ที่มา | กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ไทยๆ ที่มีมาแต่โบราณแล้ว คนไทยทุกคนเกิดมาก็ต้องรู้จักกล้วยน้ำว้าเป็นอย่างดี เพราะปลูกง่าย โตเร็ว ออกดอก และให้ผลผลิตที่เร็วพอๆ กับการแตกหน่อใหม่เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไป
ในบรรดากล้วยในบ้านเรา กว่า 20 ชนิด กล้วยน้ำว้า ถือว่าเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะเนื่องจากในผลกล้วยจะมีวิตามินบี 1 และบี 2 ที่ช่วยในการเร่งเผาผลาญ น้ำตาลและไขมัน ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากการเหนื่อยล้า อีกทั้งยังมีโพแทสเซียมช่วยในการขับโซเดียม อันเป็นหนึ่งในตัวการที่จะทำให้ความดันเลือดสูงออกทางปัสสาวะ และส่งผลให้ลดการบวมของร่างกายได้ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ ที่ได้จากกล้วยน้ำว้า ไม่ว่าจะผลดิบ ห่าม หรือสุก กล้วยก็สามารถนำมาประกอบอาหาร ได้หลายรูปแบบ และรสชาติความอร่อยก็ไม่ซ้ำแบบกัน
กล้วยน้ำว้าสุกงอม นำมาครูด หรือขูดเบาๆ สามารถใช้เป็นอาหารสำหรับเด็กทารกเนื่องจากย่อยง่าย ช่วยระบายท้อง
กล้วยน้ำว้าดิบและห่าม นำมาใช้ทำแกงคั่ว ทำกล้วยฉาบ ปิ้ง นึ่ง ทอด อบ กวน และเชื่อม
กล้วยน้ำว้าสุก นำมาทำเป็นของหวาน เช่น กล้วยบวชชี กล้วยแขก กล้วยตาก ขนมกล้วย
นอกจากนั้นแล้วส่วนที่เรียกว่า หัวปลี ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของแกงเลียง เป็นอาหารบำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอด หรือใส่ต้มข่า ต้มยำ ยำหัวปลี ลวกหรือเผาจิ้มน้ำพริก ใช้เป็นเครื่องเคียง ผัดไทย ผัดหมี่ เต้าเจี้ยวหลน กะปิหลน ขนมจีนน้ำพริก ก็ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้นได้
หลายคนอาจมองจะมองว่าเป็นผลไม้ที่ไม่น่าจะให้พลังงานได้เยอะ แต่เชื่อหรือไม่ว่า กล้วยน้ำว้าเป็นแหล่งพลังงานสำรองชั้นดี เพราะใน 1 ผล สามารถให้พลังงานถึง 100 แคลอรี ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลธรรมชาติอยู่ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุกโทส และกลูโครส รวมไปถึงเส้นใยและกากอาหาร
…หากเกิดอาการหิว ก็ทานรองท้องได้ครับ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยที่กิน)
นอกจากกล้วยน้ำว้าจะโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังอุดมด้วยวิตามินบี 6 ที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน และมีแร่ธาตุ อย่างแมกนีเซียมและโพแทสเซียม ที่ช่วยป้องกันโรคความดัน และสารอาหารจำพวกโปรตีนที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่หลายชนิด
…ทั้งหมดเป็นประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการของกล้วยน้ำว้า คราวนี้มาดูกันว่าสรรพคุณทางยามีอะไรกันบ้าง ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้าไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มพลังงาน ผลสุกยังสามารถใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวหน้า โดยเฉพาะกลุ่มสาวๆ ที่รักสวยรักงามจะนิยมนำกล้วยสุกมาบดให้ละเอียด เติมน้ำผึ้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วน้ำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นล้างออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวลดความหยาบกร้านบนผิวได้
เห็นเป็นผลไม้ที่ง่ายๆ (หมายถึงกินง่าย ปลูกง่าย) แต่จุดเด่นที่กล้วยมีอีกหนึ่งอย่างสามารถใช้เป็นยาบรรรเทาอาการผิดปกติภายในและภายนอกร่างกาย
จากข้อมูลตามเว็บไซต์ที่ได้เขียนเล่าเรื่องราวไว้ว่ากล้วยน้ำว้าสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ หรืออาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้งๆ ช่วยลดกลิ่นปากได้ดี เป็นยาระบายช่วยแก้ท้องผูก หรือระบบขับถ่ายไม่ปกติ เนื่องมาจากสารเพคติน จะเป็นตัวเพิ่มใยอาหารให้กับลำไส้ เมื่อลำไส้มีกากอาหารมาก จะไปดันผนังลำไส้ ทำให้ผนังลำไส้เกิดการบีบตัว จึงทำให้รู้สึกอย่างถ่ายนั้น เป็นคุณสมบัติบ้างส่วนที่กล้วยน้ำว้ามี
เพราะนอกจากจะเป็นยาระบายช่วยแก้อาการท้องผูกได้ กล้วยยังสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องเดินหรือท้องเสียได้ ทั้งนี้ เพราะในกล้วยน้ำว้ามีสารแทนนินอยู่มาก จึงสามารถช่วยรักษาอาการท้องเสียแบบไม่รุนแรงได้
หมายเหตุ : ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่ามมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละครึ่ง ถึง 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ใน 4-5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้ง
สรรพคุณทางยาของกล้วยน้ำว้าไม่หมดเพียงเท่านี้ ผลเล็กๆ เมื่อสุกกินหวานอร่อย ผลดิบยังสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะได้ แก้อาการท้องเสีย โดยการนำกล้วยน้ำว้าดิบมาปอกเปลือก แล้วนำเนื้อมาฝานเป็นแผ่นบางๆ แตกแดด 2 วัน ให้แห้งกรอบ บดเป็นผงให้ละเอียด ใช้ทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำข้าว หรือน้ำผึ้ง ทานก่อนอาหาร ครึ่งชั่วโมง หรือก่อนนอนทุกวัน
เปลือกกล้วย : บรรเทาอาการคันอันเนื่องมาจากแมลงกัดต่อย และผื่นแดงจากอาการคัน รักษาโรคหูดบนผิวหนัง ช่วยฆ่าเชื้อ ที่เกิดจากบาดแผล
ยางกล้วย : ใช้ในการห้ามเลือดได้
ราก : แก้ขัดเบา
ก้านใบตอง : ช่วยลดอาการบวมของฝี (ก่อนใช้ต้องตำให้แหลก)
ใบอ่อน : นำไปอังไฟให้นิ่ม ใช้ประคบแก้อาหารเคล็ดขัดยอกได้
หัวปลี : ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และบำรุงและขับน้ำนมสำหรับมารดาหลังคลอดบุตร
ผลสุก : เป็นยาระบาย สำหรับผู้ที่อุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นแรกจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด
ใบตอง : นำมาใช้ทำกระทง ห่อขนม ห่ออาหาร ทำบายศรี บวงสรวงในงานต่างๆ
หมายเหตุ ในกล้วยดิบ จะกระตุ้นเซลล์ในเยื่อบุกระเพาะเพื่อหลั่งสารพวก “มิวซิน” ออกมาเคลือบกระเพาะ ซึ่งมีฤทธิ์ในการรักษาแผลในกระเพาะ