กล้วยอบเนย ท่าฉนวน สุโขทัย ผลิตภัณฑ์ทำเงิน ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองบัว

คนในชุมชนตำบลหนองตูมและตำบลท่าฉนวน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักและมีอาชีพการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตรเป็นอาชีพเสริม ในระหว่างที่พักจากการทำการเกษตร โดยเฉพาะในเขตตำบลท่าฉนวนที่คนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำกล้วยอบเนยเป็นอาชีพเสริม

เนื่องจากในพื้นที่นี้มีการปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องเป็นจำนวนมาก กล้วยพันธุ์นี้สามารถนำมาทำเป็นกล้วยตาก กล้วยอบเนย ทำเป็นผลิตภัณฑ์และของฝากที่ขึ้นชื่อของตำบลท่าฉนวน ดังปรากฏในคำขวัญประจำตำบลตอนหนึ่งว่า “นามกระเดื่องกล้วยอบเนย”

กล้วยพร้อมที่จะทำการทอด

ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำกล้วยอบเนยหลายกลุ่ม จัดตั้งโดยสำนักงานเกษตรอำเภอกงไกรลาศ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้สามารถดำเนินการผลิตกล้วยอบเนยให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยจะมีสมาชิกร่วมกันดำเนินงาน มีการแบ่งหน้าที่ แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน สามารถหารายได้ให้กับเกษตรกรที่มาร่วมในโครงการและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี สามารถที่จะทำเป็นสินค้าส่งขายต่างจังหวัดและส่งออกต่างประเทศ ทั้งจีน มาเลเซีย จัดเป็นสินค้าที่นำเงินมาสู่อำเภอกงไกรลาศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

บ้านเลขที่ 288 หมู่ที่ 2 บ้านหนองบัว ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ตั้งโรงงานแปรรูปกล้วยอบเนยของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัวที่มีชื่อเสียงของตำบลท่าฉนวน โดยมี คุณกิมหล่าน แซ่ด่าน เป็นเจ้าของบ้านและรับฐานะเป็นประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัว

กล้วยอบเนยเตรียมบรรจุ

คุณกิมหล่าน เล่าว่า ในพื้นที่ตำบลท่าฉนวนคนในชุมชนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาและปลูกกล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่องเป็นจำนวนมาก ในปี 2538 ช่วงน้ำหลาก สินค้าการเกษตรเกิดปัญหา ข้าวขายไม่ได้ราคา กล้วยก็ขายได้ราคาน้อย เป็นปัญหาของคนในชุมชนที่ต้องแบกรับภาระ

“ฉันเห็นว่ากล้วยราคาถูก แถมยังมีปลูกกันมากในชุมชน จึงมีความคิดที่จะนำกล้วยมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยนำมาทำเป็นกล้วยอบเนย ครั้งแรกที่ฉันทำจะมีสมาชิกภายในครอบครัวเป็นผู้ช่วย ฉันเริ่มทอดกล้วยอบเนยในปี 2538 วันละ 4 กระทะ จำหน่ายให้กับคนในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง ได้รับการตอบรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี มีผู้ต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตในแต่ละวันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉันจึงเพิ่มปริมาณการผลิตจากเดิมทอดวันละ 4 กระทะ มาเป็นวันละ 6-9 กระทะ ทำให้สำนักงานเกษตรอำเภอกงไกรลาศได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้มาจัดตั้งกลุ่มให้ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัว”

กล้วยอบเนยพร้อมส่งตลาดไทและต่างประเทศ

ในปี 2540 หลังจากได้รับให้จัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัว ฉันก็ได้ขยายธุรกิจออกไปเรื่อยๆ เปลี่ยนสถานที่ทอดกล้วยจากเดิมที่ทำในบ้านมาเป็นด้านนอกตัวบ้าน โดยปรับปรุงโรงเก็บของบริเวณข้างบ้านเป็นสถานที่ผลิต มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของตำบลท่าฉนวน เป็นสินค้าที่คนผ่านไปมาให้ความสนใจและต้องซื้อติดไม้ติดมือเพื่อนำไปเป็นของฝาก สินค้าของฉันจึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีนและมาเลเซีย

ในปี 2545 ตลาดเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ความต้องการสินค้าจึงเพิ่มตาม ฉันจึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพื่อสร้างโรงงานให้ได้มาตรฐาน ซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตที่ทันสมัย ยานพาหนะในการขนส่ง และเป็นทุนในการหาซื้อวัตถุดิบ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท ทำให้กลุ่มของฉันมีศักยภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น สามารถผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้

กล้วยอบเนยแม่กิมหล่านพร้อมจำหน่าย

กลุ่มของฉันจัดตั้งมานานกว่า 20 ปี มีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกล้วย ประมาณ 20 อย่าง ทั้งกล้วยอบเนยลาย กล้วยอบเนยเกลี้ยง กล้วยอบสมุนไพร และอื่นๆ อีกมากมาย

“อุปสรรคมันก็มีเยอะในกลุ่มแม่บ้าน แต่กลุ่มของฉันไม่มีอุปสรรค เพราะกลุ่มของฉันมีการจัดการบริหารในเรื่องการเงิน ถ้าฉันให้กลุ่มแม่บ้านร่วมกันลงทุน ถึงเวลาแบ่งผลกำไร ส่วนที่ได้เขาก็เอา ส่วนที่เสียเราบอกว่าเสียเขาก็ไม่เชื่อ จะทำให้กลุ่มของฉันอยู่ไม่รอด ทุกวันนี้ฉันจึงตัดปัญหา โดยการจ่ายเงินเป็นรายบุคคล ใครทำเท่าไรก็ได้เท่านั้น จำแนกแจกจ่ายตามความเป็นจริง ส่วนต้นทุนฉันเป็นคนออก จนทำให้อยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ การค้าขายต้องอาศัยความซื่อสัตย์ ดีเราก็บอกว่าดี ไม่ดีเราก็บอกว่าไม่ดี” คุณกิมหล่าน กล่าวทิ้งท้าย

คุณกิมหล่าน แซ่ด่าน และลูกสาว

กิมหล่าน แซ่ด่าน

กับ กระบวนการผลิตกล้วยอบเนย

วัตถุดิบที่ใช้ ประกอบไปด้วย กล้วยน้ำว้า (พันธุ์มะลิอ่อง) น้ำมันมะพร้าวตราดาวเดือน น้ำตาลปี๊บและเนย ขั้นตอนแรกนำกล้วยน้ำว้ามาปอกเปลือกแล้วแช่น้ำสะอาดประมาณ 5 นาที ทำให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำกล้วยมาฝานให้เป็นแผ่นบางๆ โดยใช้เครืองสไลซ์ หลังจากทำการสไลซ์แล้วให้นำกล้วยไปใส่ถุงพลาสติก (ถุงร้อน) รัดปากถุงให้แน่นเพื่อไม่ให้อากาศเข้า ทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง ต่อจากนั้นนำกล้วยออกจากถุงเพื่อแยกชิ้นออกไม่ให้ติดกัน ก่อนนำไปทอดให้ละลายน้ำตาลปี๊บผสมกับน้ำมันมะพร้าว นำขึ้นตั้งไฟใส่เนยพอละลายแล้วยกลง ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น นำกล้วยที่อบไว้ในถุงพลาสติกใส่ในกะละมัง เทเนย น้ำมันมะพร้าว น้ำตาลปี๊บที่ทำการผสมกันไว้ใส่ด้านบนของกล้วย  หลังจากนั้น ตั้งกระทะน้ำมันให้ร้อนแล้วนำกล้วยลงทอดทันที ในการทอดจะใช้ไฟแรงปานกลาง ทอดจนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลก่อนตักขึ้นด้วยทัพพีโปร่ง พักไว้ในกระชอนเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน นำมาเกลี่ยบนถาดขณะร้อนๆ เพื่อไม่ให้กล้วยติดกัน ผึ่งไว้ให้เย็น และนำมาบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย สามารถเก็บได้ประมาณ 1 เดือน

อบกล้วยในถุงพลาสติก 6 ชั่วโมง

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกล้วยแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองบัวยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเผือก มัน และฟักทอง หากท่านใดสนใจขั้นตอนการผลิตหรือจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้า ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัว บ้านเลขที่ 288 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย 64170

พักไว้ในกระชอนเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน
กระทะทอดกล้วย