สภาเกษตรกรอุตรดิตถ์ จี้รัฐดูแลหลง-หลินลับแล หลังเสียหายจากฝนตกหนัก หนอนระบาด

เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายบัญชา อรุณเขต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า แม้จะเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้ อ.ลับแล กำลังออกดอกติดผล โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของ อ.ลับแล ที่มีรสชาติอร่อยที่สุดในโลก จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างมาก แต่ละปีมักจะมีคำสั่งซื้อมากไม่พอกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ปีนี้กลับเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ปลูกทุเรียนดังกล่าวและผลไม้ชนิดอื่นๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ทราบว่าหลังจากนี้ผลผลิตที่ออกมาจะมีคุณภาพหรือปริมาณมากน้อยแค่ไหน

นายบัญชา กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาใส่ดอกผลไม้ของชาวสาวลับแลนั้น ในน้ำฝนจะมีธาตุไนโตรเจนหรือที่ชาวบ้านรู้จักดี คือ ธาตุอาหารที่อยู่ในปุ๋ยยูเรียที่อยู่ในอากาศผสมมาด้วย จะทำให้เกิดการแตกใบอ่อนของทุเรียนและพืชอื่นได้ง่าย ถ้าพืชได้รับปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ลำต้นนำไปเลี้ยงส่วนอื่นมากกว่านำไปเลี้ยงดอกและผลอาจจะไม่ได้ปริมาณที่เพียงพอ ลำต้นก็อาจจะสลัดดอกและผลทิ้งได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผลผลิตก็จะเสียหายทันที

“อีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีความรู้เรื่องการจำกัดหนอนเจาะทุเรียนที่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุเรียนมหาศาลในแต่ละปี ทำลายชื่อเสียงของทุเรียนลับแลอย่างหนักช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แม้หน่วยงานจะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันหนอนเจาะทุเรียนหรือหนอนใต้ แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด หรือเกษตรกรที่อบรมไปแล้วก็ไม่นำไปปฏิบัติจริง จึงยังมีหนอนเจาะทุเรียนระบาดในพื้นที่ปลูกทุเรียนของชาวสวน” นายบัญชา กล่าว

ประธานสภาเกษตรกร จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องทำงานเชิงรุกให้มากกว่านี้ โดยการเร่งให้ความรู้ ชี้แจงให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะสนับสนุนปัจจัยการกำจัด งบประมาณ นักวิชาการ หากมีการระบาดหมายความว่าความเสียหายจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมากชาวสวนก็เดือดร้อน จะมีหน่วยงานใดยื่นมือเข้ามาช่วยหรือเยียวยาให้กับเกษตรกรหรือไม่

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ สัปปะรดห้วยมุ่น ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด เป็นสัปปะรดที่มีรสชาติอร่อยกว่าสัปปะรดที่ปลูกพื้นที่อื่น บ่อยครั้งที่เกษตรกรชาวสวนเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ จนต้องนำมาขายกันเองในตัวเมืองอุตรดิตถ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปดูแลเรื่องกลไกตลาด ช่วยพยุงราคา หาตลาดแหล่งใหม่ให้กับชาวสวน หากไม่มีก็ควรจะกระจายผลผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียง หรือส่งเสริมให้มีการแปรรูปให้มากกว่านี้ หรือส่งเสริมให้เกษตรกรวมกลุ่มเพื่อกำหนดราคาขายไม่ใช่ให้พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาเสียเอง ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานจะต้องหันมามองว่าศักยภาพของ จ.อุตรดิตถ์คือ ด้านเกษตรและผลไม้ ไม่ใช่เดินไม่ถูกทางเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้” นายบัญชา กล่าว