กรมการข้าว ขานรับประภัตร เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้เพียงพอ ตั้งเป้าพื้นที่ผลิต 60 ล้านไร่

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาไทยที่กำลังประสบกับปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอ จึงสั่งการให้กรมการข้าวร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ อาทิ สมาคมรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ร่วมกันหารือแนวทางการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดข้าว โดยแบ่งข้าวออกเป็น 5 ประเภท คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และข้าวเหนียว

สำหรับแผนการปลูกข้าวของกรมการข้าวบนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 60 ล้านไร่นั้น ตามหลักแล้วจะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 15 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ รวมมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ 900,000 ตันโดยประมาณ โดยข้าวหอมมะลิมีจำนวน 27 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 405,000 ตัน ชาวนาเก็บไว้ 202,500 ตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 202,500 ตัน ข้าวหอมไทยจำนวน 2.3 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 34,500 ตัน ชาวนาเก็บไว้ 17,250 ตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 17,250 ตัน ข้าวเจ้าพื้นนุ่มจำนวน 2 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 30,000 ตัน ชาวนาเก็บไว้จำนวน 15,000 ตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 15,000 ตัน ข้าวเจ้าพื้นแข็งจำนวน 17 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 255,000 ตัน ชาวนาเก็บไว้จำนวน 120,000 ตัน กรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 125,000 ตัน และข้าวเหนียวจำนวน 17 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 255,000 ตัน ชาวนาเก็บไว้จำนวน 120,000 ตัน และกรมการข้าวผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 125,000 ตัน

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวต่อไปว่า แผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวถือเป็นเรื่องหลักที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อให้เกิดเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งมีกระบวนการเริ่มต้นจากกรมการข้าว เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คัด เมล็ดพันธุ์หลัก และเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย หลังจากนั้นศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์ต่างๆ และสมาคมพ่อค้า ผู้ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ จะมารับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายไปทำการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายต่อไป โดยผู้ที่ทำเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายนั้น จะต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายจากกรมการข้าวให้ชัดเจน เมื่อเกิดความเสียหายจากเมล็ดพันธุ์ในบรรจุภัณฑ์ จะได้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงสามารถควบคุมราคากลางให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ