สยามคูโบต้า จับมือ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ ลดฝุ่นควัน PM 2.5 ภายใต้ “KUBOTA RUN เกษตรปลอดเผา เราปลอดฝุ่น“

ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาคือการเผาในที่โล่ง รวมไปถึงการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร สยามคูโบต้า ได้จับมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 21 องค์กร จัดกิจกรรม “KUBOTA RUN เกษตรปลอดเผา เราปลอดฝุ่น” เชิญชวนนักวิ่งทั่วประเทศร่วมรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 พร้อมร่วมสนับสนุนต้นกล้าไม้ยืนต้น กว่า 1,000 ต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง สร้างสวนป่านิเวศหนองแขม กรุงเทพมหานคร

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “สยามคูโบต้า ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน ในภาคการเกษตร จึงได้ริเริ่มโครงการเกษตรปลอดการเผา ขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ในการจัดการและสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2565

สยามคูโบต้าจึงได้สานต่อโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและมุ่งสร้างความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมรณรงค์ในการลดปัญหาดังกล่าว ด้วยการจัดกิจกรรมวิ่งในรูปแบบ Virtual Run ภายใต้ชื่องาน “KUBOTA RUN เกษตรปลอดเผา เราปลอดฝุ่น” ซึ่งเป็นรูปแบบเก็บสะสมระยะวิ่ง ได้แก่ มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอน สิ้นสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยผนึกความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดนำร่องเกษตรปลอดการเผาทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และราชบุรี โดยรายได้จากการสมัครหลังจากหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้แก่มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบันโรคทรวงอก เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามวัตถุประสงค์”

“นอกจากนี้ สยามคูโบต้า ยังได้จับมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ร่วมปลูกต้นกล้าไม้ยืนต้นในพื้นที่สาธารณประโยชน์ บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม กรุงเทพมหานคร กว่า 1,000 ต้น ประกอบด้วย ประดู่  อินทนิล นนทรี คำมอกหลวง มะค่าโมง ชงโคฮอลันดา และมะฮอกกานี เป็นต้น รวมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์ให้แก่ประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศรวม 17,000 ซอง ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับระยะวิ่งสะสมของผู้สมัคร โดยทุก 1 กิโลเมตร เท่ากับต้นไม้ 1 ต้น” นางวราภรณ์ กล่าวเสริม

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องและเพิ่มพูนพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ๆ ที่ถูกทำลายความหลายหลายทางชีวภาพไปมาก ซึ่งการปลูกต้นไม้เพียง 1 ต้น จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งกรองสารมลพิษในอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือ ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งต้นไม้เพียง 1 ต้นจะช่วยดูดซับได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครสีเขียว และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชุมชนต่างๆ”

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ภายใต้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย รวมถึงพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครสีเขียวที่สวยงามและร่มรื่น นอกจากนี้ ต้นไม้ยังช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ ลดฝุ่นละออง PM 2.5 และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งโครงการสวนป่านิเวศหนองแขม เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 7 ไร่ ก่อสร้างเป็นสวนป่านิเวศที่มีองค์ประกอบเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้พักผ่อนและออกกำลังกาย โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้”

สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร พร้อมขยายองค์ความรู้ “เกษตรปลอดการเผา” ไปยัง ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืน