วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เปิดหลักสูตร อากาศยานไร้คนขับ แก้ปัญหาแรงงานสวนผลไม้

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เป็นสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ชื่อเดิมว่า “โรงเรียนเกษตรกรรมแผนใหม่ชุมพร” ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2505 บนเนื้อที่ 2,431 ไร่ 1 งาน 30.7 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ถนนเพชรเกษม ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร

เนื่องด้วย เป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรและเทคโนโลยี จึงให้รายละเอียดเรื่องของสภาพพื้นที่ไว้ ดังนี้ สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย ชนิด chumphon series มีค่า pH 4.8-6.5 เฉลี่ย 5.65 มีปริมาณน้ำฝนตกทั้งปี ประมาณ 2,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส สภาพอากาศทั่วไปร้อนชื้น ความชื้นเฉลี่ย 82 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการทำฟาร์ม ประมาณ 1,778 ไร่ เป็นที่พักอาศัยและอาคารสถานปฏิบัติการสอนประมาณ 498 ไร่ และเป็นพื้นที่สงวนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประมาณ 155 ไร่

แหล่งน้ำที่ใช้บริโภค ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากคลองเพรา น้ำประปา น้ำฝน และน้ำดื่มบรรจุขวด สำหรับน้ำใช้ในฟาร์ม ส่วนหนึ่งได้จากคลองเพรา และบางส่วนได้จากอ่างเก็บน้ำภายในสถานศึกษา

ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร

ปัจจุบัน มี ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ ภู่พลับ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร

……

ด้วยพื้นที่ภาคใต้เป็นฤดูที่กล่าวกันถึงการให้ผลิตผลของไม้ผลยอดฮิตของประเทศล่าช้ากว่าภาคอื่น แต่ในมุมมองคือ ทำให้มี “ทุเรียน” รับประทานได้ต่อเนื่องยาวไปอีกหลายเดือน หลังผลผลิตในส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน ออกจำหน่ายหมดแล้ว

ในข้อเขียนนี้ ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ จึงพูดคุยถึงผลงานที่เริ่มดำเนินการไปหมาดๆ และช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทำสวนทุเรียนในภาคใต้ได้อย่างดี

“พื้นที่วิทยาลัยเรามีมาก ตอนนี้เราได้รวบรวมสายพันธุ์ทุเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาปลูกและขยายพันธุ์ไว้ในพื้นที่ของวิทยาลัย ปัจจุบันมีประมาณ 44 สายพันธุ์แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก สำหรับเป็นแหล่งองค์ความรู้เรื่องทุเรียนของเกษตรกรในภาคใต้”

สิ่งที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร คาดเป้าไว้ คือการผสมข้ามสายพันธุ์ในลักษณะเดียวกับทุเรียนสายพันธุ์หนามดำ ซึ่งเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหมอนทองกับก้านยาว และพบที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยการปลูกทุเรียนสายพันธุ์มูซังคิง 3 ต้น และนำสายพันธุ์หมอนทองมาปลูกไว้ใกล้เคียงอีก 1 ต้น ซึ่งได้มอบหมายให้นักศึกษาและครู เก็บข้อมูลและศึกษาไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโต รวมถึงการเก็บข้อมูลเรื่องดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกทุเรียนในจังหวัดชุมพรด้วย

จากการสำรวจพบว่า ปัญหาแรงงานสำหรับฉีดพ่นสารในสวนทุเรียน ยังคงเป็นปัญหาที่เกษตรกรสวนทุเรียนแก้ไม่ตก แนวคิดการลดปัญหาแรงงานให้กับเกษตรกรจึงเกิดขึ้น

ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ เล่าว่า แรงงานในภาคเกษตรปัจจุบันหายากมาก ซึ่งทุเรียนเป็นผลไม้ที่โอกาสเกิดโรคและแมลงเข้าทำลายง่าย และส่งผลตามไปถึงผลผลิต ทำให้รายได้จากการทำสวนทุเรียนที่เป็นรายได้หลักและตัวเลขสูงไม่เป็นไปตามต้องการ ตัวอย่างเกษตรกรทำสวนทุเรียนเพียง 134 ต้น เมื่อผลทุเรียนสมบูรณ์ สามารถเก็บจำหน่าย มีรายได้กว่า 5,000,000 บาททีเดียว

แนวคิดการลดปัญหาแรงงานของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร คือการเปิดหลักสูตรอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างหลักสูตร และคาดว่าจะเปิดสอนได้ในปีการศึกษา 2565 ในสาขาวิชาพืชศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ขณะที่อยู่ระหว่างความพร้อมเปิดสอนในหลักสูตรดังกล่าว วิทยาลัยได้เก็บข้อมูลและเริ่มให้ข้อมูลกับเกษตรกรทำสวนทุเรียนถึงความสำคัญของการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “โดรน” ช่วยลดปัญหาแรงงานได้อย่างไรบ้าง

“ที่ผ่านมาเราเปิดอบรมการใช้โดรนให้กับเกษตรกรไปแล้ว 1 รุ่น โดยมีนักศึกษาของวิทยาลัยร่วมด้วย ทั้งหมดรวม 60 คน ทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งมีผู้ควบคุมเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยที่ผ่านการอบรมการใช้โดรนสำหรับการพ่นสารในสวนทุเรียนมาเรียบร้อยแล้ว โดยนักศึกษาจะทำหน้าที่ควบคุมการบินและการฉีดพ่นสารของโดรนด้วยการเขียนโปรแกรมลงในคอมพิวเตอร์ ให้โดรนทำหน้าที่ตามที่เกษตรกรต้องการ เช่น การพ่นสารกำจัดแมลง เป็นต้น”

หลังการอบรมผ่านไป มีเกษตรกรสนใจและให้นักศึกษานำโดรนเข้าไปใช้ในพื้นที่สวนทุเรียน 5 รายแล้ว

ว่าที่ร้อยตรีนิพนธ์ กล่าวว่า สิ่งที่วิทยาลัยคาดว่าจะได้รับจากการเปิดหลักสูตร และการอบรม คือ นักศึกษาได้รับความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรจริง สามารถนำไปประกอบอาชีพหรือหารายได้ระหว่างเรียนได้ โดยการรับจ้างบินโดรน

“เหตุผลที่ควรใช้โดรนบินพ่นสารในสวนทุเรียน นอกเหนือจากการลดปัญหาแรงงานที่หาได้ยากแล้ว ยังทำงานได้รวดเร็ว ประหยัด ละเอียด และทั่วถึงกว่า”

 

ในอนาคต ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร บอกว่า นอกเหนือจากสวนทุเรียนที่เป็นเป้าหมายของการลดปัญหาแรงงานขณะนี้แล้ว สวนผลไม้อื่นก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งต่อไปสวนผลไม้เองน่าจะต้องลงทุนเรื่องของเครื่องมือ คือ โดรน ในราคาตัวละประมาณ 350,000 บาท และจ้างนักศึกษาของวิทยาลัยในการเขียนโปรแกรมและควบคุมเท่านั้น ซึ่งเมื่อคำนวณความคุ้มทุนแล้ว ช่วยประหยัดได้มากกว่าการจ้างแรงงานฉีดพ่นสารในสวนผลไม้มาก

สนใจหลักสูตร และการอบรมการใช้โดรนในสวนทุเรียน สอบถามเพิ่มเติมหรือติดต่อได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร เลขที่ 1 หมู่ที่ 8 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร โทรศัพท์ 077-611-881 ในวันและเวลาราชการ