่มอื่น เช่น นีโอนิโคตินอยด์ (ไทอะมีโทแซม อิมิดาโคลพริด ไดโนทีฟูแรน)

กลุ่มสารเคมีที่แนะนำให้ใช้การควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และควรนำมาใช้สลับกันในแต่ละช่วงอายุของเพลี้ยแป้ง ในชั่วอายุเดียวกันควรใช้สารกลุ่มเดียวกัน และสลับด้วยสารอีกกลุ่มเมื่อชั่วอายุต่อไป

กลุ่ม 1 นีโอโคตินอยด์ (ไทอะมีโทแซม อิมิดาโคลพริด ไดโนทีฟูแรน)

กลุ่ม 2 ออร์กาโนฟอสเฟต (พิริมิฟอสเมทิล โปรไทโอฟอส)

ไวท์ออยล์ที่ขายในท้องตลาด อาจมีเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นไม่เท่ากัน ให้ปรับลดหรือเพิ่มอัตราส่วนให้ได้เปอร์เซ็นต์ตามที่แนะนำ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 5795583

ที่มา สำนักงานวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช