ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายเวลาที่เราอยู่ในอาการมึนงง ความทรงจำเบาบาง ต้องอาศัยการสืบค้น สอบถาม เพื่อให้ได้คำตอบมาเป็นตัวจุดประกาย กระตุ้นเราให้สามารถฟื้นคืนความจำขึ้นมาใหม่ได้บ้าง แม้จะได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นเช่นหยดน้ำมันหล่อลื่นให้เข้าถึงจริต จนฟื้นคืนความจำได้ เช่นเดียวกับ ณ เวลานั้น ได้ไปพบลูกผลของพืชอย่างหนึ่ง พอจำได้ว่าเคยพบเจอเมื่อหลายปีก่อน และจำได้ว่าเคยนำมาลิ้มรส ชิมดูว่าเป็นพืชที่มีพิษต่อร่างกายหรือเปล่า ลองดูแค่นิดไม่มาก ก็ไม่เกิดผลอาการทางร้าย ตรงกันข้าม กับอร่อยดีเสียอีก เป็นลูกผลของพืชไม้เลื้อยพันขึ้นรั้ว กิ่งไม้ พุ่มไม้ มีเถา ใบ มือจับ ยอดอ่อน มีผลกลมรีปลายแหลมเป็นกระสวย หรือหยดน้ำ มีสีสันลวดลายเขียวขาวสวยงามมองดูไกลๆ คล้ายกับเถาต้นตำลึง แต่มีขนคลุมทั่วไป ชาวบ้านเคยบอกเรา เขาเรียกว่า “ลูกสาลี่”
ลูกสาลี่ ที่เขาบอก ค้นหาพบว่า คือผลบวบขมป่าชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่า คงกลายพันธุ์ หรือเกิดการเปลี่ยนคุณสมบัติของสารที่เป็นองค์ประกอบของทุกส่วน จากความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ สถานที่ขึ้น และน้ำ ดูแต่ธรรมชาติยังเปลี่ยนแปลงได้ ไฉนเล่าพืชพรรณชนิดนี้จะแปรเปลี่ยนไม่ได้
“บวบขม” เป็นไม้ป่าล้มลุก ชนิดเถาพันเลื้อย เป็นพืชในวงศ์แตง CUCURBITACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichosanthes cucumerina L. เป็นไม้ที่มีมือเกาะจับ มีเถาทอดเลื้อยพันยาวไกลมาก ตลอดเถา ก้าน ใบ มีขนขึ้นคลุมประปราย ชอบขึ้นในที่รกร้าง รั้วบ้าน ริมสวน จะขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือจากการนำพาไปโดยนกที่จิกกิน หรือคาบไปถ่ายมูล หรือทำหลุดหล่นใต้ต้นไม้ตามที่ชอบบินไปเกาะ เกิดต้นใหม่ขึ้นมา ชาวบ้านชาวสวนมักจะตัดถางทิ้งเพราะเห็นว่ารกรุงรัง เป็นวัชพืชที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร
แต่ก็ไม่พ้นวิถีความอยากลองของ ของคนไทย หรือรวมคนลาวด้วย เห็นเป็นลูกผลเหมือนบวบ เหมือนแตง เห็นมีร่องรอย นก หนู กัดกินได้ บางต้นก็สมบูรณ์อยู่ครบทั้ง ต้น เถา ใบ ดอก และลูกหรือผล ทดลองหักผล แตะลิ้นชิมรส มีทั้งหวาน ทั้งขมจัด ทั้งขมปะแล่มๆ ลองเก็บเอาไปทำอาหารกิน ใส่แกงหน่อไม้ แกงเลียง แกงป่า ต้มจิ้มน้ำพริก และเรียกชื่อกันไปหลายอย่าง เช่น บวบขมป่า ลูกสาลี่ ทางภาคเหนือ เรียกบวบ ว่า “มะนอย” จึงเรียกมันว่า มะนอยจ๋า หรือ มะนอยหิมะ (ผู้เขียน : คำว่า หิมะ เขียนเป็นคำพ้องเสียงเพื่อให้เกิดความไพเราะ และสุภาพ แทนคำว่า หออีหมา) ภาคกลาง เรียก นมพิจิตร ชนเผ่าเรียก เล่ยเซ ทางลาว เรียกโก่งเลง ส่วน “บวบขม” ที่รู้จักกัน และมีทั่วไปนั้น ไม่นิยมนำมาปลูกไว้ตามสวน หรือข้างรั้วบ้าน เพราะขมมากกินไม่ได้ เอาใช้ทำยาอย่างเดียว หรือที่หาได้มากๆ ผลใหญ่ๆ ก็นำเอาใยบวบไปใช้ทำใยขัดถูตัว ใยล้างถ้วยจานชาม ตัดเย็บทำรองเท้าเพื่อสุขภาพ
“บวบขมสาลี่มะนอยหิมะ” เป็นพืชผักธรรมชาติ เป็นพืชใบเดี่ยว ใบลักษณะ 5 เหลี่ยม หรือรูปโล่ ฐานใบเว้า เป็นรูปไต หรือคล้ายรูปหัวใจ แผ่ใบกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ผิวใบสากมือ เส้นใบเป็นร่อง ออกจากโคนใบ เป็น 5 แฉก ขอบใบหยักเว้า มีขนปกคลุม ก้านใบเล็กสั้น ออกเรียงสลับตามข้อของเถาที่เลื้อยทอด เลื้อยพันกิ่งไม้ พันรั้วบ้าน มีมือจับแข็งแรง เกาะยึดเกี่ยวแน่นมาก เวลาจับเถาดึงมักจะขาดที่ข้อ ส่วนที่มีมือยึดเกาะมักจะไม่หลุด ดอกมีสีขาว เวลาดอกบาน มองดูใกล้ๆ จะเห็นความเป็นศิลปะชั้นสูง ส่วนรอบข้างกลีบดอก จะแตกริ้วลวดลายคล้ายช่อชฎา หรือยอดมงกุฎประดับเพชร หรือเป็นช่อระกาวิมานสวรรค์ ถึงว่า บวบป่า เป็นดอกไม้ที่มีในพุทธภูมิประวัติ “เทพธิดาสาตกี” แปลว่า “ดอกบวบขม” เพราะเป็นเทพธิดาที่มีวิมานทองคำ
ประวัติเป็นเพียงมนุษย์ยากจนคนตัดฟืนขาย ไม่มีจังหวะชีวิตที่จะทำบุญสุนทาน ใส่บาตรพระ ได้ใช้ดอกบวบบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุพระอรหันต์ใกล้บ้านทุกวัน วันหนึ่งระหว่างเดินทางพร้อมดอกบวบขม จะไปบูชาพระธาตุเช่นทุกวัน ถูกนางยักษ์แปลงกายเป็นวัวแม่ลูกอ่อนขวิดจนตาย และจึงได้ขึ้นสวรรค์ทางลัด โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธี พิธีการทางทูตสวรรค์ ผ่านขึ้นเสวยสุขยังวิมานทองคำได้เลย จริงเท็จเช่นไร ไม่รับประกัน จำคำเขาเล่ามา เอามาเล่าอีกต่อหนึ่ง
จะขอเรียกบวบขมป่าชนิดนี้ว่า “บวบสาลี่” เนื่องจากไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีโอกาสได้ลิ้มรส บวบสาลี่ที่รสชาติหวาน หวานเหมือนบวบทั่วไปที่ชาวบ้านนำมาเป็นผัก ไม่ว่าจะเป็นบวบเหลี่ยม บวบหอม แรกที่เจอก็จำไม่ได้ว่าเคยรู้จัก เคยเด็ดชิมมาแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่ากินได้ ก็ได้เด็ดลูกมา 6-7 ลูก มีทั้งลูกเล็ก ลูกใหญ่ แกะปลายชิมดูทุกลูก มีรสจืด ไม่มีลูกใดมีรสขมเลย เด็ดเพิ่มได้อีก 8-9 ลูก ต้มใส่เกลือป่นนิดหนึ่ง เอามากินจิ้มน้ำพริกปลาย่าง เยี่ยมยอด นอกจากจะเอามาต้มจิ้มน้ำพริกแล้ว ถ้าลูกเริ่มแก่หน่อย เอามาแกงร่วมกับแกงหน่อไม้ ตัดหัวท้ายลูกบวบ จะได้ชิ้นบวบส่วนกลางที่มีเมล็ดในเริ่มแก่ จับกลุ่มเป็นก้อนเรียงเมล็ดลักษณะตลับลูกปืน หรือจะนำมาแกงเลียง แกงป่า ร่วมกับผักอื่นๆ ผลอ่อนผัดไข่ ต้มจืด ทำอาหารได้หลายอย่าง มากคุณค่า
ลูก หรือ ผลบวบ ชนิดที่กินได้ มีคุณค่าทางอาหาร ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 4.36 กรัมโปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม โพแทสเซียม 139 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 32 มิลลิกรัม แคลเซียม 20 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม โซเดียม 3 มิลลิกรัม เหล็ก 0.36 มิลลิกรัม วิตามินเอ 410 iu วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.06 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 12 มิลลิกรัม และมีธาตุอาหารอื่นๆ อีกหลายตัว ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เป็นอาหารบำรุงร่างกาย และเป็นยาดีที่ไม่ควรมองข้าม
สรรพคุณทางยา ตำรายาพื้นเมือง ใช้เถา ผล ทั้งต้น เข้าตำรับยาหอมยาลม ยาบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย ต้มกินเป็นยาลดไข้ ทั้งเมล็ดเป็นยาแก้ไข้ เมล็ด เถา ผลบวบที่ขม เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ยาขับเสมหะ ราก ต้น เป็นยาแก้ปวดหัว ยาแก้หลอดลมอักเสบ ใบ เป็นยาเย็น เป็นยาระบาย ราก ผล เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรง ยาขับพยาธิ ผลแห้งใช้รัง หรือใยแห้งมวนบุหรี่สูบ แก้ริดสีดวงจมูก ผลสดตำพอกศีรษะ ขจัดรังแค แก้คัน ฆ่าเหาได้
ไม่ว่าพืชผลชนิดนี้จะขมอย่างมากมาย หรือหวานอย่างมากล้น ล้วนเป็นคุณประโยชน์แก่ร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ เป็นผักชนิดหนึ่ง ที่เป็นอาหาร หากเรากินได้ ใช้เป็น ก็เป็นคุณ และคู่ควรแก่การเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประโยชน์ และคุณค่า จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพวกเราที่จะเป็นผู้ตัดสินชี้วัด มองโลกนี้ ถ้าเห็นว่ากว้างเกินไป เหตุไฉนใยเล่าจึงไม่เลือกเอา ที่จะมองสิ่งเล็กๆ มุมแคบๆ ที่อยู่รอบตัวเราเป็นเบื้องต้นเล่า