มัจจุราชแค่ปลายจมูก เอาชนะ ‘มะเร็ง-หัวใจ-เบาหวาน-อ้วน’! ด้วย ‘ผัก-ผลไม้’

จะให้อายุยืนต้อง “กินผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง”
ท่องกันมา ฟังกันมาจนเบื่อหู แต่ตัวเลขของคนไทยที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) ยังคงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ

เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของ “คนเมือง” ประการหนึ่ง ที่นั่งติดที่ กิน-ดื่มเป็นอาจิน แต่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แล้วยังเลือกอาหารแบบตามใจปาก เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารรสจัด ประเภทเผ็ดมันเค็มหวาน

ภาวะทุพโภชนาการเช่นนี้เกิดขึ้นกับทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกมีรายงานว่า ทุกปีทั่วโลกจะพบการเสียชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น ประมาณ 36 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย พบว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 73 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าอัตราตายเท่ากับ 28.92 ต่อประชากรแสนคน หรือ เท่ากับ 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน ส่วนหลอดเลือดสมองมีอัตราตายสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2557 มีจำนวนตาย 25,114 คน หรือเฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 3 คน

นอกจากนั้นยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายประมาณ 200,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปีละกว่า 7,800 ราย ซึ่งจะตรวจพบเมื่อโรคเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยรัฐต้องใช้งบประมาณในการล้างไตสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดหัวใจ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท

โรค NCDs ‘เพชฌฆาตเงียบ’
ไม่เจอกับตัวย่อมไม่รู้ถึงอันตราย…
บรรดาโรค NCDs ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หลอดเลือดสมอง ไม่มีใครตระหนักว่าอาจจะเกิดกับตนเองสักวัน หรือแม้กระทั่งโรคอ้วน ที่มองว่าอย่างมากก็แค่ไม่สวย ปัจจุบันมีเสื้อผ้าไซซ์พิเศษให้เลือกซื้อหาอยู่มากมาย

ทว่า ในความเป็นจริง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมักจะค่อยๆ แสดงอาการ และรุนแรงขึ้นทีละน้อยหากไม่ได้มีการรักษาควบคุม ซึ่งองค์กรอนามัยโลก (WHO) เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยสังเกตจากสถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs สำหรับสถิติในประเทศไทยพบว่า มีประชากรมากถึง 14 ล้านคน ที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs และที่สำคัญยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรทั้งประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับโรคในกลุ่ม NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่ 1) โรคเบาหวาน 2) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ 3) โรคถุงลมโป่งพอง 4) โรคมะเร็ง 5) โรคความดันโลหิตสูง และ 6) โรคอ้วนลงพุง

โรคที่หนักหนาขนาด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หลอดเลือดสมอง แค่การกินผักและผลไม้ช่วยลดความเสี่ยงได้จริงหรือ?

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า การกินผักและผลไม้อยู่ในธงโภชนาการอยู่แล้ว หมายความว่าแนะนำให้กินทุกวัน ให้ประโยชน์ในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งตอนหลังไม่ใช่แค่การได้รับเกลือแร่และวิตามินเท่านั้น แต่เน้นเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีสารพฤกษาเคมี เช่นเดียวกับที่ปัจจุบันมีการแนะนำให้กินผักหลากสี ซึ่งมีทั้งสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อม กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคต่างๆได้มากมาย แต่โดยรวมคุณสมบัติที่ช่วยเรื่องสุขภาพคือมีใยอาหาร

โดยคำแนะนำให้ บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ซึ่งตัวเลขนี้เป็นหลักฐานในเชิงประจักษ์ คือได้จากการรวบรวมข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ที่มีการศึกษาเปรียบเทียบถึงสัดส่วนของการกินผักผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดในการลดการเป็นโรค พบว่า ถ้ากินเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 กรัม หรือเท่ากับ 5 หน่วยบริโภค แล้วมีอุบัติการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลงได้จริง

นั่นคือ ตัวเลข 400 กรัม ที่ว่านี้หมายถึง กินผัก 3 ส่วน และผลไม้ 2 ส่วน ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ โดยโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีหลักฐานชัดเจนคือ โรคเบาหวาน ประเภท 2 หมายถึงเบาหวานชนิดที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม โรคหัวใจหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง มะเร็งบางประเภท โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้

ทั้งนี้ “ผัก” ที่แนะนำ ต้องไม่เป็นผักที่ให้แป้งมาก เช่น พืชหัว หรือมันฝรั่ง และควรมีธัญพืชทั้งเมล็ด และ ถั่วชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20 กรัม จะทำให้ได้รับใยอาหารมากกว่า 25 กรัม เป็นปริมาณใยอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันตามที่กำหนดสำหรับการบริโภคอาหารต่อวันของคนไทย ซึ่งมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะเดียวกันก็ควบคุมสารอาหารประเภทอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ไขมัน เกลือ/โซเดียม และน้้ำตาล

มหัศจรรย์แห่งผักและผลไม้

อาจารย์ประจำ’ ม.มหิดล คนเดียวกันนี้ย้ำว่า การบริโภคผักและผลไม้เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับระบบร่างกายคนเรา

“ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงานโดยการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยมากมายพบว่า การบริโภคผักผลไม้มากกว่าวันละ 400 กรัม สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดร้อยละ 31 ลดเส้นเลือดในสมองตีบร้อยละ 19 ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหารร้อยละ 19 มะเร็งปอดร้อยละ 12 มะเร็งลำไส้ร้อยละ 2 ทั้งนี้ให้เน้นผักใบ ถั่วเมล็ดแห้ง และธัญพืช ไม่เน้นผักหัว”

สำหรับในกรณี “ผู้ที่ป่วยแล้ว” เป็นโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง ผศ.ดร.ชนิพรรณ บอกว่า การบริโภคผักและผลไม้ยังคงให้ประโยชน์ เพียงแต่ต้องมีความระมัดระวังในการเลือกชนิดของผักและผลไม้ด้วย

เช่น ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ควรเน้นการกินผักมากกว่า และเลือกผลไม้ที่ไม่ทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว แม้ไม่ได้ช่วยรักษาแต่ไม่ทำให้ภาวะเบาหวานรุนแรงขึ้น

ขณะที่ในรายที่เป็นมะเร็งลำไส้นั้น ปัจจัยผันผวนที่เป็นตัวก่อโรคคือ อาหารโดยตรง การเลือกรับประทานผักและผลไม้มากขึ้นจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรค โดยผักที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้นั้น ควรเลือกผักที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้สารพิษไม่คั่งค้างเพราะมีการขับออก เช่น ผักใบ หรือธัญพืชและถั่ว จะช่วยให้ไม่ท้องผูก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ป่วยโรคไต การเลือกรับประทานผักและผลไม้เป็นสิ่งที่ควรระวังเป็นที่สุด เนื่องจากในผลไม้บางประเภทจะให้โปแตสเซียมสูง ซึ่งควรหลีกเลี่ยง ทางที่ดีคือ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการโดยตรง

เทรนด์สุขภาพกำลังมา
เชิญชวนส่งเมนูฟิวชั่นประกวด

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในทั่วโลก แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการบริโภค จากที่เคยเน้นเนื้อแดง และสัดส่วนในจานอาหารมีเนื้อ แป้ง ไขมันเยอะมาก จึงมีปรับเปลี่ยน ลดสัดส่วนของไขมัน แป้ง และโปรตีนลง เพิ่มผัก เพิ่มธัญพืชมากขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยเอง การให้ความสนใจในเรื่องของการกินผักและผลไม้แม้จะยังน้อยอยู่ แต่เป็นที่น่ายินดีที่กระแสของอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผลให้คนไทยตื่นตัวรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บอกอีกว่า รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ.2557 ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่บริโภคผักผลไม้ต่อวันเพียงพอตามข้อแนะนำมีเพียงร้อยละ 25 (ชายร้อยละ 28 หญิงร้อยละ 24) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

คนไทยซื้ออาหารนอกบ้านมากขึ้น ใช้บริการอาหารจานเดียวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความหลากหลายของอาหารน้อยลง และอาหารที่มีสัดส่วนของผักน้อยลงด้วย ยกตัวอย่าง ข้าวผัดกระเพรา ซึ่งมีผักเพียงใบกระเพราะไม่กี่ใบ (ควรเพิ่มเติมแตงกวาหรือผักใบเขียว) ขณะที่เมื่อก่อนจะประกอบอาหารกินเอง ทำให้มักมีน้ำพริก+ผักแนมแทบทุกมื้อ

ขณะเดียวกัน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องการกินผัก ลูกจะไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยกินผัก นอกจากกลุ่มคนที่หันมาสนใจอาหารคลีน อาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล พยายามรณรงค์การกินผัก-ผลไม้มาตลอด แต่คนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่ได้ประกอบอาหารกินเอง จึงไม่ทราบว่าปริมาณ 400 กรัม คือแค่ไหน แล้วรวมกันทั้งสามมื้อจะครบ 400 กรัมหรือไม่ เหตุนี้จึงจัดทำ “โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ 400 กรัม ต่อวัน”

“เรามองถึงคนรุ่นใหม่ โดยเน้นเมนูที่หลากหลาย ที่เป็นอาหารฟิวชั่น มีการผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก มีเรื่องของดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ผู้บริโภคออกแบบเมนูอาหารและส่งเข้ามาประกวด เป็นอาหารจานเดียว ของว่าง และหรือเครื่องดื่ม โดยเราเน้นว่าขั้นต่ำจะต้องมีส่วนของผักและผลไม้อย่างน้อยเมนูละ 100 กรัม ซึ่งเมื่อนำมาจับคู่รับประทาน จะสลับเมนูกันอย่างไร ใน 3 มื้อก็ได้ผักและผลไม้ 400 กรัม

“เราเชื่อว่าการจัดการประกวดออกแบบเมนูอาหารเช่นนี้จะทำให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ง่ายขึ้น กินได้ง่ายขึ้น และช่วยให้มีการบริโภคผักและผลไม้ที่มากขึ้นได้”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดและสมัครผ่านเว็บไซต์ www.inmu.mahidol.ac.th/th/menufusion2017/index.php รางวัลชนะเลิศ 50,000/ 30,000 และ 20,000 บาท ตามลำดับ ส่งภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ผู้ประสานงาน นายฐิติพัฒน์ โทร.099-249-4944 หรือ หน่วยประชาสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ 02-800-2380 ต่อ 109

สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ แค่กินผัก-ผลไม้วันละ 400 กรัมเท่านั้น!

ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน ผู้เขียน : พนิดา สงวนเสรีวานิช