นวัตกรรมใหม่ ผลงานนักวิจัยไทย เพื่อชาวโลก

นักวิจัยไทยเก่ง…ไม่แพ้ชาติใดในโลก ล่าสุดไปกวาด 97 รางวัล ระดับโลก จากงานโฟว์ตี้ฟิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์ซิบิชั่น ออฟเจนีวา (45th International Exhibition of Inventions Geneva) แถมยังได้รางวัล Special Prize จำนวน 21 รางวัล จากเวทีแข่งขันนานาชาติอีก 9 ประเทศ เรียกว่า โกยรางวัลระดับนานาชาติถึง 118 รางวัล สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ      

 

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง  คว้า 97 รางวัล ระดับโลก ที่เจนีวา

สำนักงาน วช. ได้นำนักประดิษฐ์และนักวิจัยจาก 30 หน่วยงาน นำผลงานเข้าร่วมประกวดในงานโฟว์ตี้ฟิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์ซิบิชั่น ออฟเจนีวา ณ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่าง วันที่ 29 มีนาคม-2 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุดในโลก จัดเป็นปีที่ 45 ติดต่อกัน มีนักวิจัยทั่วโลกส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 725 ผลงาน จาก 40 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 50,000 คน

ในปีนี้ นวัตกรรมเรื่อง “การตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาอย่างอัตโนมัติ จากภาพถ่ายจอตาบนสมาร์ทโฟน” ของ รองศาสตราจารย์ ดร. จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และคณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ชนะรางวัล Grand Prix  จากเวทีประกวดที่เจนีวา และได้รางวัล Special Prize (On stage) จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสหพันธรัฐรัสเซีย

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยของไทย ยังได้รับรางวัลสำคัญจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ 9 ผลงาน รางวัลเหรียญทอง 22 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 36 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง 24 ผลงาน และได้รับรางวัลพิเศษจากองค์กรและหน่วยงานต่างประเทศ 21 รางวัล ทั้งนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัย ที่ชนะรางวัลสิ่งประดิษฐ์จากเวทีแข่งขันนานาชาติ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้

 

“นวัตกรรม SMART 3T ในฟาร์มอัจฉริยะ สำหรับปศุสัตว์”

“นวัตกรรม SMART 3T ในฟาร์มอัจฉริยะ สำหรับปศุสัตว์” (SMART 3T Speed Dx for Smart Farm) ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จากงานโฟว์ตี้ฟิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์ซิบิชั่น ออฟเจนีวา ผลงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากการคิดค้นและพัฒนาร่วมกันของศูนย์ความเป็นเลิศทางวิจัยด้านไบโอเซ็นเซอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 3 องค์กร ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เข้าร่วมคิดค้นงานวิจัย

นวัตกรรม SMART 3T ในฟาร์มอัจฉริยะ สำหรับปศุสัตว์

ทีมนักวิจัย จำนวน 10 คน ภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร. โกสุม จันทร์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ. ดร. นารีรัตน์ วิเศษกุล สังกัดหน่วยปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกอบด้วย ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น นายไพบูลย์ นารัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานวิจัยพัฒนาสายธุรกิจสุกร บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ ดร. ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์

ดร. ธีระพล กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความภูมิใจที่ผลงานนวัตกรรมชุดตรวจโรคสัตว์ในฟาร์มอัจฉริยะสำหรับปศุสัตว์ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ในครั้งนี้ ผลงานนวัตกรรมนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลและป้องกันโรคในสัตว์ที่มีประสิทธิภาพทันสมัยและสะดวกสบาย ซึ่งเป็นไปตามหลักสำคัญ 5 ประการ ในการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่

  1. การมีสายพันธุ์ที่ดี (Genetic)
  2. การเลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารคุณภาพดี (Nutrition)
  3. การเลี้ยงในโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน (Farm)
  4. การมีระบบการจัดการฟาร์มที่ดี (Management) และ
  5. การป้องกันโรคที่เข้มงวด (Bio-security)

การคิดค้นนวัตกรรมนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ซีพี 4.0 ที่กำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อสร้างคุณค่าทางธุรกิจและพัฒนาสังคม โดยที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่เป็นสถาบันชั้นนำระดับโลก คิดค้นงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำมาสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและประเทศไทย

สำหรับนวัตกรรม SMART 3T ในฟาร์มอัจฉริยะ สำหรับปศุสัตว์ “SMART 3T Speed Dx for SMART Farm” เป็นชุดทดสอบที่สามารถตรวจ ดีเอ็นเอ ของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ในสัตว์ โดยนำร่องที่สุกร ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ บนแผ่นทดสอบแถบได้ 3 ชนิด ในเวลาเดียวกัน สามารถตรวจเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในสุกรได้ถึง 3 ชนิด คือ

  1. PRRSV (PORCINE RESPIRATORY and REPRODUCTIVE SYNDROME VIRUS) เป็นโรคที่ทำอันตรายต่อระบบหายใจ และระบบสืบพันธุ์
  2. PED (PORCINE EPIDEMIC DIARRHEA) โรคท้องร่วงติดต่อในลูกสุกร ขี้ไหลในลูกสุกร บางครั้งสามารถทำให้ตายยกครอกได้
  3. CIRCO (PCV2-PORCINE CIRCO VIRUS 2) เชื้อไวรัส ที่มักพบร่วมกับ PRRSV ที่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สำหรับชุดทดสอบนี้ ใช้งานง่ายและสะดวก ใช้เวลาสั้นแค่ 1  ชั่วโมง ก็ทราบผลการตรวจผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทดีไวซ์ที่เชื่อมต่อกับ IoT แพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถอ่านและแสดงผลบนแดชบอร์ด วิเคราะห์ ประมวลผล พร้อมทั้งรวบรวมและส่งข้อมูลจากพื้นที่ระบาดสู่การติดตามผล ที่ระบบ Cloud Smart Farm ซึ่งเป็นศูนย์กลางได้ทันที นวัตกรรมชิ้นนี้ จะมีประโยชน์กับผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ไม่เพียงจะช่วยในการตรวจหาโรคด้วยวิธีการที่ง่ายและในเวลาอันรวดเร็วแล้ว แต่ยังจะช่วยในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคอีกด้วย

 

นวัตกรรมใหม่…ฝีมือนักวิจัยไทย

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ฝีมือนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติอีกมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น

ชุดเครื่องต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับการเกษตร การท่องเที่ยวและการขนส่ง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โทร. (02) 697-6705 ผลงานชิ้นนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อ “ประหยัดต้นทุน” จากการใช้พลังงานสิ้นเปลืองแบบเดิม เช่น น้ำมันดีเซล ผลงานเครื่องยนต์ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าสามารถติดตั้งแทนเครื่องยนต์สันดาปภายในอเนกประสงค์ทางการเกษตรได้ทันที มอเตอร์สามารถปรับความเร็วรอบมอเตอร์ได้ด้วยชุดควบคุมและคันเร่ง แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา

ทีมนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จากผลงาน “นวัตกรรมปุ๋ยมันสำปะหลัง”

นวัตกรรมปุ๋ยสำหรับมันสำปะหลัง ของ ผศ.ดร. ณัฐบดี วิริยาวัฒน์ และคณะ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดที่มีแบคทีเรียช่วยย่อยสารพาราควอทที่ตกค้างในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสัดส่วนของธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง และผลิตปุ๋ยนาโนซิลิคอน ใช้เป็นสารเสริมการเติบโตและสารปรับปรุงดินในแหล่งปลูกมันสำปะหลัง และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นมันสำปะหลัง พร้อมป้องกันแมลงศัตรูพืช สนใจติดต่อ ผศ.ดร. จิระ จิตสุภา โทร. (02) 244-5280-2

ผศ.ดร. ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง กับผลงาน “นวัตกรรมระหัดวิดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์”

นวัตกรรมระหัดวิดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ของ ผศ.ดร. ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โทร. (035) 434-014 คณะวิจัยได้ปรับปรุงระหัดวิดน้ำแบบเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพในการสูบน้ำที่สูงขึ้น โดยประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขับเคลื่อนระหัดวิดน้ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรในระยะยาวกว่าการสูบน้ำด้วยเครื่องยนต์

ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกระตุ้นภูมิคุ้มกันพืช ของ ผศ.ดร. ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. (02) 564-4440 ต่อ 2063 ผลงานชิ้นนี้ เป็นชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชในรูปผงผสมน้ำ สำหรับกระตุ้นภูมิต้านทานพืชจากการเข้าทำลายของโรคพืชและลดความเสียหายจากแมลงศัตรูพืช สารออกฤทธิ์เป็นสารสกัดจากสมุนไพรไทยอนุภาคนาโนและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ สามารถควบคุมโรคพืชที่สำคัญ ได้แก่ โรคข้าว (โรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง โรคใบหงิก โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคเมล็ดด่าง) โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม โรครากเน่าของมันสำปะหลัง โรคของพืชผัก (โรคเน่าดำ โรคเน่าเละ โรคใบจุดอัลเทอร์นาเรีย) และโรคไม้ดอกไม้ประดับ (โรคเน่าเปียก โรคใบจุด โรครากเน่า) และควบคุมแมลงสำคัญ ได้แก่ แมลงศัตรูข้าว (หนอนห่อใบข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียว) และแมลงศัตรูพืชผัก (ด้วงหมัดกระโดด ผีเสื้อหนอนใยผัก) ใช้งานง่าย โดยการราดดิน คลุกเมล็ด  พ่นใบ ผสมดินปลูกหรือผสมในปุ๋ยหมัก

ทีมนักวิจัยเจ้าของผลงาน “ผึ้งอัจฉริยะ”

ผึ้งอัจฉริยะ ของ รศ.ดร. ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร และคณะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. (053) 942-610 ผึ้งอัจฉริยะ เป็นโมเดลการทำเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ ที่เกษตรกรนำเทคโนโลยีไปใช้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกลุ่มวิจัยได้สร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ในการเลี้ยงผึ้ง ได้แก่ CERAMPORE เซรามิกรูพรุนที่ควบคุมการปลดปล่อยสารสมุนไพรเพื่อกำจัดไรในรัง และ REMVE เครื่องเก็บพิษผึ้งแบบทางไกล เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ผึ้งแล้วยังสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและสุขภาพได้อีก จากการวิจัยเพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์คือ BESLK BEVEN BEROYAL BEPRO ซึ่งผลิตจากไหมผึ้ง พิษผึ้ง นมผึ้ง และพรอพอลิส ได้จากการเกษตร เป็นการเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมโดยสร้างเอกลักษณ์ของไทยผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากเจนีวา และได้รับรางวัล Special Prize จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (MARS)

นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสดด้วยการใช้คลื่นความถี่วิทยุยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และการใช้ฟิลม์บริโภคได้พร้อมปรุงที่ผสมวัตถุกันหืนจากธรรมชาติ ของ ผศ.ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ และคณะ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. (055) 968-767 (คุณณัฐกานต์) นวัตกรรมแปรรูปชิ้นนี้ ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถคงสภาพสีและปริมาณกลิ่นหอมระเหยและคุณสมบัติโภชนเภสัชในผลิตภัณฑ์สมุนไพรไว้ได้สูง มีความปลอดภัย ต้นทุนการผลิตต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้กระบวนการแปรรูปและการขนส่งทั้งในและต่างประเทศมีความยั่งยืน มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการดั้งเดิมที่ใช้ในอุตสาหกรรม