กรมพัฒนาที่ดิน ชูหมอดินอาสาดีเด่นเมืองสกลนคร ยึดศาสตร์พระราชา “เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช” ทำเกษตรผสมผสาน สร้างความยั่งยืนในชีวิต

“หมอดินอาสา” เป็นเกษตรกรอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน โดยเป็นเครือข่ายที่ช่วยถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทั่วประเทศ และยังเป็นต้นแบบด้านการจัดการดินอย่างถูกต้อง สามารถแก้ไขปัญหาดินเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน

คุณเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า “กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญกับการพัฒนาหมอดินอาสา ทั้งหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งมีอยู่มากถึง 77,672 รายทั่วประเทศ ให้มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยนำกิจกรรมต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ปัจจัยการผลิตแจกจ่ายให้กับหมอดินอาสาทั่วประเทศ ตลอดจนเข้าพัฒนาพื้นที่ของหมอดินอาสาให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ดินของเกษตรกรในหมู่บ้านนั้นๆ และให้หมอดินอาสาเป็นศูนย์กลางสำหรับเกษตรกรในการเข้าถึงงานบริการของกรมพัฒนาที่ดินได้อย่างเต็มที่  ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดิน ได้เร่งพัฒนาศักยภาพหมอดินอาสา 4.0 ให้เพิ่มพูนความรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น สามารถนำไปใช้พัฒนาตนเองและชุมชน เกิดการแก้ไขปัญหาดินได้ถูกต้อง ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินที่สมบูรณ์ นำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

คุณไกรวรรณ์ อัครกุล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชุมพล ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็น 1 ในหมอดินอาสาดีเด่นต้นแบบที่ได้น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ในการประกอบอาชีพ เน้นการพึ่งพาตนเองทำการเกษตรแบบผสมผสานและมีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยผสานภูมิปัญญาผนวกเข้ากับความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดของกรมพัฒนาที่ดิน นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองจนสามารถฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมให้กลับมาทำการเกษตรที่หลากหลายได้สำเร็จ เป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

คุณไกรวรรณ์ กล่าวว่า “ผมเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อมาประกอบอาชีพส่วนตัวจะได้อยู่กับครอบครัว โดยเลือกทำอาชีพเกษตรที่บ้านเกิด จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2543 ตั้งใจแน่วแน่ที่จะยึดหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในการจัดการดินและพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงได้ จนกระทั่งปี 2557 ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่หมู่บ้านชุมพล ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่คือปัญหาดิน ที่เรียกว่า “ปรมาจารย์ของดินที่แย่ที่สุด คือเป็นดินลูกรัง” ลักษณะของดินนอกจากจะมีความเสื่อมโทรมแล้ว ดินยังขาดธาตุอาหาร ขาดน้ำ และขาดอากาศในดินอีกด้วย จึงได้นำประสบการณ์ทำเกษตรที่ภาคใต้ที่ประสบความสำเร็จจากศาสตร์พระราชามาใช้กับพื้นที่เกษตรในภาคอีสานบ้าง

เริ่มต้นจากสมัครเป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชุมพล เพื่อเข้ารับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในเรื่องต่างๆ จากสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 และได้นำเอาองค์ความรู้และปัจจัยต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินสกลนครมาปรับใช้ในพื้นที่ ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์พบว่า สภาพพื้นที่เป็นชุดดินโพนพิสัย (Pp) กลุ่มชุดดินที่ 49 พบปัญหาคือ ดินตื้นถึงชั้นกรวดลูกรัง มีหน้าดินลึกเพียง 10-20 เซนติเมตร เนื้อดินบนค่อนข้างทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ง่ายต่อการถูกชะล้างพังทลายและสูญเสียหน้าดิน ดินมีความเสื่อมโทรมและเป็นกรดจัดมาก ในช่วงฤดูแล้งจะขาดน้ำ แต่ในฤดูฝนน้ำจะซึมผ่านชั้นดินลูกรังยากมากทำให้เกิดน้ำขังในแปลงที่ทำการเกษตรหลายวัน ดังนั้น จำเป็นต้องทำการปรับปรุงบำรุงดินและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการทำการเกษตรมากที่สุด

โดยยึดหลักการเดิมคือการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่ทั้งหมด 42 ไร่ จะแบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว 15 ไร่ เกษตรผสมผสาน 17 ไร่ พื้นที่ป่า 7 ไร่ และเลี้ยงสัตว์ 3 ไร่ มีการจัดการดินและพืช ดังนี้ แปลงนาข้าว ได้จัดการพื้นที่สำหรับการปลูกข้าวใหม่ ด้วยการปรับรูปแปลงนาโดยทำกระทงนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เตรียมดินก่อนการปลูกข้าวโดยใส่ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เมื่อต้นข้าวอายุ 30 และ 60 วัน ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ใบและรดลงดินเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มผลผลิตของข้าว หลังการเก็บเกี่ยวข้าวจะฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 อัตราส่วน 1 : 500 ก่อนการไถกลบตอซังข้าว หลังจากนั้น หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ และไถกลบเมื่อปอเทืองเริ่มออกดอกได้ประมาณร้อยละ 50 เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน ส่วนในแปลงเกษตรผสมผสาน พืชที่ปลูกมีทั้งพืชทั่วไปและพืชท้องถิ่นภาคใต้ เช่น กล้วย มะนาว กระท้อน เงาะ ลองกอง สละอินโด น้อยหน่า สะตอ เหลียง ฯลฯ ใช้ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมก่อนปลูกและโรยรอบโคนต้นและใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต และปลูกตะไคร้หอมทั่วทั้งแปลง เพื่อเป็นการขับไล่แมลง ควบคู่กับฉีดพ่นสารควบคุมและไล่แมลงศัตรูพืชที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ด้านการจัดการน้ำมีการเจาะบ่อน้ำตื้นและสูบน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แล้วปล่อยไปตามร่องน้ำในแปลงเกษตร ในฤดูแล้งใช้เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากสระขึ้นมาใช้เพิ่มเติม และมีการให้น้ำแก่พืชโดยใช้ระบบสปริงเกลอร์

นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมโครงการบัตรดินดี ทำให้ทราบถึงสุขภาพดินในแปลงสามารถนำคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ไปใช้พัฒนาที่ดินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังศึกษาข้อมูลความรู้จากแอปพลิเคชั่นต่างๆ ช่วยในการตัดสินใจจัดการพืชได้รวดเร็วทันต่อฤดูกาลเพาะปลูก ส่งผลให้ดินดีและอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดียิ่งขึ้น

ผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกจะยึดหลักที่ว่า “อยากกินอะไรก็ปลูกพืชชนิดนั้น เหลือจากการกินก็ขาย” ดังนั้น ผลผลิตจากแปลงเกษตรนี้จะแบ่งเป็นบริโภคในครัวเรือน แบ่งปันให้แก่ญาติพี่น้อง จากนั้นก็ขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ตลาด บางช่วงก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตถึงแปลง ทุกวันนี้จึงมีรายได้จากการพัฒนาที่ดินของตนเองที่สามารถจุนเจือครอบครัวได้อย่างเต็มที่และเพียงพอ มีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี รายได้พิเศษหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญคือไม่มีหนี้สิน

“ด้วยความที่เราเป็นคนต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในที่ใหม่จึงถูกคนในพื้นที่ดูถูกว่าเป็นคนบ้าที่ไปทำการเกษตรในพื้นที่ที่เป็นโคกมีความแห้งแล้งไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า จากคำพูดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้เราทำทุกอย่างเพื่อลบคำดูถูกนั้นให้ได้ จึงเริ่มทำจากพื้นที่น้อยไปหามากและค่อยๆ ขยายไปเรื่อย พื้นที่บางส่วนที่ดินไม่ดีก็จะปรับปรุงดินโดยใช้แรงงานของตัวเอง ขนฟางข้าวจากที่อื่นมาคลุมดิน ตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมรอบโคนต้นไม้ เรียกว่า การห่มดิน ตักน้ำรดพืชผักเองโดยไม่พึ่งเครื่องจักร ทำงานตั้งแต่เช้าไปจนดึกทุกๆ วัน ขุดสร้างทำฝายชะลอน้ำและดักตะกอนดิน วางผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาองค์ประกอบการลาดเอียง สูงต่ำของที่ดิน (โคก หนอง นา) ส่วนด้านการพัฒนาที่ดินได้ยึดหลักกสิกรรมธรรมชาติบวกกับศาสตร์ของพระราชา ต้องรู้จักดินของตัวเองจึงจะแก้ไขได้ถูกจุด โดยตลอดระยะเวลาที่ทำอาชีพเกษตร ได้ยึดหลักการพัฒนาดิน น้ำ ป่า โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินนั้นจะเน้นเรื่อง การเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ปรับปรุงบำรุงดินให้ดีพืชก็เจริญงอกงาม จนประสบความสำเร็จและสามารถสร้างชีวิตใหม่ได้” ไกรวรรณ์ กล่าว

จากการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจของคุณไกรวรรณ์ มาตลอดระยะเวลาหลายปี เขาสามารถพิสูจน์ตัวเองให้คนในพื้นที่บ้านชุมพลและพื้นที่ใกล้เคียงเห็นแล้วว่าเขาทำได้จริง สามารถพลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรมด้วยการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการเพาะปลูก สังเกตได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า รวมรายได้สุทธิต่อปี 897,280 บาท สร้างรายได้ที่มั่นคง จนได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรผสมผสาน เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชน ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงานและขอสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มมากกว่า 50 ราย จากหลายตำบลทั่วทั้งจังหวัดสกลนคร ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรภาคอีสานได้นำความรู้ไปปรับปรุงพัฒนาที่ดินทำกินของตนเอง มีอาชีพสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือนทุกวัน สามารถตั้งตัวและยืนได้ด้วยตนเอง

เกษตรกรท่านใดสนใจแนวทางการทำเกษตรตามแบบฉบับหมอดินอาสาดีเด่นท่านนี้ สามารถติดต่อสอบถามโดยตรงได้ที่ คุณไกรวรรณ์ อัครกุล หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชุมพล และเจ้าของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ตำบลค้อใต้ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โทร. 081-304-5807