เอ็นยืด ผักกาดน้ำ เป็นผักเด็ด และสุดยอดยาดี

อาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดข้อ บาดเจ็บกระดูกหัก กระดูกซ้น เท้าแพลง เท้าพลิก เส้นเอ็นฉีก เป็นอาการที่คนเราทั่วไปมักประสบพบเจออยู่เสมอ เจ็บปวดเล็กน้อย ก็หายามากิน หายามาทาถูนวด ปวดมากก็ไปหาหมอ อาจหนักถึงขั้นผ่าตัด ฝังเหล็กขันน็อตเสริม เข้าเฝือก ตัดทิ้ง และอีกหลายกรณีที่ได้เจอมา จนเป็นภาพคุ้นชินตา หรือว่านี่เป็นภาพหนึ่งที่คนบ้านเราต้องมีกัน จนเห็นไม่ใช่ของแปลกใหม่อะไร จริงหรือไม่ว่า ทุกคนต้องเคยเจ็บ เคยปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และไปหาหมอ อาการเจ็บป่วยแบบนี้ สมัยก่อนเป็นกันมากยิ่งกว่าปัจจุบัน แต่ชาวบ้านเขามีวิธีการแก้ หรือรักษาให้หายได้ ด้วยสมุนไพร หมอพื้นบ้านไทยได้เผยแพร่ไว้ และมีใช้กันจนถึงปัจจุบัน

กล่าวกันถึงเส้นเอ็น และกระดูก ของคนเราก็เหมือนเป็นโครงสร้างหลักที่เสกปั้นให้เป็นตัวเราขึ้นมา เส้นเอ็นนับ 900 เส้น กระดูก 206 ชิ้น ที่ผูกร้อยเชื่อมต่อกันเป็นโครงร่างกายเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ว่ากันตามหลักกายวิภาคศาสตร์ จะเห็นว่า กระดูกเป็นชิ้นๆ มีเส้นเอ็นเป็นตัวผูกร้อย ดึงขึงรัดให้กระดูกต่อกัน เป็นรูปร่างคนเรา และมีอวัยวะต่างๆ บรรจุอยู่ในโพรงของโครงกระดูก มีกล้ามเนื้อ ไขมัน เส้นเลือด เส้นประสาท เครื่องในอีกนับสิบอย่าง มีหนังหุ้มห่อไว้ให้เป็นรูปร่าง ที่เราต่างก็มีความภาคภูมิใจว่า สวยงามดีแล้ว แต่ก็มีบางคนที่ไม่ชอบใจในความสวยงามที่มีนั้น

“เอ็นยืด” เป็นชื่อพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งของไทย ที่หมอยาไทยใช้มาแต่โบราณกาล ต่างชาติก็มี และให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นพืชในตระกูลเทียนเกล็ดหอย PLANTAGINACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plantago major L.ชื่อสามัญ เรียกกันทั่วไปว่า Waybread หรือ Greater Plantain หรือ Common Plantain ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ มีมากมายหลายชื่อทีเดียว ทางภาคเหนือ เรียก หญ้าเอ็นยืด หญ้าเอ็นหยืด หญ้าเอ็นยึด ชาวเมืองกรุงภาคกลาง เรียก ผักกาดน้ำ ผักกาดน้ำไทย ผักกาดน้ำใหญ่ หรือหญ้าหมอน้อย ประเทศจีน เรียก เชียจ่อยเช่า ตะปุกซี่ ยั่วเช่า เซียแต้เฉ้า จีนกลาง เรียก ต้าเซอเฉียนเฉ่า แต่วันนี้จะเรียกชื่อพืชชนิดนี้ว่า “เอ็นยืด”

พืชตัวนี้ มีค่าความเป็นผัก และมีคุณสมบัติคล้ายกันกับผักกาดน้ำเล็ก ต่างกันก็แต่ขนาดต้น ใบ ความยาวของช่อดอก เมล็ด เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี ขยายพันธุ์แพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดที่แก่ร่วงหล่นไว้ เมื่ออุณหภูมิความชื้นและแสงแดดที่เหมาะสม จะงอกเป็นต้นใหม่ โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวจะแพร่พันธุ์ได้มาก และสามารถแยกต้นอ่อนไปขยายปลูกในที่ที่ต้องการได้

พืชชนิดนี้เป็นทั้งผัก เป็นวัชพืช เป็นพืชสมุนไพร ชอบขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งๆ ชอบที่มีความชื้นสูง มีโคนต้นติดดิน รากสั้น แตกแขนง หรือหน่อย่อยมากมาย แตกใบออกแทงออกมาคล้ายใบผักกาด ก้านใบยาวกว่าตัวแผ่นใบ ออกเรียงสลับ ที่โคนต้นมีกาบหุ้ม แผ่นใบหนาคล้ายใบผักคะน้า ใบรูปไข่กลับโคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่นหยัก มีเส้นใบตามยาว 5-7 เส้น คล้ายช้อนแกง ออกดอกเป็นก้านยาว มีดอกย่อยขนาดเล็กสีเขียวอ่อน หรือน้ำตาลอมเขียว ชูขึ้นกลางกอ เมื่อแก่จะติดผลหรือฝัก เป็นช่อยาวตลอดก้านช่อดอก เป็นผลแห้ง รูปร่างไม่แน่นอน สีเขียวอมน้ำตาล หรือน้ำตาลถึงดำ เมื่อแก่จะแตก ข้างในผลมีเมล็ดเล็กๆ 8-15 เมล็ด

เอ็นยืด เป็นพืชผักที่มีคุณค่าทางอาหาร ใช้เป็นผักสดกินร่วมกับน้ำพริก หรือจะต้ม ลวก ชุบไข่ ชุบแป้งทอด แกงป่า แกงเลียงใส่ปลาย่าง แต่ต้องรีบเก็บตอนแตกใบอ่อน เป็นผักที่แก่รวดเร็วมาก ในผัก 100 กรัม ให้พลังงาน 61 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 81.4% โปรตีน 2.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 14.6 กรัม แคลเซียม 184 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 52 มิลลิกรัม เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 4,200 หน่วย (IU.) วิตามินบีสอง 0.28 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 8 มิลลิกรัม และมีสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณที่สูงพอสมควร

สรรพคุณทางยา มีกว่า 20 อย่าง โดยเฉพาะสมญานามที่วงการหมอยาเรียกกันว่าเป็นสุดยอด ยาเอ็น ยากระดูก และยานิ่ว เป็นจุดเด่นของเอ็นยืด สรรพคุณด้านรักษาบำรุงเส้นเอ็น ใช้เอ็นยืดทั้งต้น นำมาทุบให้น้ำออก ใช้พอกบริเวณที่เส้นเอ็น และกล้ามเนื้ออักเสบเจ็บปวด ตึง บริเวณต้นคอ แขน ขา หลัง เอว อาการเอ็นยึด เอ็นพลิก เอ็นตึง ช่วยให้เอ็นคลายตัว บรรเทาอาการปวดได้ ในลูกประคบ หรือยาจู้ ของหมอพื้นเมือง มีส่วนผสมของเอ็นยืด ขมิ้น ไพล เป็นตัวยาสำคัญ เช่นเดียวกับอาการทางกระดูก กระดูกนิ้วซ้น กระดูกหัก กระดูกแตก ข้อเท้าแพลง จากอุบัติเหตุ ใช้ต้นเอ็นยืดทุบใส่กระทะเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว เอามาทาสมานกระดูกที่แตกหักได้ดี และช่วยคลายอาการเอ็นกล้ามเนื้อตึงได้ด้วย หรือจะใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น หญ้าถอดปล้อง เถาวัลย์ปูน ตะไคร้หอม บอระเพ็ด ใช้รักษาอาการกระดูกแตก กระดูกหัก ได้ดีเช่นกัน

นอกจากนั้น เอ็นยืด เป็นยารักษาภายใน และระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ขับล้างทางเดินปัสสาวะ แก้ชำรั่ว ปัสสาวะกระปิดกระปอย โดยใช้ต้นเอ็นยืดต้มน้ำดื่ม บางตำราว่า ใช้เมล็ด 5 ขีด ต้มน้ำ 3 ลิตร ให้เหลือ 1 ลิตร แบ่งกิน 3 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะ และรักษาปัสสาวะแดงเป็นเลือด ขุ่นข้น ได้ดีมาก ส่วนในการรักษานิ่ว ใช้ทั้งต้นปั่นละเอียด ผสมน้ำข้าว 1 ขวด ดื่มภายใน 1 วัน ติดต่อกัน 2-3 วัน ก้อนนิ่วจะละลายหลุดออกมาตามท่อปัสสาวะ

โรคอื่นๆ ที่เอ็นยืดรักษาได้ เช่น แก้กระษัย ความดันโลหิตสูง ตามัว ตาแดง ตาเป็นต้อ ร้อนใน เจ็บคอ แก้ไข้ ไอหวัด หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ เลือดกำเดาไหล ท้องร่วง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ บิด ไตอักเสบ บวมน้ำ ขาบวมน้ำ ห้ามเลือดจากบาดแผลภายนอก แก้อาการฟกช้ำบวมจากการหกล้มกระแทก ซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเข่า ช้ำใน บางตำราว่า เอ็นยืดเป็นยาบำรุงกำหนัด โดยใช้ใบในช่วงออกดอก ตากแห้ง ชงดื่มเป็นน้ำชา คงเป็นเพราะชื่อมีความเกี่ยวกับ “เอ็น” หมายถึง เส้นเอ็น หรือเอ็น นั้นก็ได้

เอ็นยืด เป็นยายืดเส้นเอ็นไม่ให้ตึง หรือเป็นยายึดเส้นเอ็นไม่ให้หย่อนยาน สาเหตุที่เรียกว่าเอ็นยืด เขาเล่าว่า เมื่อนำก้านใบมาหัก แล้วค่อยๆ ดึงออก จะเห็นเส้นเอ็นยืดออกมา ลองหามาทำดู ลองหามาปลูกไว้ใช้ประโยชน์ บรรพบุรุษของเราเขาใช้มานานแล้ว ก็พึงสังเกตว่า คนจีนคิดถึงผักเป็นยา เป็นอาหาร คนไทยคิดถึงผักเป็นสมุนไพร เป็นยารักษา บำรุงร่างกาย ผักเป็นอาหาร และเป็นยา จึงเรียกว่าอาหารไทย อาหารจีน เป็นตำรับยาบำรุงกายอย่างแท้จริง

 

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2564