ไวรัสตับอักเสบบี-ซี ปัญหาของทั่วโลก

โรคไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เป็นปัญหาของทั่วโลกมาเป็นเวลานาน

ล่าสุด ผศ.นพ. ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีผู้ใหญ่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่ ร้อยละ 3 แต่ในช่วง 30 ปีก่อนนี้ มีการให้วัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวในเด็กไทยทุกคนทำให้อัตราการติดเชื้อในเด็กลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 0.20 โดยรวมแล้ว ปัจจุบันมีผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 3 ล้านคน ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้น มีอยู่ประมาณร้อยละ 2 หรือ 800,000-900,000 คน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ พบว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสนี้ ไม่รู้ตัวเอง ทำให้ไม่ได้เข้าสู่ระบบติดตามรักษา

ผศ.นพ. ปิยะวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้มีการติดตามมานานจนรู้ว่า ไวรัสเหล่านี้เข้าไปแบ่งเซลล์อย่างไรบ้างในเนื้อตับ ทำให้มีการผลิตยาออกมารักษา ยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ล่าสุดมีการพัฒนายากินรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ร้อยละ 90-100 โดยกินวันละ 1-2 เม็ด ต่อเนื่อง 3 เดือน แต่ยังไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะบรรจุเข้าไว้ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ ทั้งนี้ อาจจะต้องดูความคุ้มค่า ความจำเป็นของผู้ป่วย ส่วนไวรัสตับอักเสบบีนั้น เบื้องต้นมียาฉีด ยากิน ที่ช่วยให้ลดปริมาณไวรัสลงจนไม่ก่อปัญหาต่อเนื้อตับ แต่ก็ต้องกินยาว 5-10 ปี หรือตลอดชีวิต ยังไม่ถือเป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วย ดังนั้น จึงมีการพัฒนายาใหม่เช่นกัน คาดว่า 5-10 ปีนี้ จะเริ่มมียาตัวใหม่ออกมา ดังนั้น ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์เหล่านี้องค์การอนามัยโลกจึงประกาศกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี ให้หมดไปจากโลกได้ภายในปี 2030 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้คนที่ยังไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ รู้ตัวเองให้ได้

“เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีนั้น จะติดต่อผ่านทางเลือด เช่น มีการเจาะหู ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนที่มีเชื้อ และมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน แต่การติดต่อจากแม่สู่ลูกระหว่างคลอดนั้น มีเพียงไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้นไม่ติดต่อทางน้ำลาย การกินอาหารร่วมกัน ส่วนการสัมผัสกันนั้น ยืนยันว่าไม่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเมื่อโต 100 คน จะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันทั้งหมด แต่ 99 คน หายได้เองและมีภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมา มี 1 คน ที่มีเชื้อต่อเนื่องในร่างกายที่ต้องรับการตรวจและรักษาจากแพทย์” ผศ.นพ. ปิยะวัฒน์ กล่าวและว่า ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ รพ.จุฬาฯ จะจัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ตั้งแต่เวลา 07.00-16.30 น. ที่หอประชุมจุฬาฯ ค่าลงทะเบียน คนละ 300 บาท

โดยรายได้จากการลงทะเบียนทั้งหมดจะบริจาคเข้าสมทบกองทุนผู้ป่วยโรคตับ มูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. (02) 252-7839 ไลน์ ID : Iiverunit หรือ อี-เมล [email protected]

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน