ลำไยสอยดาว ประหยัดงบ ใช้ปุ๋ยชีวภาพบำรุง ต้านทานโรคแมลงศัตรูพืชได้ดี

ลำไย เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ลำไยเป็นไม้ยืนต้นที่ต้องการความหนาวเย็นเพื่อออกดอก จึงพบเห็นสวนลำไยเป็นจำนวนมากในภาคเหนือ หลังจากได้มีการค้นพบสารโพแทสเซียมคลอเรต เป็นสารที่สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ไม่ต้องพึ่งความหนาวเย็น การปลูกลำไยจึงสามารถปลูกในพื้นที่อื่นได้ อย่างเช่น อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

ผลโต

คุณสมพงษ์ สุขเกษม อยู่บ้านเลขที่ 247 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนลำไยมามากกว่า 10 ปี คุณสมพงษ์ เล่าว่า เมื่อก่อนตนไม่ได้ปลูกลำไย แต่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นคือ ข้าวโพดและอ้อย แต่ช่วงนั้นพืชเศรษฐกิจ 2 อย่างนี้ราคาไม่ค่อยดี จึงหันมาปลูกลำไยแทน เพราะมองเห็นเม็ดเงินที่ได้มา มันมากกว่าการปลูกข้าวโพดและอ้อย ลำไยที่ปลูกตั้งแต่เริ่มต้นคือ สายพันธุ์อีดอ สาเหตุที่เลือกสายพันธุ์นี้เพราะเนื้อแน่นไม่เป็นน้ำ เนื้อหวาน สายพันธุ์นี้ก็ดีกว่าสายพันธุ์อื่น

คุณภาพเยี่ยมยอด

คุณสมพงษ์ บอกว่า เมื่อก่อนตนปลูกลำไยระยะชิด 6×6 เมตร ได้ 6-7 ปี พบว่าลำต้นของลำไยเกิดชนกัน ทำให้ทำงานยากไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปทำงานได้สะดวก จึงหันมาปลูกระยะห่าง 10×10 เมตรแทน ผ่านมา 12 ปี ลำไยที่ปลูกไว้ยังไม่เคยชนกัน เครื่องจักรสามารถทำงานได้เต็มที่ตลอด เขายังให้ความเห็นว่าการปลูกระยะชิดก็มีข้อดี คือจะทำให้ลำไยเนื้อดี แต่ผลผลิตที่ได้ออกมาก็ไม่ต่างกันกับระยะห่างมาก ตนจึงหันมาปลูกระยะห่างแทนเพราะทำงานได้สะดวกกว่าปลูกระยะชิด

หลังเก็บเกี่ยว

ในการปลูกลำไย คุณสมพงษ์ให้เทคนิคไว้ว่า ก่อนปลูกลำไยต้องยกร่องพื้นดินให้สูง 50-80 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้น้ำสามารถขังได้ จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมีบ้างนิดหน่อย ให้รดน้ำต้นลำไยปริมาณที่มากหน่อยและบ่อยครั้ง จะทำให้ลำไยโตเร็วได้ดี ส่วนตัวจะรดน้ำลำไยตอนเริ่มปลูก 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง หากต้นโตแล้ว 5-7 วัน จะรด 1 ครั้ง 3-7 นาที ลำไยสามารถอยู่ได้ไม่ตาย ในการเลือกต้นกล้าลำไย ให้เลือกต้นที่เล็กที่สุด แต่กิ่งต้องอ้วนและสั้น เพราะเวลาโตขึ้นมากิ่งด้านล่างที่ออกมามันจะชิดสามารถกันลมได้ดี ทำให้ต้นลำไยไม่ฉีกไม่ล้ม

การใช้ปุ๋ยในการบำรุง คุณสมพงษ์จะใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่าเมื่อก่อน เนื่องจากปุ๋ยเคมีที่ใช้ทำให้ดินเสื่อม ใบลำไยมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด จึงหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพเพิ่มขึ้น การทำปุ๋ยชีวภาพจะใช้สัดส่วนนั้นไม่ได้ตายตัวแล้ว แต่วัตถุดิบที่ได้มาส่วนมากจะใช้เปลือกมันสำปะหลัง 250 ตัน ผสมกับหินปูนโดโลไมท์ 30 ตัน ขี้ไก่ 60 ตัน ผสมพร้อมกับน้ำหมักชีวภาพ EM ทิ้งไว้กับลานปูน 1 เดือน พลิกกลับระบายอากาศสัก 2 ครั้ง ต่อเดือน จนกว่าจะแห้งถึงนำมาใช้ได้ สูตรปุ๋ยเคมีที่ใช้จะเป็นสูตร 46-0-0 และ 0-0-60 ให้หมักไปพร้อมกับปุ๋ยชีวภาพที่กล่าวมาข้างต้น 15 วัน แล้วใช้กับต้นลำไยได้เลย

ดูแลอย่างใกล้ชิด

“หมักปุ๋ยเคมีเข้าไปพร้อมกับปุ๋ยชีวภาพ หมักสัก 15 วันแล้วใช้ได้เลย มันดีขึ้นนะ ต้านทานโรคดีมาก หลังจากใช้ปุ๋ยนี้แมลงศัตรูพืชมันก็มีแต่น้อยลง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเยอะเหมือนเมื่อก่อน ใบก็ดีขึ้น ดินก็ดีขึ้น” คุณสมพงษ์ กล่าว

สำหรับการราดสารของที่นี่

.ต้องใช้ไม้ค้ำ

อายุของต้นลำไยที่เริ่มราดสารได้ต้องมีอายุประมาณ 4 ปี เพราะต้นลำไยจะใหญ่โตเต็มที่ ช่วงเดือนที่เริ่มราดสารสามารถทำได้ตลอด ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน หากสภาพของต้นและใบลำไยพร้อมในการราดสารจะใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 1 กิโลกรัม 3 ขีด ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ผสมกับไทโอยูเรีย 1 กิโลกรัม ฉีด 4 ครั้ง ครั้งที่ 1-2 ต้องฉีดให้ใบลำไยเปียกโชก ครั้งที่ 3-4 จะลดปริมาณการฉีดให้ใบลำไยพอเปียกๆ แทน จากนั้นให้นับเวลาไปอีก 18 วัน แล้วมาฉีดปุ๋ยสาหร่ายทะเล น้ำตาลทางด่วนเพื่อเร่งให้ลำไยออกดอก และรดน้ำในปริมาณที่มาก

การเก็บเกี่ยวเมื่อก่อนล้งที่รับซื้อลำไยไป จะหาคนงานมาเก็บให้ทั้งสวน จะเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ช่วงตรุษจีน ปีนี้มีปัญหาหนักเพราะคนงานที่ล้งติดโควิด-19 กันเยอะ ทำให้ไม่มีคนงานมาเก็บช่วย จึงต้องระดมกำลังลูกหลานมาร่วมแรงกันช่วยเก็บ ได้เท่าไหร่ก็ต้องเอาเท่านั้น ต้องยอมเสียต้นทุนเพราะคนงานปีนี้ขาดแคลนจริงๆ

ระยะปลูก

หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จจะต้องตัดแต่งกิ่งลำไยทันที คุณสมพงษ์จะตัดแต่งกิ่งเล็กๆ กิ่งหัก กิ่งร้าว ที่คนงานทำตอนเก็บเกี่ยว ต้องตัดทิ้งให้หมด กิ่งใหญ่แต่ไม่สวยไม่ต้องตัด ตัดเฉพาะกิ่งเล็กเรียวๆ ที่ไม่สามารถใช้ได้ทิ้งไป เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จให้ทำความสะอาดโคนต้น เก็บกวาดเศษใบ เศษกิ่งไม้มันที่ร่วงลงมาเอาออกให้หมด หากมีเศษปุ๋ยชีวภาพหลงเหลืออยู่ก็ต้องเอาออก จากนั้นก็ให้ใส่ปุ๋ยและรดน้ำ 7 วัน ต่อ 1 ครั้ง เพื่อให้ลำไยแตกใบใหม่ บำรุงต้นลำไยไปเรื่อยๆ จนผลัดใบที่ 2 จึงค่อยราดสารอีก 1 ครั้ง

หากเกษตรกรจากพื้นที่อื่นอยากที่จะปลูกลำไยเหมือนตน คุณสมพงษ์มีความเห็นว่าไม่น่ามีปัญหาเยอะเกี่ยวกับการปลูก แต่มีปัญหาอย่างเดียวที่ต้องระวังคือเรื่องของน้ำ น้ำต้องใช้ปริมาณที่มากในการปลูกลำไย ส่วนตัวใช้หัวสปริงเกลอร์ที่ปล่อยน้ำ 250 ลิตร ต่อชั่วโมง 1 ต้นจะใช้ 2 หัวสปริงเกลอร์ ใช้เวลารดน้ำ 50 นาที ปีที่แล้วคุณสมพงษ์ ลอง 1 ต้น รดน้ำ 30 นาที ผลที่ได้คือน้ำไม่พอสำหรับลำไย การปลูกลำไยต้องใช้น้ำเยอะมากโดยเฉพาะตั้งแต่เดือนธันวาคม ช่วงที่ลูกลำไยกำลังใหญ่

เริ่มแทงช่อ

ฝากถึงชาวสวนลำไย

ช่วงนี้ราคาลำไยไม่ดี อยู่ที่ 12-15 บาท ต่อกิโลกรัม เสียใจกันเยอะชาวสวนลำไยปีนี้ อยากให้ชาวสวนลำไยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย อยากให้หันมาใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเยอะๆ ปุ๋ยเคมีให้ลดลงมา 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องระวังต้นทุนให้มากๆ เพราะราคาลำไยปีนี้มันไม่ดี ยาฆ่าแมลงพยายามใช้ให้น้อยที่สุด ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดไล่แมลงศัตรูพืชแทนจะดีกว่า

เริ่มติดผล

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามเกษตรกรได้ตามที่อยู่ หรือโทร. 081-862-5524 (คุณ  สมพงษ์) และ 081-175-1860 (คุณสง่า)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354