ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน “ชีวภัณฑ์พร้อมใช้ ให้บริการโดยชุมชน”

ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นเทคโนโลยีที่นำจุลินทรีย์ แมลงศัตรูธรรมชาติ และสารสกัดจากพืช มาใช้ในการป้องกันกำจัดโรค แมลง ศัตรูพืช ปัจจุบันมีผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมามากมาย และที่นิยมใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสซับทีสิส DOA 24 บาซิลลัส ซับทีสิส 20 W16 เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เป็นต้น ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง เช่น เชื้อราเมตาไรเซียม เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อไวรัส NPV สัตว์/แมลง/ศัตรูธรรมชาติ เช่น ไส้เดือนฝอย มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ แตนเบียนต่างๆ สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา สาบเสือ ชีวภัณฑ์กำจัดหนู เช่น โปรโตซัว เป็นต้น

คุณธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 สงขลา กับเกษตรกรเจ้าของศูนย์ชีวภัณฑ์

ชีวภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากทั้งในด้านของการนำมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ปัจจุบันพบปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิต เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และในสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรเจ้าของศูนย์ชีวภัณฑ์ให้คำแนะนำแก่ผู้มาขอรับชีวภัณฑ์

ความนิยมใช้ชีวภัณฑ์ของเกษตรกรในปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ยังอยู่ในวงจำกัด ไม่แพร่หลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เกษตรกรยังมีความรู้ความเข้าใจน้อย จึงยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ หรือนำมาใช้งานไม่ถูกต้องจึงทำให้มีประสิทธิภาพต่ำ และที่สำคัญคือความไม่สะดวกในการจัดหามาใช้งาน เนื่องจากมีการผลิตเชิงการค้าน้อย ชีวภัณฑ์หลายชนิดต้องไปขอจากหน่วยงานราชการที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถผลิตเองได้เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่ยากและซับซ้อน เป็นต้น

คณะนักวิจัยและส่งเสริม ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร และนักส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา (สกก.5) กรมส่งเสริมการเกษตร นำโดย คุณธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8  ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความจำเป็นดังกล่าวนี้ จึงได้มีความคิดริเริ่มในการพัฒนารูปแบบการจัดการชีวภัณฑ์ของชุมชนขึ้นมา โดยทดลองจัดตั้ง “ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.)” บนคำขวัญที่ว่า “ชีวภัณฑ์พร้อมใช้ ให้บริการโดยชุมชน” โดยสถานที่ตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชนแห่งแรกอยู่ที่ ชุมชนป่าขาดโมเดล บ้าน คุณมนูญ ยศปัญญา เลขที่ 80 หมู่ที่ 3 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ และมีความต้องการใช้ชีวภัณฑ์ในการปลูกพืช

เปิดศูนย์ชีวภัณฑ์

 “ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน” ให้บริการโดยชุมชน

คุณธัชธาวินท์ กล่าวว่า ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน จะเป็นสถานที่ให้บริการแจกจ่ายชีวภัณฑ์แก่เกษตรกรที่ตั้งในชุมชน จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับชีวภัณฑ์ที่หน่วยงานราชการที่อยู่ไกล นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์การอบรม ให้ความรู้ โดย สวพ.8 จังหวัดสงขลา จะเป็นผู้อบรมเกษตรกรเจ้าของศูนย์ให้มีความรู้ด้านชีวภัณฑ์ จนสามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เพื่อนบ้านได้ เสมือนเป็นเภสัชกร/หมอพืช/ประจำร้าน อบรมให้เกษตรกรที่สนใจให้มีความรู้และสามารถผลิตชีวภัณฑ์บางชนิดเพื่อไว้ใช้เองหรือแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน และจะมีเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ให้เกษตรกรสามารถขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ใช้ชีวภัณฑ์ และส่งเสริมสินค้าปลอดภัยเข้าส่งตลาดด้วย

ตู้เก็บชีวภัณฑ์

คุณจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา (ศวพ.สงขลา) และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตรจะทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตชีวภัณฑ์และจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำสนับสนุนให้กับศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะช่วยทำให้เทคโนโลยีด้านชีวภัณฑ์ถึงมือเกษตรกรได้ง่ายและกว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลด้านอาหารปลอดภัย และช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากสารพิษตกค้างทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง

คุณธัชธาวินท์ เล่าว่า ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.) จะประกอบด้วย อาคารสถานที่ตั้ง ป้ายศูนย์ชีวภัณฑ์ชนิดต่างๆ โปสเตอร์ แผ่นพับให้ความรู้ ให้คำแนะนำสมุดเบิกจ่ายที่มีรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เบอร์โทรศัพท์เจ้าหน้าที่ที่จะให้เกษตรกรขอคำปรึกษา

การส่งเสริมการใช้ชีวภัณฑ์ของ ศชช. จะทำอย่างเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา (ศวพ.) และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จะผลิตชีวภัณฑ์ต่างๆ และนำมาวางไว้ที่ ศชช. เกษตรกรมาเบิกจ่ายพร้อมกับศึกษาวิธีการใช้จากแผ่นพับ โปสเตอร์ ปรึกษาเกษตรกรผู้ดูแลศูนย์หรือโทร.ปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ เมื่อเกษตรกรนำไปใช้ในการปลูกพืชแล้วหากพบว่ามีประเด็นที่ต้องขอคำแนะนำเพิ่มเติมก็สามารถโทร.สอบถามเจ้าหน้าที่ หรือขอเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามแก้ปัญหาในแปลงเกษตรกรเพิ่มเติม นอกจากนั้น ยังมีการอบรมให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มขึ้นให้สามารถผลิตใช้เอง หรือรวมกลุ่มผลิตไว้บริการแก่สมาชิกได้

ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชนที่จัดตั้งขึ้นนี้ เป็นศูนย์ทดลองการพัฒนาการบริหารจัดการและการให้บริการชีวภัณฑ์ ภายใต้แผนงานวิจัยทดลองขยายการผลิตแปลงใหญ่และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งของสังคมเกษตร, โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยเน้นการใช้ชีวภัณฑ์ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ จังหวัดสงขลา ร่วมกับ ศทอ.สงขลา ส่วนการขยายสาขาของศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน ต่อไปนั้น จะพิจารณาจากความต้องการใช้จริงของชุมชนเป็นหลัก คุณธัชธาวินท์ กล่าว

สนใจจัดตั้ง “ศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน” สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) โทร. (074) 459-077