เกษตรกรตรัง อนุรักษ์ “ทุเรียนบ้าน” ผลไม้ประวัติศาสตร์คู่ตำบลละมอ

ต้นกำเนิดของ “ทุเรียนบ้าน” ตำบลละมอ 

คุณธนายุทธ นิตมา กำนันตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เล่าว่า “เมื่อสมัยร้อยกว่าปีก่อนยังไม่มีความเจริญเรื่องการคมนาคม ไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ การเดินทางใช้วิธีการเดินเท้าตามเส้นทางสายน้ำ สายคลอง คนจากฝั่งจังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง หากต้องการเดินทางมาจังหวัดตรัง ก็จะใช้เส้นทางสายน้ำที่ไหลผ่านเทือกเขาบรรทัดลงมาทางอำเภอนาโยง เพื่อเข้าเมืองตรัง เส้นทางหลักที่ใช้ ได้แก่ สายน้ำคลองตะเหมก ซึ่งไหลลงมาเชื่อมกับคลองวังหยี และคลองละมอ แต่ในการเดินทางต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ทำให้ชาวบ้านมีการคดข้าวห่อมากินระหว่างทาง โดยส่วนใหญ่จะแวะกินแถวคลองตะเหมกและคลองวังหยี ปัจจุบันคือพื้นที่หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 9 ของตำบลละมอ อำเภอนาโยง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ชาวบ้านคดห่อมากินนั้นคือ “ทุเรียนบ้าน” ทำให้สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยต้นทุเรียน และมีชาวบ้านในบริเวณนั้นนำไปขยายพันธุ์ปลูกในพื้นที่ของตนเอง จึงทำให้ทุเรียนบ้านยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน”

คุณวิไลพร เยาว์ดำ เจ้าของสวนทุเรียนบ้านร้อยปี ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ

จุดเด่นของ “ทุเรียนบ้าน”

ทุเรียนบ้านเป็นไม้ขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกร่วมกับไม้ยืนต้นอื่นได้แบบพึ่งพาอาศัยกัน ทนต่อโรค และมีอายุยืนยาว จากการเข้าไปสำรวจของสำนักงานเกษตรอำเภอนาโยงพบว่า ทุเรียนต้นดั้งเดิมที่มีอยู่นั้นมีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี เนื่องจากมีเจ้าของที่รับเป็นมรดกมาแล้วประมาณ 3 รุ่นด้วยกัน

ทุเรียนบ้านทุกต้นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป สันนิษฐานว่าอาจมีการเรียกชื่อตามลักษณะหรือจุดเด่นของต้นนั้นๆ เพื่อเป็นการจดจำทุเรียนแต่ละต้น

ผลของทุเรียนบ้านแต่ละต้นจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น ลักษณะและขนาดของผล บางต้นจะมีผลกลม เนื้อเต็มทั้งลูก บางต้นจะมีผลเรียวๆ ตูดแหลม สีของเนื้อทุเรียน บางต้นมีสีเหลืองออกขาว บางต้นมีสีเหลืองทอง บางต้นมีสีเหลืองเข้ม และรสชาติของแต่ละต้นก็จะไม่เหมือนกัน ทำให้เจ้าของสวนทุเรียนสามารถแยกผลทุเรียนได้ว่ามาจากต้นไหน

เกษตรตำบลกับทุเรียนร้อยปี ที่แต่ละต้นจะให้ลักษณะผลผลิตแตกต่างกัน

คุณวิไลพร เยาว์ดำ เจ้าของสวนทุเรียนบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อนในสวนของตนเองมีทุเรียนบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละต้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตั้งแต่จำความได้ทุเรียนแต่ละต้นก็มีชื่ออยู่แล้ว เช่น “ไอ้หว่าน” มีลักษณะประจำต้นคือ ผลมีขนาดใหญ่ตูดแหลม เนื้อหนา เมล็ดในเล็กหรือลีบ “ไอ้เตย” มีลักษณะประจำต้นคือ ผลมีขนาดเล็กกลม เนื้อหนา เต็มพู รสชาติหวาน “ไอ้พลัก” มีลักษณะประจำต้นคือ ผลมีขนาดใหญ่กลม มี 6 พู (โดยปกติทุเรียน 1 ลูก จะมี 5 พู) เนื้อมีสีเหลืองทอง รสชาติหวานมัน เป็นต้น

ผลผลิตและการตลาดของ “ทุเรียนบ้าน”

ลักษณะทุเรียนร้อยปี เนื้อหนา เมล็ดเล็ก รสหวาน

ทุเรียนบ้านจะให้ผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ในพื้นที่ตำบลละมอทุเรียนบ้าน 1 ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 ลูก เนื่องจากเป็นต้นที่มีอายุนับร้อยปี ต้นมีความสมบูรณ์มีขนาดใหญ่และสูงมาก ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความชื้นในดินดี เป็นพื้นที่เชิงเขา เหมาะในการปลูกทุเรียนบ้าน การปลูกจะเป็นแบบผสมผสานร่วมกับพืชชนิดอื่นที่เป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ไม้เนื้อแข็งต่างๆ เป็นต้น

การเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นการเก็บแบบธรรมชาติ รอให้ผลสุกเต็มที่และร่วงลงมา เจ้าของสวนทุเรียนมักจะไปสร้างขนำไว้กลางสวน เพื่อไปเฝ้าเก็บผลผลิต เนื่องจากพื้นที่สวนทุเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ไกลกับบ้านเรือน เป็นการป้องกันการลักขโมยทุเรียนในช่วงทุเรียนสุก

ทุเรียนบ้านนิยมกินแบบผลสุกเต็มที่ ไม่นิยมกินแบบห่ามๆ เพราะจะได้รสชาติของความหอมและหวานของทุเรียนได้เต็มที่ ลูกค้าที่เข้ามาซื้อส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำที่เคยซื้อไปกินแล้วติดใจในรสชาติ และมักจะระบุว่าต้องการซื้อทุเรียนจากต้นไหน ซึ่งทุเรียน 1 ลูก จะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท เจ้าของสวนนิยมขายทุเรียนที่เก็บได้ให้หมดในวันนั้นๆ เนื่องจากทุเรียนสุกเต็มที่แล้วถ้าเก็บไว้นานกลิ่นและรสชาติของทุเรียนจะเปลี่ยนไป ไม่อร่อยเหมือนลูกที่เก็บได้ใหม่ๆ

ทุเรียนที่เหลือจากขายและทุเรียนที่หนอนเจาะแต่เอาเนื้อทุเรียนได้บางส่วน เจ้าของสวนจะนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวน ซึ่งในการกวนทุเรียนบ้านนั้นจะกวนทั้งเมล็ด ใช้เวลาในการกวนประมาณ 2 ชั่วโมง เมล็ดก็จะหลุดออกจากเนื้อและได้ทุเรียนกวนที่แห้งพอดี อัตราทุเรียนสุกเมื่อแปรรูปเป็นทุเรียนกวนประมาณ 10 กิโลกรัม (รวมเมล็ด) ต่อ 3 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท 

สถานการณ์ “ทุเรียนบ้าน”

ในปัจจุบันของตำบลละมอ

ต้นทุเรียนพื้นบ้าน ประวัติศาสตร์คู่ตำบลละมอ

พื้นที่ปลูกทุเรียนบ้านในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง เนื่องจากเจ้าของสวนหันมาให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจและมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น ได้แก่ การปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีการตัดต้นทุเรียนเพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์ เนื่องจากต้นทุเรียนบ้านเป็นไม้ขนาดใหญ่สามารถนำเนื้อไม้มาประกอบบ้านเรือนหรือใช้ทำสิ่งก่อสร้างที่ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบได้

จากสถานการณ์การลดลงของ “ทุเรียนบ้าน” ทำให้ผู้นำในท้องถิ่นและเจ้าของสวนทุเรียนบ้านที่มีอยู่ในชุมชนขณะนี้ ได้มีการส่งเสริมและขยายพันธุ์ทุเรียนบ้านที่มีลักษณะพันธุ์ที่ดีคือ มีเนื้อหนา ผลโต รสชาติหวานมัน ให้เกษตรกรที่สนใจนำไปปลูก เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนบ้านให้มากขึ้น มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านในชุมชนเห็นความสำคัญของพืชชนิดนี้และอนุรักษ์ “ทุเรียนบ้าน” ให้คงอยู่คู่กับชาวละมอต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวิไลพร เยาว์ดำ บ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทร. 064-404-1083 คุณธนายุทธ นิตมา กำนันประจำตำบลละมอ โทร. 095-971-9738 หรือติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทร. 075-299-788