จากห้องเรียน…สู่ชุมชน หมอจิ๋วลงพื้นที่ให้สุขศึกษาผู้สูงอายุโรคเรื้อรัง

ดร.ศศินันท์  วาสิน พยาบาลชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานบริการสุขภาพชุมชน สาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลชลประทาน (ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เผยถึงโครงการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยจิตอาสาหมอจิ๋ว เป็นการแก้ปัญหาสุขภาพแนวใหม่โดยการปรับนโยบายและแผนการดำเนินงานด้านสุขภาพเป็นการบริการเชิงรุก ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุตามสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยใช้เยาวชนอายุ 9 – 14 ปี เป็นแกนนำครอบครัว เพื่อดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและชุมชน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นพี่เลี้ยง เพื่อสร้างทัศนคติและทักษะในการดูแลสุขภาพมุ่งให้ความรู้ทางด้านการดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น และเพื่อสร้างให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการเสียสละแก่ส่วนรวม

โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 มีจุดเริ่มต้นจาก ชุมชนต้องการแก้ปัญหาเรื่องเยาวชนมั่วสุมกันในช่วงปิดเทอมและไม่ค่อยมีสัมพันธภาพระหว่างกันในชุมชน  ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการควบคุมโรคระบาดในชุมชน ทางโรงพยาบาลชลประทานจึงได้ร่วมกับชุมชนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการกับเยาวชนในชุมชน เรื่องสิ่งแวดล้อมและการควบคุมโรค ภายใต้โครงการอาสาสมัครรุ่นจิ๋ว ในปี 2549  และต่อมาได้พัฒนาโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนจึงมาเป็นหมอจิ๋วประจำบ้านเพื่อดูแลคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2559 ได้ร่วมปฏิบัติงานบริการวิชาการแก่ชุมชนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้ลงพื้นที่ในชุมชนจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองสังข์ อำเภออรัญประเทศ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแวง อำเภอโคกสูง, และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าช้าง อำเภอวัฒนานคร พบว่า ปัญหาชุมชนและความต้องการคล้ายๆ กันคือต้องการแก้ปัญหาเยาวชนและปัญหาเรื่องผู้สูงอายุ จึงได้นำเสนอโครงการการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยจิตอาสาหมอจิ๋ว และได้รับความร่วมมือจากชุมชน สาธารณสุขอำเภออรัญประเทศ สาธารณสุขอำเภอโคกสูง และโรงพยาบาลอรัญประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการเน้นการสอนทักษะในการทำงาน โดยแบ่งเป็นกลุ่มมีฐานความรู้ในแต่ละฐาน ได้ให้หมอจิ๋วลงมือทำจริงในทุกฐาน เช่น การปฐมพยาบาล ฐานสัญญาณชีพ ฐานโรคเรื้อรัง ฐานอาหารโภชนาการ ฐานออกกำลังกาย ฐานโรคไข้เลือดออกและโรคซิกก้า และฐานป้องกันการตั้งครรภ์ เป็นต้น และหลังจากนั้นก็จะลงไปชุมชนเพื่อติดตามประเมินผล ซึ่งพบว่าเยาวชนที่เป็นหมอจิ๋วมีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุในครอบครัว

และชุมชนมากขึ้น เด็กๆ มีความภูมิใจที่ได้ผ่านการอบรมการเป็นหมอจิ๋วและมีแรงบันดาลใจในการดูแลสุขอนามัยของตนเอง คนในครอบครัว และชุมชน และบางคนบอกว่าในอนาคตอยากเรียนให้จบเป็นหมอมาช่วยรักษาคน

การลงชุมชนเพื่อติดตามการทำงานของหมอจิ๋วในครั้งนี้ ได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดูแลกันทุกครัวเรือน ถึงแม้หมอจิ๋วจะมีวิชาความรู้ด้านสุขศึกษาเพียงขั้นพื้นฐานแต่ก็สามารถทำหน้าที่ได้โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง เดินไม่ได้ นอนติดเตียง ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะการนอนติดเตียงจะทำให้ข้อบริเวณต่างๆ ยึด กล้ามเนื้ออ่อนแรง จำเป็นต้องออกกำลังกายฟื้นฟูกล้ามเนื้อเป็นประจำ และหมอจิ๋วสามารถช่วยได้และสนุกไปกับการสอนออกกำลังกายด้วย

เป้าหมายและผลสำเร็จของการทำงานจึงไม่ใช่เป้าหมายของโครงการเพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือให้ทุกคนที่ผ่านการอบรมมีความรู้ ความสุขและสนุกในการทำงานด้วย และทุกครั้งหลังจากทำโครงการเสร็จสิ้นก็จะมีการประเมินหรือถอดบทเรียนในการทำงาน ซึ่งพบทั้งความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคแต่ทีมงานทุกคนก็มีแรงบันดาลใจที่จะทำงานต่อไป เพราะผลที่เราได้รับการทำงานในโครงการนี้คือ “เราได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน”

เด็กหญิงพลอยชมพู  เพียรผึ้ง อายุ 13 ปี หมอจิ๋วรุ่นที่ 1 กล่าวว่า “ภายในหนึ่งปี มันอาจจะเป็นระยะสั้นๆ แต่มันมีคุณค่าต่อตัวฉันมาก เรากว่าจะได้เป็นหมอจิ๋วต้องใช้เวลา การเป็นหมอจิ๋วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

เด็กชายอนันตชัย  คำสมัย อายุ 15 ปี หมอจิ๋วรุ่นที่ 1 กล่าวว่า “ผมได้ช่วยคนที่ถูกสุนัขกัด โดยการเอาสบู่มาล้างแผล แล้วพาส่งโรงพยาบาล  ผมได้ช่วยเหลือคนเจ็บ ผู้สูงอายุ ผมดีใจและผมมีความสุข

เด็กหญิงขวัญจิรา  โกเมน อายุ 14 ปี หมอจิ๋วรุ่นที่ 1 กล่าวว่า “ดิฉันดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนร่วมในโครงการหมอจิ๋ว  ฉันได้นำการอบรมที่ได้ไปใช้กับคุณยาย เพราะว่าคุณยายเป็นโรคเบาหวานและอ้วน ฉันเลยให้คุณยายออกกำลังกายโดยการแกว่งแขนทุกวันและไม่ให้กินอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารรสเค็ม แต่คุณยายไม่ฟังหรอกค่ะ พอถึงวันหมอนัดไปตรวจ เบาหวานก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้คุณยายจึงเริ่มควบคุมอาหารแล้วและก็ออกกำลังกายแต่ไม่บ่อยมากและกินผักผลไม้ สุขภาพก็ดีขึ้น”

จากการลงชุมชนผลที่ได้กลับมาคือผู้ป่วยที่บ้านมีสุขภาพดีขึ้น จากผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มาประมาณ 1 ปี      ไม่กล้าเดิน แต่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระดูก เมื่อหมอจิ๋วและพี่เลี้ยงไปเยี่ยมสามารถทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและมีความมั่นใจที่จะเดิน จนในที่สุดก็สามารถลุกขึ้นเดินได้ และยังสร้างสัมพันธภาพที่ดีทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม ทำให้เยาวชนมีความรู้ความมั่นใจและกล้าที่จะเป็นจิตอาสาหมอจิ๋วในการดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและชุมชน ที่สำคัญคือได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหมอจิ๋วและสร้างทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพของตนเองและผู้อื่น