‘ธัญบุรี’ คว้ารางวัลวิจัยนานาชาติ จากงานวิจัยกว่าพัน กว่า 45 ประเทศ ขายสิทธิเอกชนผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว

รศ.ดร. ประเสริฐ ปิ่นปฐมวัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ผลจากการส่งเสริมการค้นคว้าและพัฒนาผลงานวิจัยของอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลงานวิจัยของคณาจารย์ของ มทร.ธัญบุรี เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคมในวงกว้าง และได้รับรางวัลจากการส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีวิจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งผลงานวิจัยเข้าประกวดในงาน 45th  International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นงานประกวดผลงานวิจัยประดิษฐ์คิดค้น และนิทรรศการ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสฯ และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO (The World Intellectual Progerty Organization) ปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน มีองค์กร หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมกว่า 45 ประเทศ โดย มทร.ธัญบุรี ได้ส่งผลงานเข้าประกวด 4 ผลงาน และได้รับรางวัลรวม 6 รางวัล ประกอบด้วย ผลงานเรือหุ่นยนต์สองทุ่น แบบใช้งานระยะยาวสำหรับสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์ ของ ผศ.ดร. ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ และรางวัลพิเศษ จาก HKSTP Invention Award เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

รศ.ดร. ประเสริฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้ ได้แก่ ผลงานมาส์กว่านหางจระเข้ผสมสารสกัดว่านตาลเดี่ยว ได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจาก Association Russian House for International Scientific and Technology Cooperation ประเทศรัสเซีย ผลงานแว๊กนวดอะโรม่าสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงซึ่งทั้งสองผลงานนี้เป็นของ ผศ.ดร. กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย และอีกหนึ่งผลงานคือ เครื่องทดสอบเส้นใยเดี่ยวสำหรับทดสอบความรู้สึกที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ของ ดร. ณรงค์ชัย โอเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า การได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทาง วช.ได้มอบทุนสนับสนุนให้มีการต่อยอดผลงานวิจัย ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา หลายผลงานที่ได้รับรางวัลมีภาคเอกชนมาซื้องานวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าและมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศสนใจงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เช่น ผลงานที่เกี่ยวกับว่านหางจระเข้ และตำรับยาไทยที่เกี่ยวกับสเปรย์ร้อน สเปรย์เย็น ได้มีผู้ประกอบการรัสเซียเข้ามาติดต่อ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ว่านหางจระเข้ที่เป็นเจลครีมสำหรับบำรุงผิวหน้า ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยร่วมมือทำกับภาคเอกชนของไทย และได้ทำการขายลิขสิทธิ์ให้กับภาคเอกชนไปแล้ว มูลค่า 1.2 ล้านบาท โดยภาคเอกชนได้นำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ มียอดขายปีละ 30 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับจากภาคเอกชน และสามารถช่วยภาคธุรกิจให้สามารถต่อยอดสินค้านำไปออกจำหน่ายได้อีกด้วย ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี พร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน