แมงลัก ผักอีตู่ สมุนไพรใกล้ตัวในครัวไทย

ในเวลาที่ทั่วโลกปั่นป่วนเพราะภัยคุกคามหลายอย่าง โดยเฉพาะโรคอันตราย เช่น โควิด-19 แรกเริ่มเดิมทีก็ได้แต่มาหาต้นเหตุ วิธีการรักษา ต่อมาก็คิดถึงโรคระบาดเก่าๆ ที่มาจบเกมได้เพราะวัคซีน และสูญหายไปจากโลก แต่สำหรับคนไทยเราแล้ว เมื่อเกิดภัยขึ้นมา มีวิธีคิด วิธีบำบัดแก้ไขแตกต่างจากชนชาติอื่น นั่นคือการใช้ภูมิปัญญาที่บรรพชน และคนรุ่นนี้มีอยู่เต็มตัว โดยเฉพาะภูมิปัญญาความเป็นเลิศด้าน “สมุนไพร”

สมุนไพรไทยที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ส่วนใหญ่จะถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องครัวอาหารไทย อาหารพื้นบ้านไทย เป็นเครื่องปรุงรสแทนสารสังเคราะห์ เป็นองค์ประกอบอาหารทุกอย่าง คือ เป็นอาหารและยาสมุนไพรรักษาบำรุงร่างกาย เช่นเดียวกับผักชนิดนี้ที่มีชื่อว่า “แมงลัก” ชื่อนี้เชื่อว่าหลายคนต้องเคยรู้จักแน่นอน เคยกิน เคยชมว่าหอมสดชื่น อร่อยเสียด้วย บางคนบอกว่าทำกับข้าวที่ชื่นชอบ หากขาดใบแมงลักเป็นอันหมดรส หมดอารมณ์รับประทานเอาเสียเลย เพราะอะไรหรือ?

“แมงลัก” ชื่อสามัญเรียก Lemon Basil หรือ Hary Basil อยู่ในวงศ์กะเพรา LAMIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Ocinum canum.Sim เป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และปักชำ มีชื่อเรียกในถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือ เรียก กอมก้อขาว ภาคอีสาน เรียก ผักอีตู่ ภาคใต้ เรียก มังลัก ภาคกลาง และทั่วไปเรียก แมงลัก หรือขาวแมงลัก เป็นไม้ที่มีระบบรากแก้ว และรากฝอย เป็นรากหากินระดับผิวดิน ต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน อวบน้ำ และแข็งเมื่อเป็นต้นแก่ แตกกิ่งก้านค่อนข้างเหลี่ยม เปลือกสีเขียว จัดเป็นพุ่ม สูง 20-50 เซนติเมตร ใบสีเขียว ออกตามกิ่ง ใบทรงรี ปลายใบแหลม โคนใบมน มขนอ่อนปกคลุมทั่วผิวใบ ใบและยอด คือส่วนที่นำไปเป็นอาหารและยา

ดอกแมงลัก ออกเป็นช่อสั้นๆ ออกปลายยอดของกิ่งก้าน ดอก ออกเป็นกระจุก เรียงเป็นชั้นๆ จากโคนก้านถึงปลายก้านช่อดอก กลีบดอกสีเขียว เมื่อดอกบานแล้ว จะผสมเกสร ติดผล และเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดสีดำ รี แบน ใช้สำหรับขยายพันธุ์ และนำไปใช้บริโภค คือส่วนที่นำไปใช้มากอันดับที่สองรองจากใบ ซึ่งเมล็ดแมงลักที่แก่จะมีคุณสมบัติในการดูดน้ำ และพองตัว มีเมือกหุ้มทำให้เมล็ดลื่น เหมาะสำหรับการกลืนกินโดยไม่ต้องเคี้ยว

คุณค่าทางอาหาร ในส่วนของใบแมงลัก น้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 11.1 กรัม เส้นใยอาหาร 2.6 กรัม โปรตีน 2.9 กรัม ไขมัน 0.8 กรัม แคลเซียม 350 มิลลิกรัม เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม วิตามินเอ 9,164 iu. วิตามินบี 1 (ไทอามีน) 0.3 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.14 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 (ไนอะซีน) 1.0 มิลลิกรัม วิตามินซี 78 มิลลิกรัม ในส่วนเมล็ด ที่นิยมนำไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ใน 100 กรัม ให้พลังงานสูง ถึง 420 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย กากใยอาหาร 54 กรัม คาร์โบไฮเดรต 54 กรัม ไขมัน 16 กรัม โปรตีน 15 กรัม เพราะคุณค่าทางอาหารล่อใจอย่างนี้ “แมงลัก” ถึงเป็นเทรนนิยมของคนทั่วไป

เขารู้กันว่า แมงลักเป็นยาสมุนไพร โดยนำมากินเป็นอาหาร หรือส่วนประกอบอาหาร และนำมาปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เช่น ใบยอดอ่อนทำไข่คั่ว หรือผัดไข่ ใส่ปรุงกลิ่นรสแกงเลียงกุ้งสด แกงส้มปลาหน่อไม้ดอง ต้มยำปลาแม่น้ำ ผัดหน่อไม้โอ่ (หมัก) แกงเหลือง ผัดเผ็ดหมูป่าใส่แทนกะเพราควาย ผัดน้ำพริกน้ำหน่อ หรือหน่อไม้ดอง เป็นผักสดกินกับขนมจีนน้ำยาปลาตะโกก ปลาช่อน ส่วนเมล็ดเป็นอาหารสุขภาพ เป็นที่นิยมในหมู่ชนคนรักสุขภาพ มีการเปิดร้านขายเครื่องดื่ม เช่น น้ำเต้าหู้แมงลัก น้ำขิงแมงลัก น้ำใบเตยแมงลัก ชานมแมงลัก น้ำแมงลักโซดา แม้แต่ร้านข้าวต้มโจ๊ก ก็ยังนิยมใช้แมงลักแต่งกลิ่น และสีสัน

สรรพคุณทางยา รักษาบำบัดบรรเทาบำรุงร่างกาย ใบแมงลัก เป็นยาบำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง บำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ แก้เจ็บคอ แก้ไอ ช่วยขับเสมหะ แก้ไข้หวัด ขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องผูก ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาโรคในลำไส้ ทางเดินอาหาร รักษาโรคกระเพาะ ยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย รักษาโรคผิวหนังกลาก เกลื้อน ขี้กลากน้ำนม และเมล็ดแมงลักนอกจากจะใช้ปรุงแต่งอาหารเครื่องดื่มแล้ว ยังใช้เมล็ดแช่น้ำเปล่า หรือน้ำสุก น้ำอุ่น ให้พองตัวแล้วกินเป็นยาได้ เป็นยาลดความอ้วน ลดน้ำหนัก คุมน้ำหนัก เพราะเมล็ดแมงลักจะพองตัวได้ถึง 45 เท่าตัว เมื่อกินเข้าไปทำให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่อยากกินอาหารอื่นอีก หรือกินอาหารอื่นได้น้อยลง เมล็ดแมงลักเป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้อุจจาระอ่อนตัว ลดอาการท้องผูก ขับลมในกระเพาะ แก้จุกเสียด ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยสร้างบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกเสื่อม ลดการขาดสารอาหาร ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ที่มักจะแทรกซ้อนมากับโรคเบาหวาน อีกทั้งยังช่วยทำให้การดูดซึมน้ำตาลให้น้อยลงได้ ช่วยล้างลำไส้ หรือดีท็อกซ์ แก้ปัญหาอุจจาระตกค้างในลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แก้ปวดท้อง สะอึก ปวดหู หูตึง แก้อาเจียน ปวดประจำเดือน ปวดฟัน หลอดลมอักเสบ แก้พิษต่างๆ แก้ไอ ขับเสมหะ

แต่ขอแนะนำไว้ 2 ประการ ได้แก่ อย่ากินเมล็ดแมงลักร่วมกับยารักษาโรคอื่น เพราะจะทำให้ตัวยารักษาโรคเสื่อมประสิทธิภาพ และอย่ารับประทานมากเกินไป จะมีปัญหาแน่นท้อง เมล็ดที่พองตัวยังไม่เต็มที่ จะดูดน้ำในกระเพาะอาหาร จนเกิดกากอาหารเป็นก้อนแข็ง อุดตันลำไส้ ท้องผูก และโรคทางเดินอาหารอื่นๆ จะตามมา จะกินอะไรก็ตามแต่ ขอให้กินของดีดี และกินแต่พอดี ร่างกายจะได้ดีเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพฤหัสที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2564