เสมอ หาริวร ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 60 ผู้ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนและชุมชน

จากความไม่อุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เพาะปลูกไม่ได้ผล ชุมชนขาดแคลนอาหาร นักเรียนประสบปัญหาภาวะทางโภชนาการ จึงริเริ่มสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ทางอาหาร ทั้งในโรงเรียนและชุมชน ผ่านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกร

นายเสมอ หาริวร ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ปี 2560 และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการจัดตั้ง  กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง 12 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 นักเรียนทั้งหมดเป็นคนชุมชนบ้านท่าล้ง เป็นชนเผ่าไทบรู มีประชากร ๓๕๐ คน ประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหิน เป็นที่ลาดเชิงเขาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม สภาพดินไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช เป็นชั้นหิน ไม่มีแหล่งน้ำ ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทำให้ผลผลิตข้าวในชุมชนไม่พอเลี้ยงครอบครัว ชุมชนขาดแคลนอาหาร นักเรียนมีปัญหาด้านสุขภาพ มีพัฒนาการด้านร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน  จึงมีความคิดริเริ่มแก้ปัญหาโดยการสร้างแหล่งอาหารให้นักเรียน ผ่านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ทั้งในโรงเรียนและชุมชน พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบประณีตผ่านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อสร้างผลผลิตเกษตรในพื้นที่ที่มีจำกัดแต่ให้มูลค่าสูง เร่งศึกษาพัฒนา การแก้ปัญหาทั้งเรื่องดินและน้ำ รวมทั้งความรู้กระบวนการทางด้านการเกษตร โดยดำเนินการตั้งแต่เด็กช่วงวัยเรียนในโรงเรียน ปลูกฝังและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีทางด้านอาหาร ให้มีความต่อเนื่อง มั่นคงและยั่งยืน โดยน้อมนำเอาแนวทางปฏิบัติตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙  มาเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร พร้อมประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ เร่งศึกษาพัฒนาการแก้ปัญหาเรื่องดินและน้ำ ความรู้กระบวนการทางด้านการเกษตรให้กับกลุ่มยุวเกษตรกร

ปัจจุบันกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง 12  มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร 40 คน โดยโรงเรียนได้บูรณาการงานกลุ่มยุวเกษตรกรเข้าไว้ในสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน คุณลักษณะ และสมรรถนะ กำหนดในหลักสูตรการเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร และหลังจากการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่เวลา ๑๔.๓๐ น. เป็นต้นไปของทุกวัน คือ ช่วงเวลาของ การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร โดยไม่เว้นวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ และช่วงปิดภาคเรียน โดยงานของยุวเกษตรกร ถูกแบ่งออกเป็น งานรวมที่โรงเรียน งานกลุ่มย่อยที่โรงเรียน และงานขยายผลที่บ้าน เพื่อขยายองค์ความรู้ทางการเกษตรสู่ครอบครัวของยุวเกษตรกรและชุมชน ผ่านกิจกรรมการทำดินปลูก ทำปุ๋ยหมัก  ทำสารไล่แมลง ทำนำยาเอนกประสงค์ สวนดอกแกลดิโอลัส สวนแก่นตะวัน เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงปลา  เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงให้โรงเรียน และชุมชน ทำให้นักเรียนมีอาหารพอตลอดปี และมีรายได้ มีเงินออมสร้างความยั่งยืนผ่านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกร การพัฒนากลุ่มฯอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเพียงหลวง 12 เป็นกลุ่มยุวเกษตรกรต้นแบบของจังหวัดอุบลราชธานีให้โรงเรียน ทั้งในท้องถิ่นและจังหวัดมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกร และงานด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์  เคหกิจเกษตร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชุมชนเกษตร นายเสมอ จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่น ปี 2560