“หนูพุก ”อาชีพใหม่สร้างรายได้ โดย ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา เพื่อคนอยู่ได้ ช้างป่าอยู่ได้ ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

หนูพุก เลี้ยงง่าย รายได้ดีถึง 7,200 บาทต่อรุ่น

จากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัดของภาคตะวันออก ด้วยมีสาเหตุจากที่ช้างป่าขาดแคลนแหล่งอาหาร ทำให้มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่หากิน จึงลงมาที่แปลงเกษตรกรรมของเกษตรกร ทำความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร โดยมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 22 อำเภอ 56 ตำบล 299 หมู่บ้าน ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ ในการอยู่ร่วมกันกับช้างป่าท่ามกลางความรุนแรงที่ทวีมากขึ้น

ต้นแบบความสำเร็จภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ คือโครงการสำคัญที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้าน  คือ ด้านที่ 1 การจัดการพื้นที่ป่า ด้านที่ 2 การจัดการพื้นที่แนวกันชน และ ด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน โดยเน้นกลไกการทำงานร่วมกัน เชื่อมและประสานงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธาน

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินงานสนองพระราชดำริโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน 5 จังหวัด (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี) เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างป่า โดยดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า ด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาอาชีพ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดและระดับพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพนั้น หน่วยงานของ ส.ป.ก. ในพื้นที่ได้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต จนนำมาสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ของเขตปฏิรูปที่ดินทั้ง 5 จังหวัด ด้วยการจัดอบรมภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย การเลี้ยงหนูพุก โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา การปลูกสมุนไพร โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี การแปรรูปอาหาร เช่น ข้าวเกรียบปลา ปลาส้ม ปลาดุกร้า โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว การสนับสนุนพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก พะยูง ไผ่ เงาะโรงเรียน และชะอม โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยอง การปลูกผักสวนครัว การผลิตพืชผักปลอดภัยโดยการประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่น การทำฮอร์โมนจากพืช การสกัดสมุนไพรเพื่อป้องกันโรคพืชและกำจัดศัตรูพืช โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจันทบุรี

ภายใต้การดำเนินงาน โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินทั้ง 5 จังหวัด ได้นำมาซึ่งการสร้างชีวิตใหม่ ให้กับเกษตรกร ส่งผลให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน อีกทั้งสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุล ดังความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการส่งเสริมการเลี้ยงหนูพุก โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา

ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงหนูพุกโดย ส.ป.ก.นำมาสู่การสร้างรายได้และอาชีพใหม่

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ด้วยอำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอสนามชัยเขต ทั้ง 2 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประสบปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และได้ทวีความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรได้รับผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดลงอย่างมาก

“ ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา จึงกำหนดแนวทางการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรที่ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ที่เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสมดุลของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ที่ อำเภอท่าตะเกียบ และอำเภอสนามชัยเขต โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญ คือ ส่งเสริมการเลี้ยงหนูพุก เพื่อเพิ่มรายได้ เนื่องด้วยหนูพุก เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย มีคุณค่าทางโปรตีนสูง เป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาสูง ถือเป็นหนูเลี้ยงที่สะอาด สามารถนำไปประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัย และหลากหลาย”

สนับสนุนพ่อแม่พันธุ์หนูพุกให้เกษตรกร รายละ 2 คู่

อาชีพการเลี้ยงหนูพุก ถือว่าเป็นอาชีพใหม่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น เพื่อสร้างทั้งองค์ความรู้และแนวทางในการบริหารจัดการด้านการตลาดรองรับ  ส.ป.ก. ฉะเชิงเทรา จึงจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ด้วยการเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้ อีกทั้งยังสนับสนุนวัสดุการเลี้ยง เช่น การมอบพ่อแม่พันธุ์หนูพุกให้เกษตรกร รายละ 2 คู่ ขณะที่ด้านตลาดรองรับได้มีการประสานกับผู้รับซื้อในพื้นที่เปิดจุดรับซื้อหนูพุกจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สนับสนุนองค์ความรู้การเลี้ยงหนูพุกด้วยการเรียนรู้จริง

จากการทำงานอย่างทุ่มเท มีการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการเลี้ยง วันนี้เกษตรกรสามารถมีรายได้และอาชีพที่มั่นคง อย่างอาชีพการเลี้ยงหนูพุก ที่ได้รับการสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์หนูพุก จำนวน 2 คู่ จะได้ลูก จำนวน 120 ตัว ต่อปี เมื่อนำมาเลี้ยงเป็นหนูเนื้อ จะได้น้ำหนักรวม 48 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายได้ราคา 150 บาท ต่อกิโลกรัม ช่วยสร้างรายได้ถึง 7,200 บาท ต่อรุ่น และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือกำไรสุทธิถึง 5,880 บาท ทีเดียว

หนูพุก เลี้ยงง่าย รายได้ดี ถึง 7,200 บาท ต่อรุ่น

วันนี้คนจึงสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้อย่างสมดุลในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ ส.ป.ก. ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ดั่งที่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรมที่จังหวัดฉะเชิงเทราแห่งนี้…