เกษตรกรเลี้ยงหมูระทม โรคหมูทำผลผลิตลดกว่า 30% ต้นทุนเพิ่ม ซ้ำขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี

Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity

น.สพ. วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ และยังมีโรคระบาด PRRS หรือโรคเพิร์ส ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้แม่พันธุ์หมูเสียหายไปมากกว่า 300,000 ตัว ส่งผลให้ฟาร์มหมูขุนได้รับความเสียหายไป 30% ทั้งเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ขณะเดียวกันผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การบริโภคเนื้อหมูลดลงด้วย ประกอบกับ การท่องเที่ยวที่หยุดชะงักทำให้การบริโภคทั้งของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวน้อยลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน เกษตรกรทุกคนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นแทบทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากราคา 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่มเป็น 12.50 บาท ต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง จากราคา 17 บาท ต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 21 บาท ต่อกิโลกรัม รวมถึงปลายข้าวที่ขณะนี้ราคาขึ้นไปถึงกระสอบละ 1,100 บาทแล้ว ขณะที่ต้องมีภาระในการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity เพื่อการป้องกันโรคในสุกรที่เข้มงวด ทำให้จำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นกว่า 300-400 บาท ต่อตัว นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน ซึ่งต้องปรับตัวให้พร้อมกับระบบนี้ ที่จำเป็นต้องใช้ทุนอีกเป็นจำนวนมาก

“สิ่งที่เกษตรกรทุกคนอยากร้องขอคือ ขอผู้บริโภคเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรจะขายหมูได้ราคาดีมีกำไร ปัจจุบันนี้ราคาหมูเป็นที่เกษตรกรขายได้ยังไม่คุ้มกับต้นทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นไปมากกว่ากิโลกรัมละ 80.03 บาทแล้ว ยังไม่นับภาวะขาดทุนสะสมที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้คนเลี้ยงหมูพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง เพื่อประคองอาชีพให้ผ่านพ้นวิกฤติให้ได้ ขอเพียงผู้บริโภคและภาครัฐเข้าใจกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริง และจนถึงตอนนี้ราคาขายจริงหน้าฟาร์มก็ยังไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม” น.สพ. วิวัฒน์ กล่าว

อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า คาดว่าปี 2565 เกษตรกรจึงจะกลับมาเข้าเลี้ยงสุกรใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค PRRS รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูจะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%