ม.เกษตรฯ กำแพงแสน เดินหน้าโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (U2T) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

ตามที่เมื่อพฤศจิกายน 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (U2T) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ตามนโยบายของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับ ให้ชุมชนหลุดพ้นความยากจน ลดปัญหาว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก จะเริ่มจ้างนักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ 60,000 คน ทำงานกับ 3,000 ตำบล พร้อมตั้งเป้าระยะต่อไป ให้ครบทั่วประเทศ 7,900 ตำบล คาดว่าจะมีการจ้างงานได้มากถึง 150,000 คน


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย อธิการบดี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ขานรับนโยบายดังกล่าวอย่างทันทีและเร่งด่วน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องตลอดมา ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ วิจัย และสร้างนวัตกรรมระดับโลก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของศาสตร์แห่งแผ่นดิน เป็นที่พึ่งของเกษตรกรและประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลากว่า 78 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดย รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตได้ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ร่วมกับชุมชนโดยรอบวิทยาเขตกำแพงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของศาสตร์แห่งแผ่นดิ

โดย รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล (U2T) มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย นั้น เป็นโครงการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องการใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจสังคมในตำบล ลดปัญหาความยากจนในพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ที่พี่น้องประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อนนานัปการ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน แก้ปัญหาความยากจน โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 80 แห่ง ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ ร่วมกันนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล ผ่านการจ้างงานนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่จะเข้าไปช่วยในการพัฒนาตำบลๆ สามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลที่สามารถนำไปสู่การลดปัญหาความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เราได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนโดยรอบวิทยาเขตกำแพงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เกี่ยวกับความต้องการของชุมชน ศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่แล้ว สิ่งที่ชุมชนต้องการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ตามนโยบายของรัฐมนตรีอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์

โครงการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นำสู่ชุมชน มีมากมายหลากหลายโครงการ อาทิ เครื่องอัดภาชนะใบไม้ โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาง่าย เช่น ใบตอง ใบบัว ใบสัก กาบไผ่ กาบกล้วย ผักตบชวา ใบโพธิ์ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ มีการพัฒนาจากการผลิตภาชนะ อาทิ จาม ชาม สู่รูปแบบต่างๆ รวมทั้งต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมวก ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น พี่น้องประชาชนและชุมชนต่างๆ ที่สนใจ โปรดติดตามรายละเอียดได้ในฉบับต่อๆ ไป

ติดต่อประสานงานและแนะนำคอลัมน์ จิตอาสา พัฒนาชุมชน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เครือมติชน ได้ที่ อาจารย์เกวลิน ศรีจันทร์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อีเมล [email protected]