เผยแพร่ |
---|
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามประเมินผลโครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ในปี 2564 โดยมีกรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน มีการจัดอบรมความรู้ด้านการผลิตและการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานแก่กลุ่มเกษตรกร
จากการติดตามประเมินผลโครงการฯ โดยศูนย์ประเมินผล สศก. พบว่า ปีงบประมาณ 2564 สามารถส่งเสริมเกษตรกรได้จำนวน 626 ราย (ร้อยละ 100.97 ของเป้าหมายที่กำหนด จำนวน 620 ราย) และจากการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2565 เพื่อศึกษากลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มทอผ้าบ้านขี้กา ตำบลแขม อำเภออุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า กลุ่มทอผ้าบ้านขี้กาได้รวมกลุ่มกันอย่างชัดเจน ในช่วงปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 30 ราย มี นางเมธาวี พวงท้าว เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งช่วงแรกการทอผ้าจะเป็นแบบดั้งเดิม ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อมาศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิต โดยการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
ผลจากการสนับสนุนการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิกกลุ่ม ในปีงบประมาณ 2564 กลุ่มทอผ้าบ้านขี้กา สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับปรุงและพัฒนาวิธีการฟอกย้อมสีเคมี/สีธรรมชาติได้อย่างถูกวิธี สามารถพัฒนาลายของผ้าไหมให้มีลวดลายสวยงามมากยิ่งขึ้น เช่น ผ้าไหมมัดหมี่สีมะดัน ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดศรีสะเกษ ผ้าไหมมัดหมี่เฉลียงลายดอกไม้ ผ้ามัดหมี่ลายแมงมุม ปัจจุบัน มีสมาชิก 2 ราย ได้ใบรับรองมาตรฐานการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานเรียบร้อยแล้ว ส่วนเกษตรกรสมาชิกรายอื่นๆ สามารถจำหน่ายผ้าไหมได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นผืนละประมาณ 1,500-2,000 บาท (จากเดิมราคาผืนละ 1,200-1,300 บาท) ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผ้าไหมเฉลี่ยรายละ 34,400 บาท/ปี
ทั้งนี้ ราคามีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลวดลาย และวิธีการทอผ้าไหม ด้านการตลาด นอกจากจะจำหน่ายภายในหมู่บ้าน ยังมีการขยายช่องทางการตลาดในรูปแบบออนไลน์ เช่น Line และ Facebook ของสมาชิกเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันถือว่าได้รับความนิยม มีการสั่งจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคต มีแผนพัฒนาสู่การเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หรือสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นอีกทั้งผู้ใช้หรือผู้ซื้อผ้าไหม ยังมั่นใจในคุณภาพจากการรับรองมาตรฐานผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมของไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในอนาคต