วช. หนุนทำปศุสัตว์ แทนปลูกข้าวโพด ลดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ

อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่าและภูเขาสูงชัน ประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมด มีที่ราบเชิงเขาประมาณ 20% และที่ราบลุ่มประมาณ 10% จากลักษณะภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงชัน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผลทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จนกลายเป็นหุบเขาแห่งข้าวโพด (corn volley)

จากข้อมูลการใช้ที่ดินทางเกษตรกรรม พบว่า มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึง 107,006 ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่, 2560) ซึ่งทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ต้นข้าวโพดแห้ง ตอซังข้าวโพดแห้ง และเปลือกข้าวโพดแห้ง ซึ่งสามารถไถกลบเป็นอินทรียวัตถุคืนธาตุอาหารสู่ดิน หรือนำมาใช้เพื่อเป็นอาหารสัตว์

แต่ในความเบ็นจริงกลับพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในเขตไร่หมุนเวียน เพราะเป็นวิธีการทำเกษตรที่มีต้นทุนต่ำ ทำได้ง่าย สะดวก และประหยัด เชื่อว่าการเผาตอซังช่วยทำลายโรคและแมลงในแปลงได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี

ป้ายโฆษณาเกษตรกรไทยรวมใจหยุดเผาในไร่นา

ทั้งนี้ จากสถิติจุดที่ตรวจพบ ความร้อนหรือจุดที่เกิดไฟ (hotspot) ของทางการ พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 อำเภอแม่แจ่ม มีจำนวนมากถึง 47 จุด โดยพื้นที่เผานั้นเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร การเผายังก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมหาศาล ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 1O) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางจมูก และสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชากรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้วย

วช. สนับสนุนงบพัฒนาอาชีพปศุสัตว์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ เข้ามาส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควัน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถสรุปประเด็นปัญหาสำคัญได้ 4 ประเด็น ได้แก่

การอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเปลือกข้าวโพดหมัก

1. เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้อง ยังคงยึดรูปแบบการเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติเหมือนในอดีต

2. เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้ เช่น พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ฯลฯ

3. เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อส่วนใหญ่ขาดทักษะเกี่ยวกับการนำเปลือกข้าวโพดแห้งมาทำเป็นอาหารหมักที่มีคุณค่า

4. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ยังไม่มีความเข้มแข็งเท่าที่ควร จึงถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ โดยเฉพาะโคเนื้อ

การผลิตอาหารสัตว์
หัวเชื้อจุลินทรีย์สำหรับทำอาหารสัตว์

คัดเลือกฟาร์มต้นแบบ

คณะผู้จัยได้จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเลี้ยงสัตว์ เช่น ความรู้เรื่องพันธุ์สัตว์ การผลิตอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชน และการจัดการสุขาภิบาลสัตว์ โดยเน้นการป้องกันและรักษาโรคในโคเนื้อ ไก่พื้นเมือง และสุกร เพื่อช่วยเกษตรกรลดการสูญเสียและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการสร้างฟาร์มต้นแบบด้านการเลี้ยงโคเนื้อ โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพการผลิตโคเนื้อเพื่อเป็นจุดเรียนรู้การผลิตเปลือกข้าวโพดหมักสำหรับการเลี้ยงโคเนื้อให้กับเกษตรกรทั่วไป

และเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อรายอื่นๆ มีการนำเปลือกข้าวโพดแห้งมาทำข้าวโพดหมัก โดยใช้วัตถุดิบสำคัญคือ เปลือกข้าวโพดแห้ง หัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล รำละเอียด และน้ำ มาหมักตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด สามารถเพิ่มคุณค่าอาหารโปรตีน จาก 1.81% เป็น 6.85% ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการสำรองอาหารหยาบไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งของเกษตรกรด้วย

นายสุวัณชาติ หนักแน่น เกษตรกรต้นแบบเลี้ยงวัวพันธุ์บราห์มันในคอก

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยยังได้คัดเลือกฟาร์มต้นแบบในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จำนวน 3 ฟาร์ม ได้แก่

1. นายสุวัณชาติ หนักแน่น เลี้ยงวัวพันธุ์บราห์มันในคอก จำนวน 16 ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงวัว คือ ฟางข้าว หญ้าสด เปลือกข้าวโพดหมักและฟักทอง นอกจากนี้ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่แจ่ม สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีการผสมเทียม ด้านตลาดขายวัวให้พ่อค้าในท้องถิ่นและต่างถิ่น

นายยงยุทธ์ อินทร เกษตรกรตัวอย่างด้านการเลี้ยงวัวขุน

2. นายยงยุทธ์ อินทร เลี้ยงวัว จำนวน 70 ตัว ทั้งนี้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเลี้ยงวัวหันมาเลี้ยงควายมากขึ้น เนื่องจากเนื้อควายเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทางภาคเหนือ ลักษณะของควายที่ขาย มีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม ขายในราคา ตัวละ 35,000 บาท หรือขายเนื้อควายในราคาประมาณ 90 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรซื้อควายมาขุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยใช้ระยะเวลาขุน 5 เดือน โดยเลี้ยงวัว ควาย ในคอก อาหารที่ใช้คือ ฟางข้าว เปลือกข้าวโพดหมัก ฟักทอง และอาหารเม็ด เฉลี่ย 2-3 กิโลกรัม ต่อตัว

3. นายจอมใจ บุณเทียม เลี้ยงควาย 12 ตัว และเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์บราห์มัน จำนวน 3 ตัว โดยเลี้ยงในคอกและบริเวณภูเขา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผสมเทียมและธรรมชาติ โดยรับน้ำเชื้อมาจากปศุสัตว์อำเภอแม่แจ่ม ผลผลิตที่ได้ขายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นและต่างถิ่น อาหารที่ใช้ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้า กากน้ำตาล รำข้าว และเกลือ

เครื่องจักรกลผลิตอาหารสัตว์ ที่ให้กลุ่มเกษตรกรยืมใช้ฟรี

ให้ยืมเครื่องจักรกลผลิตอาหารสัตว์
ใช้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เม.ย. 64

เพื่อสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการเกษตรกรรมยุคใหม่ ไม่เผาตอซัง เศษซากพืชวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อป้องกันและช่วยลดบรรเทาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กรมปศุสัตว์ โดย MOTOR POOL ศูนย์บริการยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ เปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรยืมนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อใช้ผลิตเสบียงสัตว์สำรองในฤดูการผลิต ปี 2564 ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563-30 เมษายน 2564

หลักเกณฑ์การขอยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ มีดังนี้ คือ

1. กลุ่มเกษตรกรออกค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน ค่าวัสดุการเกษตร

2. กลุ่มเกษตรกรต้องดูแลรักษาเครื่องจักรกลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

3. เมื่อครบกำหนด กลุ่มเกษตรกรต้องคืนเครื่องจักรที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

4. กลุ่มเกษตรกร รายงานผลผลิตเสบียงให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยบริการ
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทั่วประเทศ หรือติดต่อผ่าน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ

เครื่องผสมอาหาร และเครื่องบดสับ ที่เปิดให้ยืมใช้ฟรี