ทีมวิจัย ม.อ.สงขลา หนุนคนเลี้ยงแพะ มุ่งเป้าหมุนเศรษฐกิจ 900 ล้าน

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำงานด้านการวิจัยการเลี้ยงแพะแบบครบวงจร โดยทีมคณะทำการวิจัยร่วมกันหลายสาขาวิชา ในการสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในชื่อ “แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ปี พ.ศ. 2563-2565” เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงแพะให้แก่เกษตรกรภาคใต้ และบุกเบิกเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะรายใหม่ขยายไปทั่วประเทศ ตามมาตรฐาน (ฮาลาล) GMP HALAL เพื่อการส่งออกแพะจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หมุนเศรษฐกิจ 900 ล้านบาท ตามเป้าหมาย 

ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัย อุ้มโชว์แพะสายพันธุ์ “ทรัพย์-ม.อ.1”

ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้อำนวยการชุดดูแลโครงการงานวิจัยการเลี้ยงแพะ ได้ให้ข้อมูลหลังพาคณะเจ้าหน้าที่ วช. และสื่อมวลชน ตรวจดูงานในพื้นที่ฟาร์มตัวอย่างการเลี้ยงแพะ และเยี่ยมชมโรงปฏิบัติการผลิตแพะมาตรฐานฮาลาล (โรงเชือด) รวมถึงโครงการวิจัยของคณะวิชาอื่นๆ ในการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งมี 7 คณะโครงการวิจัย

ผศ.ดร.พิไลวรรณ ประพฤติ แสดงวิสัยทัศน์แถลงชุดโครงการวิจัยการตลาดและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้

โดย ผศ.ดร.ไชยวรรณ ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัย ให้ข้อมูลว่า แพะนับเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกของเกษตรกร และเป็นส่วนหนึ่งในศาสนาและวัฒนธรรมของคนภาคใต้ แต่ปัจจุบันการบริโภคผลิตภัณฑ์แพะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามอีกต่อไปแล้ว หลายพื้นที่เปิดรับและต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะจำนวนมากขึ้น

ฉะนั้น ชุดโครงการคณะทำงานวิจัยของเราจึงตอบโจทย์ปัญหาอุตสาหกรรมแพะที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือแพะที่เลี้ยงอยู่ ณ ขณะนี้ มีจำนวนไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งยังขาดการรับรองคุณภาพ เนื่องจากเกษตรกรยังคงเลี้ยงแบบวิถีดั้งเดิม ด้านการตลาดก็ยังไม่พร้อม และเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่สามารถประยุกต์วิธีการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน รวมถึงการเผชิญกับโรคที่ติดต่อจากแพะมาสู่คนคือ โรคเมลิออยโดสิส และที่สำคัญคือ การขาดพันธุ์แพะพื้นฐานที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงและขยายพันธุ์แพะ ไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์แพะเนื้อและแพะนมให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น

อาจารย์สันติ หมัดหมัน ผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรภาคใต้ กำลังอุ้มแพะ “ทรัพย์-ม.อ.1”

สำหรับชุดคณะทำงานโครงการวิจัยแบบบูรณาการร่วมกัน ภายใต้แผน 7 คณะโครงการวิจัยมีดังนี้

การสำรวจการตลาดห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมแพะ

1. ชุดโครงการวิจัย การสำรวจศักยภาพทางการตลาดและการจัดการห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแพะในภาคใต้ โดยผู้รับผิดชอบงานวิจัยโครงการด้านนี้คือ ผศ.ดร.พิไลวรรณ ประพฤติ จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ (ม.อ.) ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจเก็บข้อมูลกลุ่มผู้บริโภคเนื้อแพะ ใน 14 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ ที่ตั้งใจจะบริโภคเนื้อแพะ จำนวน 828 ราย จากการสำรวจ 1,000 ราย และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน เรียกว่าจำนวนแพะมีไม่เพียงพอต่อการผลิตแพะ และที่สำคัญมีการเคลื่อนย้ายแพะในภูมิภาคข้ามจังหวัดนอกพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สำหรับแพะเล็ก ส่วนแพะใหญ่ ขนาดน้ำหนัก 25-40 กิโลกรัม สำหรับแพะเนื้อเป็นความต้องการอย่างสูงของเวียดนามเพื่อที่จะส่งต่อไปจีน และส่วนใหญ่กลุ่มผู้บริโภคไม่เกี่ยงราคาที่จะซื้อผลิตภัณฑ์แพะ

Advertisement

และในชุดสำรวจยังพบอีกว่า จังหวัดกระบี่ เป็นตัวอย่างในการส่งออกผลิตภัณฑ์แพะไปยังตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยนิดมากกับจำนวนประชากรแพะที่มีอยู่ในประเทศ

การวิจัยการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะ

Advertisement

2. โครงการวิจัย การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรภาคใต้ ผู้รับผิดชอบงานวิจัยโดย อาจารย์สันติ หมัดหมัน จากคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ให้ข้อมูลว่า ความต้องการบริโภคผลผลิตจากแพะนมภายในประเทศและทั่วโลกเพิ่มขึ้น ฉะนั้น บทบาทการเลี้ยงแพะนมในภาคใต้จึงสำคัญต่อความมั่นคงทางอาชีพ เพราะไม่ใช่เพียงการเลี้ยงเพื่อตอบโจทย์ทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่เป็นการผลิตน้ำนมแพะคุณภาพดีให้แก่ผู้บริโภคที่สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยง

ในขณะเดียวกัน การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแพะนมยังมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาวิจัยในสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจะช่วยเพิ่มโอกาสของเกษตรกรที่เลี้ยงแพะอยู่แล้วและเกษตรกรรายใหม่ ให้ได้ศึกษาและพัฒนาศักยภาพการเลี้ยงแพะนมและการผลิตน้ำนมแพะ

รศ.ดร.วันวิศาข์ งามผ่องใส โชว์ผลิตภัณฑ์อาหารพืช แพะเนื้อ และแพะนม ที่ผ่านการวิจัยศึกษาคุณค่าทางโภชนะของเปลือกหุ้มเมล็ดตาล เมล็ดทุเรียน และทางใบปาล์มน้ำมันหมัก ที่โรงเลี้ยงแพะในโครงการวิจัย

อาจารย์สันติ ให้ข้อมูลอีกว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะนมในภาคใต้ 95 เปอร์เซ็นต์ ล้วนเป็นชายที่นับถือศาสนาอิสลาม และแพะนมที่เลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมซาแนน โดยใช้อาหารหยาบและอาหารข้น และอาหารหยาบสด ได้แก่ หญ้าเนเปียร์ หญ้าหวาน หญ้าขน และแปลงหญ้าธรรมชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีอาหารหยาบหมัก ได้แก่ ทางใบปาล์มน้ำมันหมัก ข้าวโพดหมัก และหญ้าเนเปียร์หมัก ส่วนอาหารหยาบแห้ง ได้แก่ ฟางข้าวและหญ้า มีการเลี้ยงแบบ 2 ระบบ คือ การเลี้ยงแบบปล่อยแปลง และการเลี้ยงแบบยืนโรง ส่วนการรีดนมมีทั้งรีดด้วยมือและใช้เครื่องรีดนม

ดร.พิชญานิภา พงษ์พานิช (กลาง) กำลังอธิบายผลการวิจัยการค้นหา และจีโนไทป์ หรือ เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะและปรับปรุงพันธุกรรมของแพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.1” ร่วมกับเจ้าหน้าที่หัวหน้าคณะโครงการวิจัย

จากผลการศึกษาปีที่ 1 ที่ผ่านมา และนำไปสู่การทดลองศึกษาในปีที่ 2 เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมของการเลี้ยงแพะนมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างโดยการศึกษารูปแบบการเลี้ยงต่อองค์ประกอบทางเคมีและคุณภาพน้ำนมแพะของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างต่อไป

การศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนะอาหารแพะเนื้อและแพะนม

3. โครงการวิจัย การศึกษาคุณค่าทางโภชนะของเปลือกหุ้มเมล็ดตาล เมล็ดทุเรียน และทางใบปาล์มน้ำมันหมัก เพื่อใช้เป็นอาหารแพะเนื้อและแพะนม ผู้ดูแลงานวิจัยคือ รศ.ดร.วันวิศาข์ งามผ่องใส ให้ข้อมูลว่า ภาคใต้มีการเลี้ยงแพะและการบริโภคผลผลิตจากแพะมากที่สุดในประเทศ ประกอบกับมีการขยายของกลุ่มผู้บริโภคจากความเชื่อว่าผลผลิตจากแพะเนื้อและแพะน้ำนมมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่สุดในการผลิตแพะเนื้อและแพะนมของภาคใต้คือ ปริมาณพืชอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ อีกทั้งต้นทุนค่าอาหารสัตว์สำเร็จรูปมีราคาแพง จึงส่งผลกระทบต่อการเพิ่มจำนวนของประชากรแพะเนื้อและแพะนมในพื้นที่ภาคใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผศ.น.สพ.ดร.สฤษฎิ์วิชญ์ ปัญญาบริบาลบ์ (ขวา) และ ผศ.สพ.ญ.ดร.มานิตา วิทยารัตน์ (ซ้าย) อุ้มแพะในโรงเลี้ยงโครงการวิจัย การเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมน

จึงทำการสำรวจเปลือกหุ้มเมล็ดตาล ลูกตาลสด อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากลูกตาล รวมถึงเมล็ดทุเรียนจากโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูปทุเรียนในภาคใต้ เพื่อมาพัฒนาใช้เป็นอาหารแพะร่วมกับทางใบปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเก็บเกี่ยวทลายปาล์มน้ำมัน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบและแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ในการเลี้ยงแพะ เนื่องจากพืชเหล่านี้ได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อและการผลิตน้ำนมแพะที่มีคุณภาพ

การวิจัยค้นหา จีโนไทป์ หรือการจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์และปรับปรุงพันธุกรรมแพะ

4. โครงการวิจัย การค้นหา และจีโนไทป์ หรือเครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี เพื่อจำแนกอัตลักษณ์พันธุ์จำเพาะและปรับปรุงพันธุกรรมของแพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์ ม.อ.1” โดยผู้ทำงานวิจัยด้านนี้คือ ดร.พิชญานิภา พงษ์พานิช อาจารย์สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ ให้ข้อมูลว่า แพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์-ม.อ.1” และแพะพื้นเมืองภาคใต้ ร่วมถึงแพะพันธุ์แองโกลนูเบียน ได้ทำการตรวจหาเครื่องหมายดีเอ็นเอที่สามารถใช้ในการบ่งชี้แพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์-ม.อ.1” ในการจำแนกพันธุกรรมพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์แพะดังกล่าว

ผศ.ดร.วรรณรัตน์ แซ่ซั่น (หน้าซ้าย) หัวหน้าโครงการ การวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์ ป้องกันโรคเมลิออยโดสิสในแพะมาสู่คน

ส่วนการดำเนินงานวิจัย แพะที่ใช้ในการศึกษา เป็น แพะเนื้อพันธุ์ “ทรัพย์-ม.อ.1” (GPSU) แพะพื้นเมืองภาคใต้ (GNT) แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (GAG) และแพะลูกผสมแองโกลนูเบียน (GSM) ในจำนวน 100 ตัว โดยทำการเจาะเก็บเลือดบริเวณ Jugular vein แล้วนำมาสกัด Genomic DNA และนำไปส่งวิเคราะห์ Genotyping by Sequencing จากนั้นนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จัดกลุ่มด้วยวิธี principal component analysis และสร้างแผนภูมิความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างพันธุ์แพะทั้ง 4 กลุ่ม ที่กล่าวข้างต้น แล้วติดรหัสพันธุกรรม สายพันธุ์นั้นๆ

การวิจัยในการเพาะขยายพันธุ์/สืบพันธุ์แพะ ด้วยโปรแกรมฮอร์โมน   

5. โครงการวิจัย การเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมน ผู้รับผิดชอบงานวิจัยด้านนี้คือ ผศ.น.สพ.ดร.สฤษฎิ์วิชญ์ ปัญญาบริบาลบ์ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.อ. ให้ข้อมูลว่า ปัญหาของโครงการวิจัย การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางระบบสืบพันธุ์ (Reproductive biotechnilogy) ในแพะ เช่น การผสมเทียม (Artifcial insemination) การกระตุ้นการตกไข่ซ้ำ (Superovulation) และการย้ายฝากตัวอ่อน (Embryo transfer) ในโปรแกรมคัดเลือกพันธุ์จะช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพันธุ์ การขนส่งพันธุ์ ลดความเครียดของสัตว์ และความคงตัวของพันธุกรรมในฝูงสัตว์ได้ รวมทั้งป้องกันโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้ด้วย แต่พบว่าการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มีข้อจำกัดบางประการ ได้แก่ อัตราการประสบความสำเร็จในการตั้งท้องที่ต่ำ รวมทั้งการลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สูงว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ จึงทำให้โครงการวิจัยมีความสนใจในการหาแนวทางและใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาการสืบพันธุ์ในการลดข้อจำกัดดังกล่าว และเพิ่มประสิทธิภาพทางระบบสืบพันธุ์ของแพะ เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตจำนวนแพะให้มีปริมาณสูงขึ้น กว่าอัตราที่เป็นอยู่

ส่วนการทำโครงการวิจัย ที่ผ่านมามีผลในทางปฏิบัติแล้วว่า สามารถเพิ่มจำนวนประชากรแพะได้มากขึ้น 2 เท่าตัว ได้แก่ การรีดน้ำเชื้อด้วยเทคนิค AV, การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ, ผลประสิทธิภาพของ CRE-SD ต่อการเพิ่มคุณภาพของน้ำเชื้อแช่เย็นในแพะ, การตรวจเช็กการเป็นสัดในแพะ, การให้โปรแกรมฮอร์โมน, การเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน, การตรวจรังไข่และการตั้งท้องด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ และรวมไปถึงแผนการย้ายฝากตัวอ่อนในการทดลองถัดไป

การตรวจวิเคราะห์ โรคเมลิออยโดสิสในแพะ

โครงการการวิจัยและพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์ โรคเมลิออยโดสิสในแพะ ผู้รับผิดชอบงานวิจัยด้านนี้คือ ผศ.ดร.วรรณรัตน์ แซ่ซั่น อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า เชื้อเมลิออยด์ หรือโรคเมลิออยโดสิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบชื่อ Burkholderia pseudomallei เชื้อนี้สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในดิน น้ำ และแทรกตัวอยู่กับพืชที่ใช้เป็นอาหารให้กับแพะ ถ้าหากแพะติดโรคนี้ก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยแพะจะมีอาการป่วย อวัยวะภายในเกิดฝี หนอง และเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ หากเกษตรกรหรือแพะตัวอื่นในฝูงสัมผัสกับหนองหรือสิ่งคัดหลั่งจากแพะที่เป็นโรค ก็จะก่อให้เกิดการติดโรคเมลิออยโดสิส จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าตรวจและรักษาไม่ทันเวลา ฉะนั้น การค้นหาแพะที่มีการติดเชื้อเมลิออยโดสิสอยู่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โครงการวิจัยนี้จึงพัฒนารูปแบบการตรวจวิเคราะห์โรคเมลิออยโดสิสในแพะ เพื่อให้มีความถูกต้อง แม่นยำสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

อาจารย์ ดร.ปิตุนาถ หนูเสน (กลาง) กับโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

วิธีการดำเนินการวิจัย และผลการดำเนินการ สามารถแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานได้เป็น 3 ส่วน คือ

1. พัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเมลิออยโดสิส ในแพะด้วยวิธี IHA (indirect hemagglutination assay) จากการเตรียมเชื้อ B.Pseudomallei สายพันธุ์ต่างๆ เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการทดสอบกับตัวอย่างซีรัมแพะด้วยวิธี IHA ต่อไป

2. พัฒนาชุดการตรวจหา antigen ต่อเชื้อ B.Pseudomallei ด้วยวิธี lateral flow immunoassays หรือ วิธี agglutination test โดยได้ทำการคัดเลือกยีนทั้งหมด 5 ยีน และทำการฉีดกระตุ้นหนูทดลอง เพื่อพัฒนาชุดทดสอบที่มีความจำเพาะ แม่นยำใช้ง่าย และรวดเร็วในระหว่างการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน (acute infection) แพะ

3. พัฒนาชุดการตรวจวินิจฉัยเชื้อด้วยเทคนิค real-time polymerase chain reaction (RT-PCR) จากตัวอย่างปัสสาวะหรือเลือดของแพะ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบตัวอย่างปัสสาวะและเลือดของแพะ

4. เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของแพะเพื่อวิเคราะห์ด้วยชุดตรวจที่ได้พัฒนาขึ้นจากศูนย์แพะแกะ จังหวัดยะลา และศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานด้านสัตว์เศรษฐกิจ วช. แถลงสรุปในที่ประชุมแผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ปี พ.ศ. 2563-2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากว่า 900 ล้านบาท

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับและการนำไปใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย

1. กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะสามารถเฝ้าระวังโรคและป้องกันโรคเมลิออยโดสิสได้ด้วยตนเอง และเกิดระบบความร่วมมือแบ่งปันข้อมูลของโรคร่วมกันกับหน่วยงาน มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ และกระทรวงสาธารณสุข

2. เกิดชุดตรวจสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพสามารถต่อยอดไปสู่การค้า เพื่อสร้างรายได้ให้แก่หน่วยงานและประเทศได้ และเกิดการศึกษาที่อาจนำไปสู่การจดสิทธิบัตร

โรงแปรรูปนำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะ

7. โครงการวิจัย การพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะมาตรฐาน GMP และศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ผู้รับผิดชอบงานวิจัย คือ อาจารย์ ดร.ปิตุนาถ หนูเสน ฟาร์มปฏิบัติการสัตวศาสตร์ สาขานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.

เจ้าหน้าที่ผู้แทนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช. ถ่ายภาพร่วมกับหัวหน้าคณะโครงการวิจัย ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ม.อ.

นับว่าเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบโรงแปรรูปน้ำนมแพะที่ได้มาตรฐาน GMP ที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากงานวิจัยในการศึกษากระบวนการผลิตน้ำนมแพะต่อคุณภาพและระยะเวลาในการเก็บรักษาน้ำนมแพะที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ในพื้นที่ภาคใต้ และยังจัดให้เป็นศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย ตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตอาหาร (น้ำนมแพะ) ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้

แม่พันธุ์ต้นแบบ “ทรัพย์-ม.อ.1” อายุ 1-2 ปี ผสมมาจากสายพันธุ์ดั้งเดิม แองโกลนูเบี้ยน กับ พื้นเมืองภาคใต้

โดยผลสรุปจากการดำเนินงาน มีดังต่อไปนี้

ในส่วนของการตรวจคุณภาพ เริ่มจากนำน้ำนมแพะดิบมาพาสเจอไรซ์ด้วยวิธีอย่างง่ายๆ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะนมในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะ โดยวิเคราะห์ทางกายภาพ เคมี จุลินทรีย์ เพื่อให้ได้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องน้ำนมแพะดิบ ตามเกณฑ์มาตรฐาน GMP โดยผ่านกระบวนการผลิต ดังนี้

– การเก็บรักษาน้ำนมแพะ

– กรรมวิธีการผลิตและการฆ่าเชื้อ

– การบรรจุและเก็บรักษา ตามข้อกำหนด GMP นมพร้อมดื่ม ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังกล่าว

สำหรับโรงแปรรูป หรือศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ณ ที่แห่งนี้ ที่สาขานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้สามารถนำน้ำนมแพะดิบมาตรวจมาตรฐานคุณภาพได้ฟรี เนื่องจากได้รับทุนวิจัยจากทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช.

อาจารย์สฤษฎิ์วิชญ์ ปัญญาบริบาลบ์ และ อาจารย์มานิตา วิทยารัตน์ กับฝูงแม่แพะและลูกๆ ที่อยู่รายล้อมด้านหลัง กับการใช้โปรแกรมฮอร์โมน ทดลองเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์และเพาะขยายพันธุ์แพะ

สำหรับ “แผนงานโครงการวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ปี พ.ศ. 2563-2565” รศ.ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์ ประธานคณะทำงานด้านสัตว์เศรษฐกิจ วช. ได้เปิดห้องประชุมแถลงสรุปภาพรวมในโครงการวิจัยชุดนี้ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยรัฐบาลได้ชี้ให้เห็นสัตว์เศรษฐกิจ 5 ชนิด ที่สำคัญคือ ปูม้า จิ้งหรีด ปลาสวยงาม ไก่พื้นเมืองลูกผสม และการเลี้ยงแพะ

ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ และ ดร.พิชญานิภา พงษ์พานิช พาชมห้องปฏิบัติการโรงเชือดที่ได้มาตรฐานฮาลาล

และโครงการวิจัย พัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะ โดย วช. ได้รับภารกิจเพื่อส่งเสริมและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะในการเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดการเลี้ยงแพะให้มีมากขึ้น ซึ่งอยู่ในแผนงานวิจัย พัฒนา และขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ โดยการดำเนินงานของ ม.อ. ซึ่งได้ดำเนินงานบูรณาการร่วมกันมาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือเป้าหมายในการผลิตเชิงเศรษฐกิจ และขยายประชากรแพะให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 400,000 ตัว คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของภาคใต้ และเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะส่วนใหญ่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ภาคใต้ ถ้าเราสามารถขยายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้ตามเป้ากว่า 5,000 ราย กระจายไปทั่วประเทศก็จะสามารถสร้างเศรษฐกิจการซื้อขายแพะโดยภาพรวมกว่า 900 ล้านบาท เลยทีเดียว

ลูกแพะต้นแบบสายพันธุ์แท้ที่เกิดจากแม่พันธุ์ “ทรัพย์-ม.อ.1”

เกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการเลี้ยงแพะ ทั้งรายเก่ารายใหม่ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ติดต่อได้ที่ อาจารย์ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ ผู้ดูแลโครงการได้โดยตรงที่โทร. 089-876-0350 หรือติดต่อสำนักงาน โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ม.อ. โทร. 074-802-655

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565