มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบเครื่องอบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปกลุ่มเขาออก สนับสนุนทุนโดย กระทรวง อว.

มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ พื้นที่ท้องเนียน อ.ขนอม โดย วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบเครื่องอบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปกลุ่มเขาออก สนับสนุนทุนโดย กระทรวง อว.

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ขนอม เป็นประธานในการส่งมอบ เครื่องอบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปชุมชนบ้านเขาออก ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงาน นำโดย อาจารย์ ดร.สุพร ฤทธิภักดี หัวหน้าสาขาวิศวกรรม, อาจารย์อภิรัญธ์ จันทร์ทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า, อาจารย์นภดล ศรภักดี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาวิศวกรรมโยธา, ดร.เกริกวุฒิ กันเที่ยง หัวหน้าหลักสูตรวิชาการจัดการ และอาจารย์เมธาพร มีเดช อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาการจัดการ พร้อมด้วยคณะทำงาน U2T ตำบลท้องเนียน ในนามผู้รับผิดชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ U2T ตำบลท้องเนียน

อาจารย์ ดร.สุพร ฤทธิภักดี กล่าวว่า สำหรับเครื่องอบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์มีความจำเป็นในการถนอมอาหาร เนื่องจากการอบด้วยเครื่องอบลมร้อนจะไวกว่าและประหยัดไฟฟ้า อีกทั้งสภาพอากาศของตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม เป็นพื้นที่ฝนน้อย สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่มีวันหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงของชาวบ้านให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น สะอาดถูกสุขลักษณะ หมดปัญหาการปนเปื้อนของฝุ่นละอองและจุลินทรีย์ เนื่องจากเครื่องอบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์สามารถอบลมร้อนได้ ตอบโจทย์ของชุมชนได้มากขึ้น ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดถึงประหยัดเวลา ในการประกอบอาชีพของชุมชน สามารถส่งสินค้าได้ตามกำลังการซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ในกระบวนการดำเนินงานของ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน แก้ปัญหาความยากจนของชุมชนเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ยั่งยืน ฝึกนักศึกษาให้เป็นนักสำรวจวิจัยเพื่อทำความเข้าใจ ในการทำข้อมูลชุมชนหรือ Bigdata เพื่อนำไปสู่การพัฒนารายพื้นที่ และให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน 6 หมื่นคนมีสำนึกของการปฎิบัติให้มาก ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติ เพลิดเพลินกับการปฎิบัติโดยมีทฤษฎีจาก 76 มหาวิทยาลัยที่จะลงไปร่วมทำงานกับคน 6 หมื่นคน ผสมผสาน โดยต้องทำให้ 1 ปีของโครงการนี้เหมือนเยาวชนได้เข้าไปอยู่ในตักสิลาแห่งความรู้ของประเทศ