นครสวรรค์ หนุนขึ้นทะเบียนพืช GI ตาลโตนดชุมแสง ต้นกำเนินดงตาล ที่บ้านปากคลองเกยไชย

เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสุดๆ ในทุกๆ ด้านของประเทศไทย…

โดยเฉพาะกับการเป็นผู้บริหารของ คุณนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ ที่ต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พอดิบพอดี แนวคิดและนโยบายที่ตระเตรียมไว้ที่จะขับเคลื่อนส่งเสริมด้านการตลาดนำการผลิตจึงไม่มีโอกาสได้เปิดเวทีแสดงเพราะทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่าง New Normal ตามมาตรการของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด

คุณนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ (ซ้าย) รับมอบนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จากผู้สื่อข่าว คุณจิตรกร บัวปลี

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าพบและสัมภาษณ์ในนามนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เครือมติชน ภายใต้หัวข้อ “ตลาดนำการผลิต” ที่ท่านพาณิชย์จังหวัดคิดไว้ เมื่อประเทศผ่อนคลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะได้ขับเคลื่อนภายใต้บทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ คือการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ ตามโครงการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบไปด้วยจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี และนครสวรรค์

หญิงเก่ง คุณนัยนภัส สังขนุกิจ พาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ ให้สัมภาษณ์แสดงวิสัยทัศน์

โดยเฉพาะเป้าหมาย การทำงานร่วมกันของหน่วยงานพันธมิตร อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ได้มีการบูรณาการร่วมกันว่า จะทำตลาดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องสินค้าเกษตร ให้สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ตามนโยบาย “ทำตลาดนำการผลิต” หมายความว่า

“เกษตรคุณผลิต พาณิชย์เป็นคนทำการตลาด”

อีกนัยยะหนึ่ง เมื่อสำนักงานพาณิชย์ของเราเล็งเป้าหมายทำการตลาดให้แล้ว จึงจะชี้เป้าให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าให้ทันตลาด ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของเกษตรกรหรือผู้ผลิตสินค้า ไม่ต้องเป็นกังวลว่า เมื่อผลิตสินค้าแล้วจะไม่มีตลาดรองรับหรือไม่มีผู้รับซื้อ ที่ผ่านมาในหลายๆ ตัวผลิตภัณฑ์สินค้าสำนักงานพาณิชย์ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และสัมฤทธิ์ผลมาแล้วมากมายในหลายตัวผลิตภัณฑ์

ต้นตาลโตนดดั้งเดิมอายุ 100 ปี ที่บ้านปากคลองเกยไชย

พันธกิจของพาณิชย์ที่เราจะปูทางตลาดต่อไปคือการชี้เป้าหมายสินค้าเพื่อหาผู้ผลิต จะเรียกว่า “ตลาดนำการผลิต” ก็ว่าได้ หรือจะเรียกว่า “ทำตลาดนำการผลิต” ในความหมายเดียวกันซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครสวรรค์ ที่จะเชื่อมโยงและขับเคลื่อนสินค้าเกษตรเชิงพาณิชย์ให้บรรลุเป้าหมายในการทำตลาดของการพัฒนาสินค้าชุมชน

แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ การประชาสัมพันธ์ ทำอย่างไรถึงจะให้คนรับรู้ว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ของตัวเองนั้น ดีจริงมีคุณภาพแค่ไหน ในเรื่องรสชาติและความอร่อย และที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์

หนึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่คุณนัยนภัสกำลังผลักดันและส่งเสริมเมื่อได้พบกับ คุณวิชัย กล้วยหอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีการประชุมหลายรอบ ณ ชุมชนแห่งนี้ ที่มีการแปรรูปสินค้าผลผลิตที่ได้มาจากตาลโตนดทั้งระบบ จนเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของ “ชุมชนดงตาล” ของอำเภอชุมแสง

คุณวิชัย กล้วยหอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย กับความภาคภูมิใจที่รายล้อมไปด้วยลูกตาลโตนด

สินค้าที่ว่านี้ประกอบไปด้วย น้ำตาลสดเกยไชย น้ำตาลโตนด น้ำตาลปึกแท้ ไอศกรีมตาลสด ขนมตาล ลูกตาลลอยแก้ว จาวตาลเชื่อม และจาวตาลสดเนื้ออ่อน ผลผลิตที่ว่านี้ล้วนเป็นสินค้าประจำท้องถิ่นของอำเภอชุมแสง ที่มีต้นตาลหรือดงป่าตาลมากที่สุดของประเทศ

คุณนัยนภัสให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้าที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกันกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย และอีกหลายๆ ฝ่าย ที่จะผลักดันให้ตาลโตนด อำเภอชุมแสง ได้ขอรับการขึ้นทะเบียนตราสัญลักษณ์มาตรฐานรับรอง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI : thai geographical indication)

นักเฉาะตาลมืออาชีพรุ่นเก๋า อย่างคุณสมควร (คนกลาง) ที่รายล้อมไปด้วยลูกตาลกองใหญ่ๆ

เนื่องจากตาลโตนดของอำเภอชุมแสง จังหวดนครสวรรค์ มีดงตาลหรือพื้นที่ปลูกตาลโตนดมากที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอชุมแสง ที่มีดงตาลหรือตาลป่า ต้นกำเนิดของดงตาลตั้งแต่อดีตกาลจวบจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังดำรงชีวิตเลี้ยงชีพมาจากการทำสวนตาลจำหน่าย สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

เราได้ทำข้อมูลรวบรวมให้คณะกรรมการ GI ได้เข้ามาตรวจสอบหลายรอบแล้ว ถึงคุณลักษณะพิเศษทั้งรูปทรงผลตาลโตนด กลิ่นและรสชาติที่ดั้งเดิม ในการขอขึ้นทะเบียน ตราสัญลักษณ์ GI ว่าเป็นพืชประจำท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีตกาลโดยไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมของพืช หรือนำต้นตาลโตนดจากพื้นที่อื่นเข้ามาเพาะขยายพันธุ์ปลูกในพื้นที่ ถิ่นดั่งเดิมของอำเภอชุมแสงแห่งนี้

รอยยิ้มแห่งความสุขในอาชีพวิถีชีวิตของชาวดงตาลที่บ้านปากคลองเกยไชย

คุณนัยนภัสให้ข้อมูลอีกว่า “ดงตาลชุมแสง” มีความพร้อมที่จะได้ขึ้นทะเบียนตราสัญลักษณ์ พืชประจำท้องถิ่นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เด่นในการเพิ่มมูลค่าแบรนด์ผลิตภัณฑ์สินค้าและเป็นความภาคภูมิใจของชาวชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย ต้นกำเนิดของตาลโตนดของอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

เมื่อทราบดังนี้ ผู้เขียนจึงลงพื้นที่ตามพิกัดที่ท่านพาณิชย์จังหวัดปักหมุดไว้ ที่บ้านปากคลองเกยไชย อำเภอชุมแสง เพื่อไปดูกับตาถึงวิถีการดำรงชีวิตของชาวชุมชนดงตาลบ้านปากคลองเกยไชย และก็ได้พบกับ คุณวิชัย กล้วยหอม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย เมื่อมองไปรอบๆ ก็รายล้อมไปด้วยลูกตาลโตนดกองใหญ่ อีกทั้งเสียงมีดกระทบลูกตาลสีดำ สลับกันไปตามจังหวะแรงมีดของสมาชิกแต่ละคน ในการสับเฉาะลูกตาลและคว้านควักเอาเนื้ออ่อนของลูกตาลหรือจาวตาลอ่อน สีขาวๆ ลักษณะวุ้นใสๆ มาให้เราได้รับประทาน รสชาติจะกรุบๆ หวานๆ ละมุนลิ้น

เนื้อจาวตาลอ่อนนวลๆ ขาวๆ ที่เฉาะคว้านออกมากับมือ

คุณวิชัย เล่าให้ฟังว่า ที่ตำบลปากคลองเกยไชย อำเภอชุมแสง มีพื้นที่ป่าตาลและดงตาลนับแสนๆ ต้น เรียกว่าใหญ่ที่สุดในอำเภอชุมแสง ขณะที่สมาชิกแต่ละคนที่มานั่งเฉาะตาลก็ล้วนมีอายุเกิน 60 อัพ ซึ่งแต่ละคนมีสวนตาลเป็นของตัวเอง อย่าง คุณสมควร ที่ร่างกายกำยำ เริ่มปีนต้นตาลมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จวบจนถึงปัจจุบันอายุอานามขึ้นตาลกันไม่ไหวแล้ว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ขึ้นต้นตาล เฉาะตาล และการแปรรูปตาล ในกลุ่มสมาชิกของเราจะเป็นการเอาแรงกัน เปรียบเหมือนการดำนาก็จะเรียกว่า ลงแขก ช่วยขอแรงกันไม่มีค่าจ้าง เมื่อถึงคิวขอแรงบ้านของใคร ก็จะไปช่วยกันในกลุ่มสมาชิก ตามแต่ความสมัครใจของแต่ละคน รวมถึงการปันผลกำไรจากการจำหน่ายสินค้าตาลโตนดก็เช่นเดียวกัน เป็นวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่เราทำสืบทอดกันมาตั้งรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย

ลูกตาลโตนดกองใหญ่ๆ สินค้า GI ของชาวชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย ในอำเภอชุมแสง

ผู้เขียนลงพื้นที่ เป็นช่วงจังหวะฤดูการเฉาะตาลสดๆ ของกลุ่มสมาชิก ที่บ้านคุณวิชัยพอดิบพอดี ซึ่งเป็นการเฉาะจาวตาลอ่อนเพื่อการบริโภคสด ส่วนตาลแก่ก็จะโยนลงบ่อหมักน้ำทิ้งไว้อีก 1 เดือน ถึงจะเอามาแปรรูปในขั้นตอนต่อไป ทำเป็นขนมตาล จาวตาลเชื่อม หรือจาวตาลลอยแก้ว และอีกหลายกระบวนการกรรมวิธีแปรรูปผลิตผลจากตาล ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลสดเกยไชย ที่ผ่านกระบวนการเคี่ยวคั้นสดๆ จากงวงตาล ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษในการผลิตน้ำตาลโตนดสดๆ ที่ไม่เหมือนใคร และส่วนหนึ่งก็เคี่ยวเป็นน้ำตาลโตนดปึกสดแท้

ส่วนในเรื่องของรสชาติ พิเศษที่ความหอมหวานของตาลโตนดรสดั้งเดิม ที่คุณวิชัยอยากแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคือ ไอศกรีมตาลสด สูตรโบราณของบ้านปากคลองเกยไชย ที่ใครๆ ได้ลิ้มลองแล้วจะไม่ลืม ถิ่นกำเนิดตาลโตนดของแท้อันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้

ผลผลิตจาวตาลอ่อนสดๆ บรรจุถุง เตรียมส่งขายให้กับพ่อค้าที่มารอรับซื้อ เมื่อเฉาะเสร็จใหม่ๆ

ทุกวันนี้ที่บ้านปากคลองเกยไชย เขาเปิดเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โอท็อปนวัตวิถี ผู้เขียนการันตีให้เลยว่าไปแล้วไม่ผิดหวัง ได้ชมวิถีการผลิตตาลโตนด การแปรรูปน้ำตาลสด อีกทั้งวัฒนธรรมริมน้ำ วัดเกยไชย ที่มีตำนานอันเก่าแก่มาแต่โบราณ

ก่อนเดินทางกริ๊งกร๊างสอบถาม คุณวิชัย กล้วยหอม ไว้ล่วงหน้าหน่อยก็ดี ที่เบอร์โทร. 081-786-7716 และอย่าลืมอุดหนุนตาลโตนด สินค้าที่กำลังขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตราสัญลักษณ์ GI ของอำเภอชุมแสง ด้วยนะครับ