ถอดบทเรียน เลิกแล้ง เลิกจน โมเดล ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพยั่งยืน

น้ำ คือ ชีวิต คำนี้เรามักได้ยินกันอยู่เสมอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ระบบต่างๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้ เพราะน้ำสามารถเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงให้กับหลายๆ ชีวิต รวมไปถึงในเรื่องของการทำเกษตรด้วย เพราะการทำเกษตรต้องมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีขึ้น และผลที่ตามมาคือเกษตรกรสามารถเกิดรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย 

คุณโชติหทัย โชคพิบูลการ

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการน้ำที่ประสบผลสำเร็จ และยังได้รับรางวัลจัดการน้ำชุมชนดีเด่น ในนามเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น นำโดยผู้แทนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCG (เอสซีจี) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

คุณโชติหทัย โชคพิบูลการ ผู้แทน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCG (เอสซีจี) พร้อมผู้แทนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะสื่อมวลชนหลายแขนง ร่วมถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบบริหารจัดการน้ำ เจ้าของรางวัลจัดการน้ำชุมชนดีเด่น ในนามเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย กล่าวว่า ความยากจนเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำ การขาดความรู้ ขาดรายได้ รวมถึงภัยแล้งซ้ำซาก 

เอสซีจี ร่วมกับชุมชนแก้ภัยแล้งโดยสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง เรียนรู้จัดการน้ำ มีน้ำกินน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ มีความรู้การตลาด แปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้มั่นคง ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นต้นแบบในการขยายผล “เลิกแล้ง เลิกจน” ทั่วไทย

คุณพิชาญ ทิพวงษ์

คุณพิชาญ ทิพวงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดการน้ำชุมชมป่าภูถ้ำ ว่าสมัยก่อนนั้นชาวบ้านในชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแตฯ ได้ร่วมชะตากรรมในเรื่องของภัยแล้งมาอย่างยาวนาน โดยพื้นที่ป่าที่มีอยู่เคยถูกทางการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม แต่พวกเขาขอกันพื้นที่บางส่วนไว้ และร่วมแรงร่วมใจรักษาและช่วยกันฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กระทั่งปี 2551 สภาพป่ากลับมาสมบูรณ์ มีมูลค่าที่จะใช้ประโยชน์ทางตรงถึง 10 ล้าน

เมื่อสภาพป่าเริ่มมีความสมบูรณ์ ในทางทฤษฎีแรกที่พวกเขาเชื่อ แต่น้ำก็ยังไม่มีให้ใช้ประโยชน์ได้ จนแล้วจนรอด ความแห้งแล้งก็ยังไม่หมดไปจากชุมชน และหาคำตอบไปเรื่อยๆ ด้วยการลองผิดลองถูกในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งพบวิถีทางและความรู้ ที่ส่งผ่านมาทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และแรงสนับสนุนจาก SCG

คุณคำมี บุ้งโพธิ์

จนกระทั่งจากผืนแผ่นดินที่เคยแห้งแล้งที่ชุดในภาคอีสานเมื่อมีการจัดการน้ำที่ดีแล้วชุมชนป่าภูถ้ำภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น จึงมีน้ำใช้ที่เพียงพอในการดำเนินชีวิตและได้รับการยอมรับให้เป็นชุมชนต้นแบบบริหารจัดการน้ำ เจ้าของรางวัลจัดการน้ำชุมชนดีเด่น ชาวบ้านในชุมชน มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค มีน้ำสำหรับทำการเกษตร หลายคนลืมตาอ้าปากได้ 

คุณคำมี บุ้งโพธิ์ เกษตรกรตัวอย่าง ปลดหนี้หนีความยากจน สร้างรายได้จากเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปรับพื้นที่ แหล่งกักเก็บน้ำในแปลง พร้อมทั้งค่อยๆ ลดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และสามารถสร้างรายได้อย่างดี และผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ดีนั้นก็คือ ผักหวาน เพราะสามารถเก็บจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท เกิดความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืน

“แต่ก่อนปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง แต่ขายได้ราคานิดเดียว ปอกิโลละ 8 บาท มันกิโลละ 50 สตางค์ พอหน้าแล้งมา ลงไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ร้องไห้ทุกวัน พอชุมชนเริ่มมีน้ำสามารถทำการเกษตรได้ เราจึงมีความหวังและตั้งใจทำเกษตรปลูกผักหวานและเกษตรผสมผสานอื่นๆ ในเนื้อที่เราเอง จนสามารถเกิดรายได้ ทุกวันนี้เมื่อย้อนไปสมัยก่อนที่ยังไม่มีน้ำทำเกษตร ผมค่อนข้างที่จะไปทำงานหลายที่มาก จากครอบครัวไปอยู่ที่ไกล แต่เมื่อชุมชนเรามีการจัดการน้ำที่ดี สามารถทำการเกษตรได้ ทุกวันนี้ผมจึงมีความสุขที่ได้ทำการเกษตรบนพื้นที่ของเราเอง ได้อยู่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้ากัน และมีรายได้เป็นเงินเก็บจากผลผลิตทางการเกษตรที่เราทำ ส่วนของกินบางอย่างก็กินในสวนเราเอง เพราะฉะนั้น น้ำคือชีวิต ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” คุณคำมี กล่าว

คุณคำมี บุ้งโพธิ์

คุณเข็ม เดชศรี อีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่มีการจัดสรรพื้นที่การทำเกษตรแบบมีระเบียบแบบแผน  เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวจะเก็บเห็ดที่ขึ้นอยู่ตามป่าส่งจำหน่าย โดยไม่ได้เน้นทำนาเหมือนคนอื่นๆ เพราะสมัยก่อนนั้นแล้งจัดมาก การทำนาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ จากสมัยก่อนที่เก็บเห็ดป่ามาจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 10 บาท จนทุกวันนี้ก็ยังเก็บส่งจำหน่ายอยู่ สามารถทำรายได้ถึงกิโลกรัมละ 300-400 บาท

เมื่อชุมชนเริ่มมีน้ำและการจัดการที่ดี จึงได้แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลายอย่าง ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงปลา และกบ ทำให้พืชและปลาเป็นการสร้างรายได้ประจำวันและสัปดาห์ ส่วนโคเนื้อสร้างเป็นรายได้เป็นเงินเก็บรายปี จึงนับว่าชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับความแร้นแค้นสมัยก่อนที่พื้นที่แห่งนี้มีแต่ความแห้งแล้งและไม่มีน้ำที่สามารถนำไปทำการเกษตรได้ 

“พอเรามีน้ำที่เพียงพอและสามารถจัดการน้ำเองได้ ผมก็เริ่มมาจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบ ขุดสระไว้ 3 ไร่ ทำนา 7 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงโคและพืชผสมผสาน 2 ไร่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เก็บเห็ดป่า รายได้ผลผลิตต่อปี อยู่ที่ราวสองแสนห้า เกิดรายได้ที่ดี สามารถเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้มาทำกิน โดยที่ทุกคนได้อยู่กันพร้อมหน้า ไม่ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ แต่เรามีความสุขที่ได้อยู่ด้วยกันในทุกๆ วัน” คุณพ่อเข็ม กล่าว

 จากการถอดบทเรียนในครั้งนี้ จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้สามารถดำรงอยู่ได้ จึงเป็นการสร้างความสุขของทุกคน ให้ได้อยู่อย่างมีความสุขในพื้นที่ของตัวเอง เกิดผลผลิต มีรายได้ และอาชีพที่เลี้ยงตัวได้อย่างยั่งยืน