“ใบและเมล็ดน้อยหน่า” มีฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

น้อยหน่า เป็นผลไม้ที่มีรสหอมหวานน่ารับประทาน เสียอย่างเดียวมีเมล็ดมาก โดยเฉพาะน้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้าน (มีทั้งน้อยหน่าหนังและน้อยหน่าเนื้อ) ให้รสหวานจัด แต่ผลเล็กมีเมล็ดมากกว่าเนื้อทำให้ผู้บริโภคไม่ชอบรับประทาน จึงหันไปรับประทานน้อยหน่าเพชรปากช่อง ผลใหญ่มีเนื้อมากกว่าและเมล็ดเล็ก เกษตรกรจึงพากันไปปลูกน้อยหน่าเพชรปากช่อง เพราะตลาดต้องการมากกว่า ทำให้น้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้านถูกปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ ปราศจากการเอาใจใส่ดูแลแห้งคาต้นและปล่อยให้ร่วงหล่นลงมา และมีจำนวนไม่น้อย ทำให้นักวิจัยเกิดความคิดที่จะนำน้อยหน่าทั้งเมล็ดและใบมาทำประโยชน์ โดยนำมาสกัดเป็นสารกำจัดศัตรูพืช

มีรายงานการผลิตน้อยหน่าปี 2564 พื้นที่ปลูกน้อยหน่าทั่วประเทศมี 31,656 ไร่ จังหวัดที่ปลูกน้อยหน่ามากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา สกลนคร กาญจนบุรี จันทบุรี และขอนแก่น มีผลผลิต 50,237 ตัน

มีรายงานวิจัยน้อยหน่ามีฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

น้อยหน่าปลูกทั่วไปในประเทศไทยเพื่อรับประทานผล และผลแห้งยังนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคได้หลายอย่าง ได้แก่ โรคท้องเสีย โรคบิด โรคลำไส้ โรคท้องผูก และโรคหิด เป็นต้น ด้านการเกษตรมีรายงานวิจัยว่ามีฤทธิ์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ สารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเอทานอลมีฤทธิ์กำจัดด้วงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น สารสกัดใบและเมล็ดน้อยหน่ายังสามารถควบคุมแมลงได้อีกหลายชนิด เช่น เพลี้ย หนอนฝ้าย ตั๊กแตน มด แมลงหวี่ และได้มีการทดสอบสารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยตัวทำละลายต่างๆ กับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมอดแป้ง โดยใช้สารสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเมทานอลและปิโตรเลียมสปิริต

นอกจากนั้น มีรายงานการวิจัยสารสกัดหยาบของน้อยหน่ายังสามารถควบคุมตัวอ่อนผีเสื้อ ควบคุมแมลงวันผลไม้ชนิด Mediterranean fruit fly ในระยะฟักไข่ โดยรบกวนการวางไข่และยืดเวลาพัฒนาการของตัวอ่อน ควบคุมตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วยแป้งสีแดง Triblium caslaneum Herbst ได้

การทดสอบสารลดแรงตึงผิวที่เหมาะสมในสูตรผลิตภัณฑ์

ศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนใยผัก

คุณธิติยาภรณ์ อุดมศิลป์ และคณะกลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยประสิทธิภาพของสารสกัดจากน้อยหน่าในการควบคุมหนอนใยผัก โดยศึกษาในห้องปฏิบัติการโดยการสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ พบว่า สารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักได้ดีกว่าสารสกัดหยาบจากใบน้อยหน่า และสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าที่สกัดด้วยเมทานอล ให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักดีที่สุด

สารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าที่ความเข้มข้น 5, 10, 15, 20 และ 25% (น้ำหนักต่อปริมาตร) พบว่า ทุกความเข้มข้นให้ผลในการฆ่าหนอนใยผักไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากผลการทดสอบสารพฤกษเคมีของสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าด้วยตัวทำละลายเมทานอล พบสารกลุ่มเทอร์ฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์เป็นองค์ประกอบสารสกัดหยาบเมล็ดน้อยหน่าเป็นสารสกัดที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชต่อไป

เมล็ดน้อยหน่าพันธุ์พื้นบ้านที่แกะเนื้อออกแล้ว

พัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าจนได้สูตร EC

คุณธิติยาภรณ์ และคณะวิจัย ได้เตรียมสารสกัดหยาบน้อยหน่า โดยนำผลน้อยหน่าสุกมาแกะเมล็ดล้างทำความสะอาด แล้วนำมาอบแห้งและบดให้ละเอียด จากนั้นนำมาสกัดเมล็ดน้อยหน่าด้วยเมทานอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายที่มีประสิทธิภาพในการสกัดสารสำคัญจากเมล็ดน้อยหน่าระเหยด้วยเครื่อง Rotary evaporator

จากนั้นได้นำมาวิเคราะห์หาปริมาณสำคัญในสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า โดยใช้ดีเทคเตอร์ชนิด DAD ที่ความยาวคลื่น 210 นาโนเมตร โดยเตรียมสารสกัดหยาบที่มีความเข้มข้นที่เหมาะสม วิเคราะห์และคำนวณหาปริมาณสารสำคัญเทียบกับกราฟมาตรฐาน

ทำการศึกษาการเตรียมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าในรูปแบบอิมัลชั่น โดยทดลองผสมกับตัวทำละลายและสารลดแรงตึงผิว ผสมกันที่อัตราส่วนต่างๆ แล้วนำไปผสมกับสารสกัดเมล็ดน้อยหน่า และคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง เช่น การแยกชั้น การตกตะกอน และหลังจากได้เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง 24 ชั่วโมง เลือกอัตราส่วนสารลดแรงตึงผิว จนได้อัตราส่วนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมผลิตให้ได้ลักษณะที่ดีมีความคงตัว จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC

“ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC เป็นสูตรที่มีความคงตัว ไม่ทำให้เกิดการสลายตัวเร็วของสารสำคัญ และการกระจายตัวในน้ำได้ดี เมื่อต้องผสมน้ำเพื่อการฉีดพ่น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC จะมีสารลดแรงตึงผิวเป็นส่วนประกอบ ทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้ดีและไม่แยกชั้น สะดวกกับการใช้งาน”

ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าผสมน้ำในอัตราส่วน 50 มิลลิลิตร น้ำ 20 ลิตร

ทดสอบประสิทธิภาพในแปลงคะน้าของเกษตรกร

คุณธิติยาภรณ์ กล่าวว่า เมื่อนำไปทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ในห้องปฏิบัติการพบว่า มีผลทำให้หนอนใยผักตาย ระหว่าง 27.50-85.00% ต่อจากนั้นนำไปทดสอบในแปลงคะน้าของเกษตรกร โดยทำแปลงทดสอบที่จังหวัดนครปฐม และแปลงทดสอบจังหวัดกาญจนบุรีพบว่า การพ่นสารผลิตภัณฑ์น้อยหน่าสำเร็จรูป EC มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผักได้ดีไม่แตกต่างกันทางสถิติจากการพ่นสารทดลอง Baeillus thuringiensis และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการกำจัดหนอนใยผักพบว่า ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ที่อัตรา 50 และ 70 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพ เฉลี่ยที่ 71.20-79.49% ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับการใช้สารทดลอง Baeillus thuringiensis ที่มีประสิทธิภาพเฉลี่ยที่ 70.50-79.30% และเมื่อเทียบผลผลิตของ 2 แปลงทดลองที่จังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรีพบว่า การให้สารทดลองสำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC ได้ผลใกล้เคียงกับสารทดลอง Baeillus thuringiensis เช่นเดียวกัน

ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าผสมน้ำในอัตราส่วน 50 มิลลิลิตร น้ำ 20 ลิตร

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปน้อยหน่าสูตร EC จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้ในการป้องกันและกำจัดหนอนใยผักในแปลงคะน้า และสามารถใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชทางเลือกหนึ่ง เพื่อลดการใช้สารเคมีในแปลงผักของเกษตรกร และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เช่น การทำผลิตด้วยวิธีนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นการสนับสนุนลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกน้อยหน่าพื้นเมืองหรือน้อยหน่ากันอย่างจริงจัง เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเมล็ดน้อยหน่าที่ไร้ค่า กลายเป็นผลผลิตที่มูลค่า เพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากเมล็ดน้อยหน่าที่เหลือทิ้งจากการบริโภค เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจจะทำผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากเมล็ดน้อยหน่า

ผู้ประกอบการที่สนใจจะผลิตผลิตภัณฑ์สารกำจัดศัตรูพืชจากเมล็ดน้อยหน่า เกษตรกรและผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-579-6123, 085-265-7076

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566