ปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง กินได้ใน 10 วัน สร้างอาชีพเสริมรายได้ในยุคโควิด-19

ช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ปฎิบัติตามนโยบายรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ช่วยชาติ” รักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ชักชวนคนไทยหันมาปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง สำหรับบริโภคในครัวเรือน โดยใช้เวลาปลูกดูแลแค่ 10 วัน   

การปลูกต้นอ่อนผักบุ้งเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนหรือสร้างอาชีพเสริมรายได้ในยุคโควิดนั้น มีขั้นตอนการทำที่แสนง่าย เริ่มจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ 1. เมล็ดผักบุ้งหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์หรือร้านค้าจำหน่ายวัสดุการเกษตร 2. ดินผสมพร้อมปลูก 3. กระบะ/กระถาง หรือตะกร้าปลูก ขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ 4. ผ้าขนหนู และ 5. น้ำ

สำหรับวิธีการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง มีดังนี้

แช่เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนในน้ำ 6 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาผึ่งทิ้งไว้ 10 นาที

โรยเมล็ดลงบนดินผสมไม่หนาแน่นจนเกินไปและโรยดินกลบ ความหนาเท่ากับเมล็ดหรือโรยเมล็ดหนา 1 ชั้น ลงบนผ้าขนหนูที่วางบนตะกร้า แล้วนำผ้าปิดด้านบนเมล็ด

ปิดคลุมเมล็ดที่เพาะให้มิด รดน้ำเป็นละอองฝอยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 8-9 วัน โดยระวังไม่ให้ดินแฉะหรือแห้งจนเกินไป

เมื่ออายุครบ 5 วัน ให้เปิดวัสดุที่ปิดคลุมออก จะเห็นต้นอ่อนมีสีเหลือง

เมื่ออายุครบ 6 วัน ให้นำออกมารับแสง เพื่อสร้างคลอโรฟิลล์ สร้างใบ และยอดอ่อนสีเขียว

อายุ 9-10 วัน สามารถเก็บต้นอ่อนผักบุ้งไปบริโภคหรือจำหน่ายได้

สำหรับการปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง ตามวิธีการที่ วว. นำมาแนะนำดังกล่าว สามารถปรับลดขนาดได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่ท่านมี ซึ่งจะทำให้ได้ผักสำหรับรับประทานที่ปลอดจากสารเคมี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยประหยัดรายจ่าย และช่วยเพิ่มรายได้ในครัวเรือนสำหรับท่านที่สนใจนำไปประกอบอาชีพต่อไป

กินผักบุ้ง ดีต่อสุขภาพ

“ผักบุ้ง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea aquatic Forssk หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ผักทอดยอด” ในผักบุ้ง 100 กรัม จะให้พลังงาน 22 กิโลแคลอรี มีคุณค่าโภชนาการ ประกอบด้วย เส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น โดยผักบุ้งไทยจะมีวิตามินซีสูง และมีสรรพคุณทางยามากกว่าผักบุ้งจีน แต่จะมีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีน (มีวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา) น้อยกว่าผักบุ้งจีน หากรับประทานผักบุ้งสดๆ ที่ปลอดจากสารเคมี จะได้คุณค่าของวิตามินและแร่ธาตุสูง ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติไปช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งจะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไป อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอได้

ผักบุ้งมีสรรพคุณหลากหลาย เช่น ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการชะลอวัย ความแก่ชรา และชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ช่วยป้องกันการเกิดหรือลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็งได้ ช่วยบำรุงสายตา ช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น

ในตำราโบราณ ต้นสดของผักบุ้งจะนำมาใช้เป็นยาดับร้อน แก้อาการร้อนใน บำรุงโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในด้านความจำและการเรียนรู้ให้ดีขึ้น ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาท รากผักบุ้งช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แก้อาการไอเรื้อรัง แก้โรคหืด เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับคำแนะนำปรึกษาได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 02-577-9000 โทรสาร 02-577-9009 ในวันและเวลาราชการ E-mail : [email protected]