รัฐจับประมงผิดกม. ครึ่งปีอื้อ ขู่ ‘ใช้เรือผิดประเภท’ โดนแน่

กรมประมง-ศปมผ. เผยครึ่งปีเศษจับกุมผู้กระทำผิดกว่า 254 คดี “อดิศร” ขู่เอาจริงเรือประมงผิดประเภทแอบจับปลา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รวบรวมข้อมูลคดีเรือประมงผิดกฎหมายจากหน่วยตรวจระบบติดตามเรือประมง จึงประสานความร่วมมือร่วมกับ PIPO และ ศรชล. ในการจับกุมเพื่อดำเนินคดี พบรายงานผลการจับกุมผู้กระทำความผิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-ปัจจุบัน มีผู้กระทำความผิดแล้ว 254 คดี จำนวนผู้กระทำความผิดทั้งหมด 534 ราย ทั้งสิ้น 23 จังหวัด และพบว่า จังหวัดสงขลากระทำผิดมากที่สุด ถึง 26 คดี 21 ราย ฐานความผิดพระราชบัญญัติการประมง (พ.ร.ก.การประมง 2558)

หากแยกตามข้อกล่าวหา (ทะเล) ในห้วงระยะเวลา 6 เดือน ปีงบประมาณ 2560 พบว่า ส่วนใหญ่กระทำผิด ตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 แบ่งเป็น ความผิดฐานต่างๆ โดยตรวจยึดเครื่องมือลอบพับ 43 คดี ตรวจยึดเครื่องมือโพงพาง 33 คดี ใช้เครื่องมืออวลลากประกอบเรือยนต์ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง 26 คดี ตรวจยึดเครื่องมืออวนรุน 22 คดี เครื่องมืออวนรุนประกอบเรือยนต์ 21 คดี ใช้เครื่องอวนล้อมจับประกอบเรือยนต์ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง 15 คดี นอกจากนี้ ยังมีการกระทำฐานความผิดคำสั่ง คสช.ที่ 10/2558 กรณีนำเรือซึ่งมีบุคคลประจำเรือไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกทำการประมง อีก 19 คดี รวมถึงฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสิทธิการประมงในเขตการประมงไทย (2482) กรณีเป็นบุคคลต่างด้าวลักลอบทำการประมงในเขตการประมงไทย 17 คดี อื่นๆ อาทิ ทำการประมงพาณิชย์ผิดจากระบุในใบอนุญาตใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง

พลเรือโทวรรณพล กล่อมแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (สล.ศปมผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเรือประมงที่กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 3,345 คดี แยกเป็นประมงนอกน่านน้ำ 86 คดี ประมงในน่านน้ำ 934 คดี สถานแปรรูปสัตว์น้ำ 64 คดี ค้ามนุษย์ในภาคประมง 82 คดี ระบบติดตามเรือ 2,008 คดี และไม่แจ้งจุดจอดเรือ 171 คดี

ขณะที่ก่อนหน้านี้มีชาวประมงกว่า 2,000 ลำ ได้เข้าร้องเรียนผ่านสมาคมประมงให้มีการตรวจวัดขนาดเรือประมงใหม่ เนื่องจากกว่าการออกทำการประมงต้องแจ้งเข้าออกที่ศูนย์แจ้งเรือประมงเข้า-ออก หรือ PIPO หากขนาดเรือจริงไม่ตรงกับทะเบียนเรือก็ไม่สามารถออกเรือได้ จึงเป็นที่มาของการเร่งจดอัตลักษณ์เรือให้แล้วเสร็จภายในเดือนหน้า

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ปัญหาเรือประมงมีขนาด สภาพเรือไม่ตรงกับความเป็นจริง เจ้าหน้าที่แต่ละคนอาจมีวิธีการวัดแตกต่างกันได้ ซึ่งหากทะเบียนเรือไม่มีความชัดเจนจากเจ้าของเดิม กรมเจ้าท่าไม่มีอำนาจถอนทะเบียนเรือได้ ส่วนการลักลอบถอดวีเอ็มเอส หรือแจ้งตำแหน่งเรือนั้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำเข้ามาบางช่วงอาจขาดสัญญาณ ซึ่งพบว่ามีเรือประมงถอดวีเอ็มเอสจริง และไปฝากไว้เรือลำอื่น ทั้งนี้ จึงกำหนดให้ติดเครื่องวีเอ็มเอสให้เสร็จภายใน 2 เดือน ที่ผ่านมามีชาวประมงแจ้งความดำเนินคดี 2 ลำ

“จากนี้หน่วยราชการจะเข้าแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีเรือผิดประเภทแอบทำประมง แจ้งออกเรืออวนลากเดี่ยว แต่มีเรืออีกลำไปลากคู่ ช่วงที่ผ่านมามีการตรวจจับไป 13 ลำ เพื่อป้องกันผลกระทบเกิดกับการแก้ไขปัญหาไอยูยู อีกทางหนึ่งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ ขณะเดียวกันยอมรับว่าปัญหาและจุดอ่อนขณะนี้เราอยู่ในช่วงการปฏิรูปการทำประมง ชาวประมงอาจยังไม่เข้าใจกฎหมาย

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ