กศน.ตำบลหนองระเวียง โคราช ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยมภาคอีสาน

“ครูอยากให้เธอเป็นคนดี เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นลูกน้องที่ดีของบริษัท เป็นประชากรที่มีคุณภาพ ที่อยู่ในสังคม ชุมชนที่ดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน นี่คือการศึกษา      มันไม่ใช่เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว แค่นั้น…ครูก็ภูมิใจแล้ว” ปณิธานในการทำงาน ของ   ครูสิริพร จันทร์ศิริ ครู กศน.ตำบลหนองระเวียง เจ้าของรางวัล กศน.ตำบลต้นแบบ 5 ดี  พรีเมี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี2564

“หนองระเวียง” รับรางวัล กศน.ต้นแบบ 5 ดีพรีเมี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ตำบลหนองระเวียง

ตำบลหนองระเวียง ตั้งอยู่ชานเมืองทิศตะวันออกของจังหวัดนครราชสีมา ชุมชนแห่งนี้ยังมีกลิ่นอายความเป็นเมืองชนบท เป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด ประชาชนในพื้นที่ปลูกแตง ปลูกถั่วฝักยาว ฯลฯ นำผลผลิตที่ได้ส่งขายในตัวเมือง คือ ตลาดกลางสุรนคร ทำให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่าย

พื้นที่บางส่วนใช้ปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ส่งขายโรงงานเพื่อการแปรรูป ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมสุรนารี เป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน  กศน.ตำบลหนองระเวียง เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองหลวงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

สำนักงาน กศน.จังหวัดขอนแก่น เยี่ยมชมผลงาน

 

กศน.ตำบลหนองระเวียง

ปัจจุบัน กศน.ตำบลหนองระเวียง ตั้งอยู่เลขที่ 54 หมู่ที่ 6 บ้านทับช้าง ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การบริหารงานของ นางอิสราภรณ์ กิ่งกลาง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา  บุคลากร กศน.ตำบลหนองระเวียง ได้แก่  ครูสิริพร จันทร์ศิริ และ นางสาวอลิสา คำแก่นแก้ว ครูศูนย์การเรียนชุมชนตำบลหนองระเวียง 

 

ศูนย์การเรียนรู้

กศน.ตำบลหนองระเวียง ได้ดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ กศน.ต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม ดังนี้ ด้านที่ 1. ครูดีมีสมรรถะในการจัดการเรียนการสอนในระดับต่างๆ (Good Teacher) กศน.ตำบลหนองระเวียง ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร และจัดทำแผนโครงการต่างๆ และการรายงานผลในระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ สำนักงาน กศน. (DMIS) จัดทำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลิงค์เว็บไซต์ กศน.ตำบลหนองระเวียง เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ

ภายในศูนย์ กศน.ตำบลหนองระเวียง มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และระบบอินเตอร์เน็ตให้บริการนักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีสื่อนวัตกรรมต่างๆ เป็นการยกระดับ กศน.ตำบล ให้เป็นสื่อศูนย์การเรียนรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้เรียน และผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ

ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์ มอบรางวัลต้นแบบ 5 ดี พรีเมี่ยม แก่ กศน.ตำบลหนองระเวียง

ทุกวันนี้ กศน.ตำบลหนองระเวียง ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เป็นศูนย์กลางการส่งเสริมจัดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นศูนย์ประสานงานเรื่องการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายในชุมชน ดำเนินงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตําบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างการเรียนรู้และเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บูรณาการร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน บริหารข้อมูลที่จำเป็นสำหรับ กศน. และชุมชนเพื่อให้มีความรู้ – รับรู้ให้เท่าทัน ปรับตัวให้เข้ากับโลกดิจิตอล

ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ กศน.ตำบลหนองระเวียง โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย ให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษา โดยยึดชุมชนเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน ซึ่งกศน.ตำบลหนองระเวียง มีบทบาทเป็นผู้ประสานงาน และอำนวยความสะดวก

นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการ กศน. เยี่ยมชมผลงานนักศึกษา

 

สภาพแวดล้อม เอื้อต่อการเรียนรู้

ด้านที่ 2 สภาพแวดล้อมทางกายภาพของ กศน.ตำบล ดึงดูดความสนใจและเอื้อต่อการเรียนรู้ (Good Place Best-Check in) ซึ่งกศน.ตำบลหนองระเวียง มีอาคารสถานที่ที่มั่นคง เป็นสัดส่วน และปลอดภัย พร้อมปรับปรุงสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อดึงดูดความสนใจต่อผู้เรียนและผู้ใช้บริการ โดยยึดหลัก 5 ส.

ภายในอาคาร มีการแบ่งพื้นที่ตามความต้องการของผู้เรียนและผู้ที่สนใจ มีการจัดทำข้อมูลข่าวสารและข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนและประชาชนทราบอย่างทั่วถึง มีมุมเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างสะดวก มีฐานการเรียนรู้ 6 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน ฐานการเรียนรู้เห็ดโอ่ง ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมัก ฐานการเรียนรู้การทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฐานการเรียนรู้ปลูกพืชแบบน้ำหยด ฐานการเรียนรู้ปลูกพืชแบบประหยัดพื้นที่

 

กระบวนการเรียนรู้ดี

ฐานเรียนรู้ ปลูกพืชน้ำหยด

ด้านที่ 3 กิจกรรมการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการศึกษาต่อเนื่อง หรือการศึกษาตามอัธยาศัยมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการให้บริการ (Good Activities) โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตามปรัชญาคิดเป็น ผู้เรียนสำคัญที่สุด โดยครูเป็นเพียงผู้จัดโอกาส กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการในการเรียนรู้จากข้อมูลจริง ตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้

กศน.ตำบลหนองระเวียง เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวได้มีการออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปัญหาของชุมชนและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม โดยคำนึงถึงต้นน้ำ (สื่อนวัตกรรม) กลางน้ำ (กระบวนการเรียนรู้) ปลายน้ำ (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน) โดยนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ตามสาระการเรียนรู้ในด้านต่างๆ อันได้แก่ การออกแบบคิดค้นนวัตกรรม เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับปัญหาของชุมชน มีการเชื่อมโยงความรู้กับผู้นำท้องถิ่น วิทยากร และสถานที่ เชิญครูภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นวิทยากรให้แก่ผู้เรียน

กศน.ตำบลหนองระเวียง มีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายที่ให้ผลเชิงประจักษ์ เข้ากับความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย แบ่งกระบวนการเรียนรู้เป็น   3 ด้าน ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ยึดหลักปรัชญาคิดเป็น มาใช้จัดการศึกษา อยู่บนพื้นฐานที่ว่าความต้องการแต่ละบุคคล ไม่เหมือนกัน

กศน.ตำบลหนองระเวียง ได้ใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อความเหมาะสมของผู้เรียน นำเสนอเทคโนโลยีมาใช้จัดกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 5 กลุ่มการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1. การจัดการเรียนการสอนตามปกติ (ON-SITE) นั่งในห้องเรียน 2. แบบ ON-AIR เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบทางเดียว ผ่านระบบสื่อสาร โดยส่งสัญญาณครูผู้สอนต้นทางที่โรงเรียน ขณะที่นักศึกษาเรียนอยู่ที่บ้าน

สำนักงาน กศน.จังหวัดชัยภูมิ ศึกษาดูงานเศรษฐกิจพอเพียง
  1. การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (On-line) เป็นการศึกษาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความชอบของตนเอง 4. การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On demand โดยใช้บทเรียนสําเร็จรูป และ 5. การจัดการเรียนการสอนรูปแบบ ON-HAND คือ ครูผู้สอนเดินทางไปแจกเอกสารใบงานให้กับนักเรียนที่บ้าน

กศน.ตำบลหนองระเวียง จัดการศึกษาต่อเนื่องโดยสำรวจความต้องการและปัญหาในพื้นที่ มีหลักสูตรพัฒนาตัวเองเพื่อการทำงาน และการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขปัญหา การศึกษาต่อเนื่อง เป็นการศึกษาที่บุคคลภายนอกสามารถลงทะเบียนในหลักสูตรต่างๆ ที่กศน.มีอยู่ ส่วนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาตามสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุน สื่อและแหล่งความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ได้รับการสนับสนุนในการเรียนรู้ จากห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ด้านการอ่านและการจัดกิจกรรมต่างๆ

 

ภาคีเครือข่ายดี

ด้านที่ 4. ภาคีเครือข่ายดี (Good Partnership) ร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมบริการในเขตพื้นที่ตำบลหนองระเวียง โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากร อนุเคราะห์สถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงการจัดทำเอ็มโอยู ระหว่าง กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา กับ อบต.หนองระเวียง ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

นวัตกรรมดี

ด้านที่ 5 กิจกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริง (Good Innovation) กศน.ตำบลหนองระเวียง ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด เพื่อสามารถใช้งานได้จริงในการให้บริการแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถพัฒนาตัวเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งต่อยอดพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม

ฐานเรียนรู้ ปลูกพืชประหยัดพื้นที่

ปัจจุบัน กศน.ตำบลหนองระเวียงแห่งนี้มีจุดเด่นในเรื่องสื่อนวัตกรรม 3 ประเภท ได้แก่ 1. สื่ออนาล็อก เป็นสื่อทำมือ สื่ออ่านธรรมดา 2. สื่อดิจิตอล เพิ่มคิวอาร์โค๊ด เพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ผสมกับสื่ออนาล็อกกับดิจิตอลเข้ามา กลายเป็นสื่อตัวที่ 3 คือ Hybrid-Learning ซึ่งเป็นสื่อนวัตกรรมที่หลากหลายของกศน.ตำบลแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังมีสื่อออนไลน์ ที่ใช้ระบบซูม หรือกลุ่มไลน์ ในการสื่อสารกับนักศึกษาที่ไม่ได้มาพบกลุ่ม เป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กศน.ตำบลหนองระเวียง สื่อสารให้นักศึกษาเข้ามาเป็นกลุ่มรับงานไปทำ มีการทำงาน แบ่งงาน ตรวจสอบการทำงานผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีเพจของ กศน.ตำบลหนองระเวียง ให้นักศึกษาเข้าไปค้นคว้าความรู้ และมีเว็บไซต์ของ กศน.รวมทั้ง ใช้งาน Google Sites โดยทำแพลตฟอร์ม ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าไปค้นคว้าข้อมูลได้ ส่วนกลุ่มผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารดังกล่าว ทางกศน.ตำบลก็มีสื่อป๊อปอัพ ให้ไปอ่านเล่น ส่วนกลุ่มผู้พิการที่ไม่สะดวกในการเดินทาง ทาง กศน.ตำบลก็นำสื่อป๊อปอัพไปใช้ศึกษาที่บ้านได้ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา นักศึกษาก็เข้ามาพบกลุ่มได้มากขึ้น เข้าสอบมากขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น เพราะนักศึกษาให้ความร่วมมือ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็มากขึ้นตามไปด้วย กศน.ตำบลหนองระเวียง มุ่งบริการความรู้สู่มาตรฐาน ประสานเครือข่าย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประชาชน

ฐานเรียนรู้ เลี้ยงไส้เดือนเพิ่มอาชีพ

กศน.ตำบลหนองระเวียง ในสังกัด กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา สำนักงาน กศน.จังหวัดนครราชสีมา ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการทำงานจัดการศึกษาดูแลช่วยเหลือประชาชนและชุมชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และต่อเนื่อง เหมาะสมกับรางวัลชนะเลิศ กศน.ต้นแบบ 5 ดีพรีเมี่ยมระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างแท้จริง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กศน.ตำบลหนองระเวียง กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา สำนักงาน กศน.จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงศึกษาธิการ