“ประพัฒน์” เตรียมส่งแนวทางสร้างความยั่งยืน หลังโรคระบาดหมูกระทบหนัก พร้อมผลักดันประกันภัย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร ครั้งที่ 4/2564 ด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ชั้น 6 อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร

สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่มีการตรวจพบว่ากลายพันธุ์แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งต่างไปจากที่เคยตรวจพบในทวีปยุโรปและเอเชียมาก่อนหน้านี้, โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เกษตรกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคถึง 30% และไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้

เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่และทำให้เกิดโรคซ้ำในคอกหรือฟาร์มจนเกษตรกรรายย่อยหมดตัวไปแล้วก็มี และในอนาคตอาจถึงขั้นต้องสูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกรไปในที่สุด รวมทั้งยังกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์

รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มูลค่าความเสียหายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้เวลานานในการฟื้นฟู และจะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วยหมายรวมว่าประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพแก่เกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารของประเทศไทย เพิ่มความเข้มแข็งและอำนาจในการต่อรองของเกษตรกร และสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจหากสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้

สภาเกษตรกรแห่งชาติในนามคณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ ผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค และเอกชนผู้ประกอบการการเลี้ยงสุกร จึงจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “โครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน”

โดยเตรียมเสนอแนวทางในการดำเนินงาน แบ่งเป็น มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ได้แก่ การเร่งดำนินการจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดกับเกษตรกร รายกลาง รายเล็ก รายย่อย ที่ทำลายซากสุกรไปแล้ว

รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ปรับปรุงโรงเรือน สถานที่ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเป็นระบบ GFM ของกรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร โรงงานแปรรูป ปรับปรุงโรงเรือนและกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP, HACCP หรือระบบของกรมปศุสัตว์

ให้นำระบบ Zoning และCompartment มาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์, ขึ้นทะเบียนคนกลางรับซื้อสุกร (broker) ทุกรายทุกขนาด, เร่งทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบของกฎหมาย ประกาศกระทรวงต่างๆ และระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาวงการสุกรโดยเฉพาะรายกลาง-รายย่อย เพื่อแก้ไขและปรับปรุงโดยด่วน, สนับสนุนให้การจัดตั้งกองทุนสุกร ให้เป็นรูปธรรม, นำระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model มาใช้ในวงการปศุสัตว์

มาตรการระยะปานกลาง ภายใน 3 ปี ได้แก่ การเร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ หรือสร้างเครือข่ายการชันสูตรโรคกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ในการเคลื่อนย้ายและควบคุมโรค

สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ ระบบ Precision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับ รวมถึงการวิจัยวัคซีนและชีวภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์

และ มาตรการระยะยาว ภายใน 5 ปี ได้แก่ การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ, สนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียนโดยอาจอยู่ในรูป 4 P (Public, Private, Professional, People Partnership)

โดยมาตรการทั้งหมดจะส่งถึงนายกรัฐมนตรี, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เล็งเห็นความสำคัญในการทำประกันภัยสุกร เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรในการเลี้ยงสุกรจากสภาวะปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบในการเลี้ยงสุกรดังกล่าวจึงได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย มาให้หลักเกณฑ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร จากการประชุมหารือพบว่าการประกันภัยสุกรนั้นยังมีค่าเบี้ยประกันที่สูงอยู่ และในระยะเริ่มต้นเห็นควรเสนอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในบางส่วนระยะเวลาหนึ่งก่อนเพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัวและมีความเข้มแข็ง โดยให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยไปปรับหลักเกณฑ์ที่สามารถเอื้อให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคสุกรอีกครั้ง แล้วค่อยนำกลับมาหารือกันใหม่ในอีก 1 เดือน