เล่าไปในยามหนาว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน ลมหนาวพัดมาวอยๆ พัดเอาหัวใจไอ้หนุ่มบ้านนาไปหาสาวบ้านไกล ระอุไอจากกองไฟที่ก่อผิงกันหนาว นึกถึงบรรยากาศยามที่อยู่บ้านนอก รอบกองไฟ นอกจากคนในครอบครัว ญาติๆ กระทั่งเพื่อนบ้านแวะมาพูดคุยกันแล้ว หมาใหญ่หมาน้อยก็มาเบียดหาไออุ่นอยู่ข้างๆ เสมอ บรรยากาศการพูดคุย จิบชากาแฟกันบ้าง มีมันมีเผือกมาปิ้งมาย่างกินกัน ผมมองเห็นความงามที่ไม่ต้องเสกสรรปั้นแต่งใดๆ เป็นความงามในการดำรงชีวิต

แต่เหมือนฝันสลายในหน้าหนาว โควิดรอบสองกรายมา เริ่มตั้งแต่เชียงใหม่ เชียงราย ในช่วงต้นเดือนธันวาคม และมาเปรี้ยงปร้างก็ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนเกินครึ่งพัน เท่านั้นแหละ เหมือนโลกหยุดหมุนและหล่นลงมาทับเราจนหายใจหายคอไม่ออก ก็แหม! ช่วงวันหยุดยาว ช่วงเข้าเทศกาลแห่งความสุข ไม่ว่าจะเป็นคริสต์มาส ปีใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นช่วงเฉลิมฉลอง แต่แล้วความสุขของทุกคนก็ถูกข่าวโควิดช่วงชิงเอาไป เรื่องราวต่างๆ ที่ทำท่าจะสดใสก็กลับฟุบไปอีกรอบ ไม่รู้จะสงสารใครดี

ร่วมเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสาน BDP

ผมมีโอกาสเดินทางไปเปิดศูนย์เรียนรู้ BDP บุรีรัมย์เดทปาล์ม แหล่งศึกษาและหน้างานจริงของฟาร์มเกษตรผสมผสานที่ อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ โดย พี่สำเรือง พินงค์รัมย์ ผู้ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติจริงในพื้นที่กว่าร้อยไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ ส่งต่อไปเลี้ยงวัววากิว นำมูลวัวมาต่อยอดด้วยการเลี้ยงไส้เดือน ปลูกอินทผลัม

และไม่หนีเรื่องการทำนา โดยใช้วัตถุดิบทุกอย่างในฟาร์มหมุนเวียนไป เป็นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้อย่างสมบูรณ์มากๆ ที่สำคัญสุดก็ย่อมเป็นแรงงาน ที่นี่ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องหาแรงงานจากที่ไหน ใช้ลูกหลานญาติพี่น้อง ใครถนัดงานอะไรก็ไปทำหน้าที่ มีรายได้ มีสวัสดิการที่ดูแลเลี้ยงดูกันไปสบายๆ เป็นอีกหนึ่งศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรที่สำคัญมากๆ

แขกผู้มีเกียรติร่วมเปิดงานอย่างเป็นทางการ

บางเรื่องราวเราอาจมองข้ามไปนะครับ แต่พี่สำเรือง แกทดลอง แก้ไข ปรับปรุงจนทุกกิจกรรมในฟาร์มเข้าที่ สอดร้อยในทุกกิจกรรมส่งต่อถึงกัน มูลวัว ปกติก็เอาไปใส่นา ใส่อินทผลัมได้เลย แต่เมื่อนำมาเลี้ยงไส้เดือน ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น มูลไส้เดือนและตัวไส้เดือนก็ขายได้ นำมาใช้ในแปลงก็เป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพ ต้นทุนน้อย ก็ส่งผลให้มีกำไรมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเสาะหาจากแหล่งไหน ทุกอย่างมีใช้งานอยู่ในฟาร์มนั่นเอง

ระบบน้ำในฟาร์ม มีแทงค์ไว้หลายๆ จุด

และระบบน้ำก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเรียนรู้ ที่นี่วางแผนสู้แล้งด้วยการขุดสระและใช้น้ำบาดาลมาเสริม ในสระก็เลี้ยงปลาเป็นผลพลอยได้ในเรื่องอาหารอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญกว่านั้น ที่ฟาร์มแห่งนี้มีสายพันธุ์อินทผลัมที่หายาก ราคาแพง ที่ปลูกเอาไว้เพื่อเป็นรายได้สาธารณกุศล เพื่อเด็กนักเรียนในชุมชนแห่งนั้น

น้ำต้นทุนรอบแปลงมีอีกเยอะ

และที่อยากกระซิบดังๆ ก็คือ ที่ศูนย์เรียนรู้ที่ฟาร์มแห่งนี้ เปิดให้เข้ามาได้ฟรีๆ อยากอบรม อยากเรียนรู้แบบไหน พี่ๆ ที่อยู่ที่นี่ยินดีแนะนำให้อย่างไม่มีปิดบัง มีอาคารที่จุคนได้เกินร้อย ห้องน้ำมีพร้อมให้บริการครบครัน ถือเป็นการคืนสู่สังคมอย่างดงามของคนที่พร้อมให้

เพราะการเดินทางทำให้ได้เปิดหูเปิดตา ก่อนที่จะไปถึงฟาร์มของพี่สำเรืองนั้น เราได้แวะไปดูงานที่บ้านหนองตะไก้ อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา ที่นี่มีเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าทำ โดยมีแปลงปลูกทับทิมสายพันธุ์เมล็ดนิ่มทั้งของสเปนและอินเดีย โดยมีเป้าหมายในการรวมกลุ่มเกษตรกรผลิตผลสดจำหน่ายให้กับโมเดิร์นเทรดชื่อดัง ซึ่งปัจจุบัน มีการนำเข้าทับทิมปีละกว่า 400 ล้านบาท หากฝันที่ว่าประสบผลสำเร็จก็น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรไทยมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นเป็นแน่แท้ครับ

นายช่าง (สาว) ปิ๋ม กับไม้ฟอกอากาศ

นอกจากทับทิมแล้ว ใครจะคิดว่าด้วยสภาพที่ดูแห้งแล้งของพื้นที่ จะปลูกแบล็คเบอรี่ให้ติดผลผลิตได้ แต่เมื่อได้เห็นกับตาก็ต้องบอกว่า “นายแน่มาก” เถาแบล็คเบอรี่เลื้อยไปตามค้าง และแน่นอน ผลแดงๆ ดำๆ ติดอยู่เป็นพวง เป็นคำตอบว่าที่นี่ปลูกแบล็คเบอรี่ให้ผลผลิตแน่ๆ ผมลองเด็ดมาชิมแล้ว รสชาติตรงปากเสียด้วย นั่นคือเปรี้ยวอมหวานทับทิม, แบล็คเบอรี่ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของเกษตรกรไทยที่หวังปลูกเพื่อขายผลผลิตอย่างจริงจัง

แต่ยังมีอีกที่ผมแปลกใจไม่น้อยนั่นคือ การปลูกไม้ฟอกอากาศ ทั้งว่านงวงช้าง และลิ้นมังกร ทราบมาว่าลงทุนทำแปลงครั้งแรก เมื่อปักชำลงไปแล้ว ให้ปุ๋ยสูตรเสมอเพียงครั้งเดียวก็มีผลผลิตให้เก็บขายอย่างต่อเนื่อง ในราคาที่น่าสนใจไม่น้อย และใครจะเชื่อคนที่ผมพูดถึงนี้เธอเป็นนายช่าง (สาว) แห่ง กรมชลประทาน รอบนี้ผมแค่มาจั่วหัวเรียกน้ำย่อยก่อนครับ รับรองว่าอีกไม่นานจะนำมาเล่าให้เป็นเรื่องอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้ง กระซิบครับ เธอชื่อ นายช่าง (สาว) ปิ๋ม

ทับทิมเมล็ดนิ่ม รสชาติอร่อย
แบล็คเบอรี่แห่งอีสานบ้านเรา

ออกจากสวนนายช่างปิ๋ม ผมยังได้ไปแวะหาเจ้าของกระท่อมกินแดด ช่างดำ-พิชาญ ดัดตนรัมย์ ผู้ที่ตอบโจทย์คำว่าพอเพียง และการพึ่งตนเองได้อย่างไร้ที่ติ ด้วยความที่ไร่นาสวนผสมอยู่นอกหมู่บ้าน ระยะห่างจนไม่มีสายไฟเข้าไปถึง แต่ความขาดกลับมิใช่เรื่องใหญ่ เพราะกลับกลายเป็นพลังในการแสวงหาพลังงานอื่นที่มีความมั่นคงมากกว่า และพลังงานแสงแดดคือคำตอบ แผงโซล่าร์เซลล์ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ขุดสระเพื่อเก็บน้ำ นำน้ำมาใช้ในการเกษตร ทั้งทำนา สวนป่าผสมผสาน และแปลงผัก เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกเองและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

ช่างดำ กับระบบไฟที่ใช้ในสวนผสมผสาน

ผมเอ่ยคำถามง่ายๆ

“หากปิดเมืองสักเดือนจะอยู่ได้ไหม”

“กี่ปีก็ปิดไปโลดอ้าย ผมมีปัจจัย 4 ครบครับ ไม่ต้องออกจากบ้านเลยก็อยู่ได้ นา 2 แปลง ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โรงสีมีพร้อม น้ำมีเต็มสระ ปลาเพียบ ไผ่ที่ปลูกไว้ก็ให้หน่อตลอด กล้วยมีรอบสวน ไข่มี ปลามี ผักมี จะกินขนมเค้กขนมปังเราก็อบกินเอง แป้งเราก็ทำเอง ไฟเปิดทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนก็ไม่ต้องเสียค่าไฟ นั่นพี่ดู ตู้เย็น 2 ตู้ เอาแช่อาหารสดและอีกตู้เอาแช่เมล็ดพันธุ์ อยู่แบบพอเพียงแต่มีครบทุกอย่างครับ”

โรงสีข้าวพลังงานแสงอาทิตย์
สระน้ำที่มีน้ำต้นทุนไม่ขาดทั้งปี

ผมเดินตามช่างดำ ชมแต่ละจุดอย่างตื่นตาตื่นใจ มีน้ำ มีไฟ มีข้าว มีบ้าน มีสมุนไพรในป่า ทุกอย่างดูลงตัวและไม่ต้องออกไปแสวงหาสิ่งใดก็จริง แล้วมนุษย์เราต้องการเพียงปัจจัย 4 มิใช่หรือ อื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งแปลกปลอมทั้งสิ้น

เรื่องช่างดำต้องมาเก็บรายละเอียดอีกสักครั้งครับ รับรองว่าเปิดให้เห็นทุกมุมแน่นอน อย่าลืมดูแลตัวเองนะครับ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน รักษาระยะห่างในการอยู่ในสังคม เท่านี้ก็ปลอดภัยแน่นอนครับ