สมาคมกุ้งไทย เผยปีนี้ไทยผลิตกุ้งได้ 2.8 แสนตัน

ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย นายบรรจง  นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายเอกพจน์ ยอดพินิจ อุปนายกสมาคมฯ นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทย นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย และ นาย  ชัยภัทร ประเสริฐมรรค กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี และคณะกรรมการฯสมาคมฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2564 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2564 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ปี 2563 อยู่ที่ 270,000 ตัน) คาดปี 2565 ผลิตได้ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

“การผลิตกุ้งของไทยปีนี้ (ปี 2564) คาดจะผลิตได้ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 33 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 32 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 24 และจากภาคกลาง ร้อยละ 11  ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 (ดังแสดงในตาราง 1) ส่วนการส่งออกกุ้งเดือนม.ค.-ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 4 และ ร้อยละ 9  ตามลำดับ” (ดังแสดงในตาราง 2) แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆ นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย และกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกประมาณ 66,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 18 โดยจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปี และพบความเสียหายของโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะจังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และพบโรคหัวเหลืองในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มากกว่าในปีที่ผ่านมา ส่วนโรคอีเอชพี และขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญสำหรับการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปีโดยพบมาในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาปัจจัยการผลิต ต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรค ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 32,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงกุ้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงต้นปีสภาพอากาศแปรปรวน พบความเสียหายจากโรคหัวเหลืองและตัวแดงดวงขาว