ธ.ก.ส. เล็งปล่อยกู้ล้อนโยบายรัฐ เผยชาวนาภาคกลางเช่าที่ยากปรับเปลี่ยน ตั้งเป้าสินเชื่อใหม่ 8.6 หมื่นล. คุม NPL ที่ 4%

เอ็มดีใหม่ ธ.ก.ส. เล็งปล่อยสินเชื่อให้สอดคล้องนโนบายการพัฒนาเกษตร เผยพบชาวนาภาคกลางเป็นผู้เช่าที่นา ยากต่อการปรับเปลี่ยนเพื่อทำเกษตรแบบใหม่ ชี้ต้องเร่งหาทางแก้ไข ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 8.6 หมื่นล. คุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 4%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นโยบายการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนการผลิตได้ราว 30-40% อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนภาคการเกษตรนั้นยังจำเป็นต้องมีบ้างในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ส่วนการอุดหนุนภาคการเกษตรด้วยการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น รัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำ เพราะมีการรั่วไหลมาก

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ต้องสอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของการพัฒนาภาคเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางคือ ชาวนาในภาคกลางจำนวนมากเป็นผู้เช่าที่นา ดังนั้น การปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตรแบบใหม่ เช่น อาจต้องมีการขุดสระน้ำ หรือเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า เจ้าของที่นาไม่ยินยอมซึ่งปัญหานี้จะต้องหาแนวทางแก้ไข

นายอภิรมย์ กล่าวว่า นอกจากนี้แนวทางการช่วยเหลือภาคการเกษตรของ ธ.ก.ส. จะแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย หรือยากจน โดยใช้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในเบื้องต้นมีผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. 5.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกร 2 ล้านคน กลุ่มที่ 2 เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ซึ่ง ธ.ก.ส. จะหาแนวทางการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เช่น การช่วยปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ผ่านการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยน

นายอภิรมย์ กล่าวว่า กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเอสเอ็มอีเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางของรัฐบาลยกระดับภาคการเกษตรของรัฐบาล โดยปีที่แล้ว ธ.ก.ส. มีโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับการผลิตภาคการเกษตร โดยใช้การวิจัยและพัฒนานำการผลิต เพื่อเปลี่ยนภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมที่อาศัยแรงงาน วัตถุดิบและทรัพยากรน้ำที่สูง ไปสู่การผลิตสมัยใหม่ ต้นทุนการผลิตต่ำลง คุณภาพผลผลิตสูงขึ้น และมีกระบวนการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าจนกระทั่งสามารถส่งไปขายในตลาดโลกได้ โดยปีที่แล้วปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรได้ 2 หมื่นราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในปีบัญชีใหม่ของ ธ.ก.ส. เริ่ม 1 เมษายนนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นปีบัญชี ณ 31 มีนาคม 2560 มียอดรวม 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ในปีบัญชีใหม่นี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอลไว้ที่ไม่เกิน 4% ขณะที่ปีบัญชีผ่านมาอยู่ที่ 4.0%

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน