เพราะผืนป่าสมบูรณ์! ชาวสุรินทร์แห่เก็บของป่า “ตุมกุย-ปรุ” ริมชายแดน วางขายนทท. รายได้ดี

สุรินทร์-ชาวบ้านชายแดนพากันเข้าป่าตระเวนเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลที่กำลังออกผลสร้างรายได้ ตุมกุยหรือลูกยางสุก และปรุ หรือ มังคุดป่า ก่อนเข้าสู่ฤดูการทำนาปี

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นฤดูฝน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ผลไม้ป่าตามฤดูกาลนานาชนิดกำลังผลิดอกออกผล ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลกาบเชิง จึงได้ถือโอกาสพากันออกตระเวนหาเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาล อาทิ ลูกยางสุก หรือที่เรียกเป็นภาษาเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ว่า ตุมกุย และมังคุดป่า หรือที่เรียกเป็นภาษาเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ว่าปรุ ก่อนจะนำมาวางขายตามเพิงข้างทาง บนถนนสายสุรินทร์-ช่องจอม โดยเฉพาะที่บริเวณข้างทางตรงข้ามโรงพยาบาลกาบเชิง ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พบว่ามีชาวบ้านนำผลไม้ป่ามาวางขายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านจะพากันไปเก็บผลไม้ตั้งแต่เช้ามืดของทุกวัน ในพื้นที่ป่าชายแดนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ เพื่อนำวางขายให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไปมา ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ขายในราคาตั้งแต่พวงละหรือถุงละ 20 – 60 บาท สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี ครอบครัวละ 400 – 800 บาทต่อวัน บางคนขยันหามาได้มาก สามารถสร้างรายได้ถึงวันละพันกว่าบาทกันเลยทีเดียว

สำหรับลูกยางป่า หรือภาษาเขมรพื้นบ้านเรียกว่า “ตุมกุย” เมื่อผลสุกจะสีเหลืองอร่าม และมีลักษณะผลคล้ายกับผลลองกอง เปลือกบาง เนื้อแน่น รสชาติออกหวานอมเปรี้ยว โดยผู้คนที่แวะเวียนมาซื้อต่างถูกใจในรสชาติเป็นอย่างมาก พร้อมซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ถือได้ว่าเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในขณะนี้ โดยขายราคาไม่แพงมากนัก ตามขนาดของแต่ละพวง มีตั้งแต่ราคา 40-60 บาท ส่วนที่ใส่ถ้วยไว้ขายราคาถ้วยละ 20 บาท

ส่วนลูกมังคุดป่า ภาษาเขมรพื้นบ้านเรียกว่าปรุ หรือบางพื้นที่เรียกว่า แพรปรูก (พะ-แร-ปรูก)เป็นลูกคล้ายกันกับมังคุดทั่วไปมีขนาดเล็กกว่า แต่เมื่อสุกเปลือกจะออกสีเหลืองแสด เปลือกแข็ง แต่เมื่อใช้มีดปาดเปลือกออกมา ข้างในจะเป็นเนื้อสีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ซึ่งก็กลายเป็นผลไม้ป่าตามฤดูกาลที่เป็นที่ชื่นชอบและนิยมอีกอย่างหนึ่ง โดยชาวบ้านจะเก็บมาใส่ถ้วยขายถ้วยละ 20 บาท

นางอทิตยาภรณ์ เอ็นดู ชาวบ้านใหม่พาชื่น ม. 20 ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ แม่ค้าขายลูกยาง บอกว่า ลูกย่างป่า หรือภาษาเขมรพื้นบ้านเรียกว่า “ตุมกุย” ลักษณะต้นเป็นเถาวัลย์ขึ้นอยู่ในป่าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เกาะตามต้นไม้ใหญ่ จะออกผลช่วงเดือนเมษายนเข้าต้นพฤษภาคมนี้ หรือช่วงหน้าแล้ง วันหนึ่งถ้าลูกยางออกเยอะ ตนเก็บมาขายมีรายได้วันละประมาณ 700-800 บาท ถ้าเก็บได้น้อยก็จะขายได้ 300-400 บาท ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของผู้คนที่สัญจรไปมาแวะซื้อนำไปบริโภค

นางสายใจ ทองสะโคม อายุ 43 ปี ชาวบ้านตาเกาว์พัฒนา ม.13 ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ แม่ค้าขายผลไม้ป่า กล่าวว่า ตนขายทั้งลูกยางป่าหรือตุมกุย และ มังคุดป่า ซึ่งภาษาเขมรพื้นบ้านเรียกว่าปรุ หรือแพรปรูก (พะ-แร-ปรูก) ปีนี้จะออกมาก ต้นจะคล้ายกับมังคุดบ้าน ลูกก็จะเหมือนกัน รสชาติจะไม่หวานมากเหมือนมังคุดบ้าน เพราะเป็นผลไม้ป่า โดยจะใส่ตะกร้าขายตะกร้าละ 20 บาท ไม่แพง โดยจะไปเก็บมาจากป่าใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชาในพื้นที่ฝั่งบ้านเรา ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากในช่วงนี้ โดยจะมีลูกยางป่า และมังคุดป่า พอช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็จะมีเห็ดป่าและลูกลำดวน รวมไปถึงเงาะป่า ซึ่งผลไม้ป่าจะออกมาเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านพอมีรายได้ ซึ่งหากออกไปเก็บเร็วและขยันเก็บได้มากก็จะขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท แต่ที่ขายได้ทุกวันวันละ 400-800 บาทต่อวัน ก็พออยู่ได้ ก็ยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ผ่านไปมาได้แวะชิมและซื้อผลไม้ป่าตามฤดูกาล ซึ่งจะมีขายอยู่ริมทางตรงข้ามโรงพยาบาลกาบเชิงทุกวัน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์