วท. ยัน พ.ร.บ. นิวเคลียร์ไม่เดือดร้อนปชช.

วันที่ 7 พฤษภาคม รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงกรณีมีความกังวลว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากอาจมีทันตแพทย์บางส่วนกลัวความเสี่ยงกระทำผิด พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงงดใช้เครื่องกำเนิดรังสีกับผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยไปรับบริการเอกซเรย์ที่อื่นแทน จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัยล่าช้า เสียเวลา และค่าใช้จ่ายมากขึ้นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มุ่งยกระดับและรักษามาตรฐานการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีให้เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กำหนด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีการขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีทุกประเภทที่มีค่าพลังงานเกิน 5 keV จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลและพิทักษ์ความปลอดภัยจากผลกระทบทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ

“เครื่องกำเนิดรังสีทันตกรรมมีค่าพลังงาน 60-120 keV ต้องได้รับการควบคุม หากไม่มีการกำกับดูแลและเกิดมีการใช้เครื่องกำเนิดรังสีอย่างไม่มีมาตรฐาน ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนได้ ทั้งนี้ ปส. คำนึงถึงความสมเหตุสมผลในกระบวนการกำกับดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขออนุญาต เช่น ทันตแพทย์ ที่ผ่านการเรียนรู้รังสีมาพอสมควร สามารถได้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสี (RSO) ได้โดยการเทียบวุฒิ ไม่จำเป็นต้องจ้าง RSO เพื่อดูแลเครื่องโดยเฉพาะ แต่จะต้องมีการทบทวนความรู้ให้ทันกับมาตรฐานความปลอดภัยที่พัฒนาอยู่เสมอ และสามารถแจ้งตรวจสภาพเครื่องและขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตเป็นผู้ครอบครองและผู้ดูแลเครื่อง เฉลี่ยปีละหลักร้อยบาท หากจะมีการตรวจที่คลินิกจะแจ้งล่วงหน้าและหากพบว่ามีการกระทำผิด จะตัดเตือน หากเตือนครบ 3 ครั้ง จะส่งศาลให้พิจารณาโทษ” รศ.นพ. สรนิต กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน