สั่ง ‘ขยายตาอวน’ เรือประมงได้ผล ปลาทูโผล่เต็มทะเล-จ่อปิดอ่าวตัว ก. แยกเป็นสองช่วง

ปิดอ่าว 3 เดือน ให้ปลาวางไข่ได้ผล ปลาทูโผล่เต็มอ่าวไทย หลังเรือประมงพาณิชย์ขยายตาอวนทุกชนิดเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาไอยูยู ขณะที่อวนจม อวนลอยของเรือประมงพื้นบ้านที่ยังจับได้ช่วงฤดูวางไข่เพิ่มขนาดตาอวนเป็น 2 นิ้ว “อดิศร” เผยกำลังหารือปิดอ่าวตอนในรูปตัว ก. เป็น 2 ช่วง เพื่อฟื้นฟูปลาในทะเลแต่ละช่วงของวัยให้มากขึ้น

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงผลการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูในอ่าวไทย ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ เรื่องกำหนดการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดทำการประมงในฤดูปลามีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560-15 พฤษภาคม 2560 รวม 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 26,400 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขประกาศในบางข้อเพื่อให้เหมาะสมกับเครื่องมือจับปลาที่มีศักยภาพสูงขึ้นและทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำมากขึ้น ทั้งอวนลาก อวนล้อม การห้ามเครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง ยกเว้นการใช้อวนติดตาจับปลาที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 23 นิ้วขึ้นไป ที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอสทำการประมง

รวมทั้งกำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำบางแห่งที่ห้ามใช้เครื่องมืออวนทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง คือ เรือปั่นไฟจับปลา ห้ามเข้าจับปลาในระยะ 7 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และจะบังคับใช้ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2560-30 มิถุนายน 2560 ด้วยนั้น ปรากฏว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ใช้มาตรการปิดอ่าวไทยของกรมประมงที่ออกตรวจสอบ 52 ครั้ง พบการกระทำผิด รวม 11 คดี แยกเป็นการใช้เครื่องมืออวนลากทำประมงตอนกลางวัน 2 คดี ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง 2 คดี ใช้เรือซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย 6 คดี และตรวจยึดเครื่องมืออวนรุน 1 คดี ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องได้รับโทษทั้งในส่วนมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการปกครองและผลการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

จากการสำรวจติดตามสถานการณ์ในเขตปิดอ่าวและบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่กรมประมงใช้เครื่องมือตรวจสอบฝูงปลา (Sounder) ตรวจพบพ่อแม่พันธุ์ปลา จำนวน 3,000 กิโลกรัม และฝูงลูกปลา 10,000 กิโลกรัม บริเวณเกาะพะงัน และยังพบว่า ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาทูขนาดใหญ่ได้บริเวณอ่าวชุมพร โดยใช้เครื่องมืออวนติดตาขนาดไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว นอกจากนี้ในต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังได้รับรายงานว่าพบฝูงลูกปลาทูขนาดเล็กชุกชุมจำนวนมากบริเวณห่างฝั่ง 3-5 ไมล์ทะเล ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลบริเวณอ่าวไทยเริ่มฟื้นกลับมา

“เพื่อให้ลูกปลาทูว่ายขึ้นมาเจริญเติบโตบริเวณอ่าวตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ได้ กรมจึงกำหนดเครื่องมือจับปลาและขนาดขอบเขตห้ามจับเพิ่มในส่วนบนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม 2560-30 มิถุนายน 2560 เพิ่มเติมด้วย” อธิบดีกรมประมงกล่าว

ส่วนมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก. หรืออ่าวไทยตอนในที่ดำเนินการมากว่า 3 ปี ในปีนี้ กรมกำลังหารือกับตัวแทนชาวประมงว่าจะเริ่มปิดได้เมื่อใด ควรจะเริ่มในวันที่ 15 มิถุนายน หรือ 30 มิถุนายนศกนี้หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมในเดือนนี้ ควรจะเริ่มในวันที่ 15 มิถุนายน หรือ 30 มิถุนายน ศกนี้หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมในเดือนนี้ ซึ่งอาจจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ เริ่มในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนหลังจากนั้นจะห้ามจับปลาในเขตสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ในระยะถัดไปอีกเป็นเวลา 2 เดือนแทนเพื่อให้ปลามีเวลาเติบโตเต็มวัยก่อนจะไปวางไข่ในปีถัดไปในเขตสุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ต่อไป

“ปิดอ่าวไทยรูปตัว ก. 3 ปีที่ผ่านมา ปีแรกปลาทูยังมีมาก แต่ปีที่ผ่านมาลดลงไปพอสมควร ซึ่งอาจจะเกิดจาก 2-3 ทฤษฎี คือ ปลาทูน้อยลงเพราะมีการใช้อวนจม เมื่อปลาว่ายเข้าฝั่งบริเวณหน้าดินจะถูกดักจับ แต่ปีนี้กำหนดให้อวนจมต้องมีตาข่าย ขนาด 2 นิ้วขึ้น การรุมจับปลาทันทีหลังเปิดอ่าว ทำให้ปลาทูที่ยังไม่ได้ขนาดที่จะว่ายเข้ามาหากินอ่าวไทยตอนในถูกจับ สภาวะอากาศร้อนแห้งแล้งน้ำไหลลงอ่าวไทยห่วงโซ่อาหารปลาทูที่จะเกิดขึ้นจึงมีน้อย ปลาทูจึงแพร่พันธุ์ได้น้อยและปัญหามลพิษในทะเลที่มีมากขึ้น”

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ