ที่มา | คิดเป็นเทคโนฯ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
ข้าว เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ผลผลิตเกินครึ่งส่งออกไปยังต่างประเทศ ข้าวส่วนที่เหลือถูกนำไปแปรสภาพเป็นข้าวขาวเพื่อใช้ในประเทศ หลายปีที่ผ่านมาชาวนาประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จากเดิมที่ขายข้าวเปลือกเป็นหลัก มีความพยายามแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะข้าวสารขาว รวมทั้งข้าวกล้องและข้าวฮางงอก ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนรักสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ข้าวฮางงอก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูไทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สืบต่อกันมากว่า 200 ปี เป็นการทำข้าวกล้องงอกจากข้าวเปลือกที่มีอายุก่อนการเก็บเกี่ยว หรือชาวบ้านเรียกว่า ข้าวระยะฮาง เพื่อให้เก็บข้าวเปลือกไว้ได้นานในกรณีที่เกิดปัญหาข้าวในนาเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ข้าวฮางงอกสามารถทำได้ทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว
กระบวนการสำคัญของการผลิตข้าวฮางงอกคือ การนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำและบ่มให้เกิดการงอก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในเมล็ดข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณสารกาบ้า (GABA) ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยลดความดันโลหิต และลดปริมาณคลอเลสเตอรอล มีส่วนในการควบคุมน้ำหนัก ลดความเสี่ยงจากโรคอัลไซเมอร์ มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
กรรมวิธีการผลิตข้าวฮางงอก ทำให้ได้ข้าวเต็มเมล็ดที่มีจมูกข้าว และรำข้าว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้าวอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แมงกานิส และวิตามินต่างๆ รวมกว่า 20 ชนิด มีเส้นใยอาหารปริมาณสูง ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย ส่วนประกอบของเมล็ดข้าวยังคงอยู่ครบถ้วน มีเพียงเปลือกข้าวที่ถูกสีออกไป
ปัจจุบัน กรรมวิธีการผลิตข้าวฮางงอกได้มีการปรับเปลี่ยนด้วยการนำข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวปกติทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากสะดวกง่ายต่อการแปรรูป ลดข้อจำกัดการจัดหาวัตถุดิบข้าวระยะฮาง นอกจากนี้ ข้าวฮางงอกมีปริมาณสารกาบ้ามากกว่าข้าวกล้องงอกจากข้าวกล้องถึง 2 เท่า
เนื่องจากกระบวนการแปรรูปข้าวฮางงอก ต้องใช้ระยะเวลาในแต่ละขั้นตอน (การแช่ เพาะงอกและลดความชื้น)ค่อนข้างนาน เป็นปัญหาอุปสรรคในภาคการผลิตและการขยายตลาด เพราะผลิตสินค้าได้ช้า ใช้แรงงานมาก ควบคุมคุณภาพได้ยาก หากต้องการส่งขายปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรหลายกลุ่มไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาด
วช. หนุน มมส. ใช้นวัตกรรมแก้จุดอ่อน
ปัจจุบัน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ เรียกว่า “เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือก” ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณ ยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวฮางงอกคุณภาพดีได้ภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ยังสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตตอบโจทย์ตลาดได้มากกว่าในอดีต
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้ทีมนักวิจัย มมส. เผยแพร่นวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกในแหล่งผลิตข้าวหลายจังหวัด เพื่อช่วยยกระดับอาชีพและรายได้ชาวนาไทยให้มีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น เพราะนวัตกรรมนี้สามารถผลิตข้าวกล้องงอกให้สำเร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากเดิม 3 วัน นับเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่สามารถลดการใช้แรงงานลงได้ 2.5-3 เท่า อีกทั้งประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยใช้ไฟฟ้าเป็นเงินเพียง 40 บาท และใช้น้ำ 1,000 ลิตร เท่านั้น ต่อจำนวนการผลิต 500 กิโลกรัม ประหยัดน้ำมากขึ้นถึง 5 เท่า โดยได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก วช. ในการดำเนินงาน ขณะนี้ขยายผลไปใน 5 เขตพื้นที่ดำเนินโครงการ
เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยใช้วิธีการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกในถังเดียวกัน โดยใช้ระบบน้ำแบบหมุนเวียน ฉีดสเปรย์น้ำให้ไหลผ่านลงบนเมล็ดข้าว ประมาณ 20-30 นาที และหยุดพักประมาณ 60-90 นาที โดยก้นถังออกแบบให้ปริมาณการไหลเวียนและระยะตกลงถังพักที่เหมาะสม จึงทำให้เกิดปริมาณก๊าซออกซิเจนเพิ่มขึ้นในขั้นตอนนี้ได้
การหยุดพักและการฉีดสเปรย์น้ำหมุนเวียนเป็นวัฏจักรคาบเวลา เป็นการทำให้เกิดอุณหภูมิภายในถังเพาะงอกที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดข้าว ซึ่งพบว่าเกิดการงอกในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงช่วยย่นระยะเวลาการผลิตให้สั้นลง และได้ผลผลิตคุณภาพดียิ่งขึ้น มีกลิ่มหอม เนื้อสัมผัสดี ตอบโจทย์การผลิตในจำนวนมาก แต่ลดต้นทุนด้านการผลิตและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังปรากฏ สารกาบา ในข้าวฮางงอกจากการใช้นวัตกรรม มากถึง 2,977 mg/100 g เพิ่มขึ้นจากวิธีการดั้งเดิม 300 เท่า
ทีมนักวิจัย มมส. ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ส่งเสริมอาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป โดยถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรมและกลุ่มชาวนาหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิตข้าวฮางงอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลอันดับ 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ในงานการประกวดนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2562 และพิชิตรางวัลสุดยอดนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards 2019) สาขานวัตกรรมและกระบวนการเชิงพาณิชย์
นวัตกรรมการผลิตข้าวฮางงอก เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เนื่องจากผลิตข้าวฮางงอกได้รวดเร็ว ชาวนาสามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้ สามารถผลิตสินค้าข้าวฮางงอกได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศ การแปรรูปข้าวฮางงอก ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มจากการขายข้าว คิดเป็นร้อยละ 50 แถมมีโอกาสพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น ข้าวนึ่งฮางงอก ขนมจีนฮางงอก ผงชงดื่ม แป้งทำคุกกี้
นอกจากนี้ ยังขยายฐานลูกค้าใหม่ เช่น ข้าวฮางงอกสำหรับไก่ชน ขายปลีกได้กิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งตลาดนี้มีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคต เนื่องจากข้าวฮางงอกช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แน่น แข็ง ทำให้ไก่เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ ขนงอกเร็ว เป็นมันวาว วิตามินในข้าวฮางทำให้ไก่ชนมีระบบประสาทและสายตาว่องไวแล้วยังเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงมาก ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังชนได้เร็วกว่าปกติ 3-4 เท่า
ชาวนาจำนวนมากชื่นชมนวัตกรรมนี้ เพราะทำให้การผลิตข้าวฮางงอกมีต้นทุนการผลิตต่ำลง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35 บาท สามารถขายปลีกได้ ในราคา 100-120 บาท ต่อกิโลกรัม หากผลิตในลักษณะข้าวอินทรีย์ด้วย ยังช่วยให้ชาวนามีโอกาสขายข้าวฮางงอกอินทรีย์ในราคาสูงขึ้น มีผลเพิ่มกำไรได้กว่า 6 เท่าตัวทีเดียว